สตง.ชี้แท็บเล็ตยุค"ปู"ปัญหาเพียบ!เตือนระบบชาร์ตไฟร.ร.เสี่ยงทำเครื่องระเบิด
สตง.สรุปรายงานผลสอบแท็บเล็ต 2,000 ล้าน ยุค รบ.ยิ่งลักษณ์ ตรวจพบปัญหาเพียบ "แจกล่าช้า-ใช้ไม่คุ้มค่า-ประกันแย่" ชี้ระบบชาร์ตไฟโดยใช้อุปกรณ์ที่โรงเรียนทำขึ้น น่าห่วงปัญหาไฟดูด เครื่องเกิดความร้อนมาก ร้ายแรงถึงขั้นระเบิด
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปผลการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2555 เป็นปีแรก โดยเริ่มทดลองนำร่องแจกคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 847,548 คน ซึ่งในปีงบประมาณ.2555 โครงการใช้งบประมาณในการจัดซื้อแท็บเล็ตไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2556 มีข้อเท็จจริงว่ามีการจัดซื้อแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 อีกทั้งยังต้องดำเนินโครงการนี้ต่อไปอีก
โดยผลการตรวจสอบพบปัญหาในขั้นตอนดำเนินการหลายประเด็น อาทิ การจัดสรรแท็บเล็ตให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ล่าช้า และยังไม่ครบถ้วน โรงเรียนยังไม่สามารถนำแท็บเล็ตมาใช้เป็นสื่อในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างครบถ้วนตามที่กำหนดในคู่มือฯ ปัญหาการรับประกันแท็บเล็ต พร้อมเสนอแนะให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบกลับไปทบทวนแนวทางการดำเนินงานโครงการ
โดยการจัดสรรแท็บเล็ตให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ล่าช้า สตง.ระบุว่า ทำให้การดำเนินโครงการไม่บรรลุผลสำเร็จตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่1 ทุกคน มีแท็บเล็ตใช้ตั้งแต่เริ่มเปิดภาคเรียนที่ 1 ในปีการศึกษา 2555 และเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เสียโอกาสในการใช้แท็บเล็ตเพื่อเป็นสื่อเสริมสำหรับการเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ ขณะที่การกระจายแท็บเล็ตไปสู่โรงเรียนเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ พบว่าจำนวนแท็บเล็ตที่จัดซื้อโดยภาพรวมเป็นไปตามเป้าหมายแต่ปัญหาการกระจายแท็บเล็ตที่ สพป. ได้รับจัดสรรมีจำนวนไม่ เพียงพอสำหรับการแจกจ่ายไปยังโรงเรียน และ สพป. บางแห่งมีแท็บเล็ตเหลือหลังจากแจกจ่ายให้โรงเรียนแล้ว อาจทำให้การจัดซื้อเกินความต้องการส่งผลต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณโดยไม่ประหยัด
ส่วนประเด็นโรงเรียนยังไม่สามารถนำแท็บเล็ตมาใช้เป็นสื่อในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างครบถ้วนตามที่กำหนดในคู่มือฯ นั้น สตง. ระบุว่า ครูประจำชั้นส่วนใหญ่ใช้สื่อ/Application : App ประเภท Learning System ในการเรียนการสอนไม่ครบทุกกลุ่มเนื้อหาที่กำหนดไว้ โดยกลุ่มเนื้อหาประเภทหนังสือ มีความเหมือนกับหนังสือเรียนที่มีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีการนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนน้อย เพราะใช้หนังสือเรียนที่มีอยู่เดิมจะมีประสิทธิภาพมากกว่า ประกอบกับยังไม่มั่นใจว่าการให้นักเรียนใช้แท็บเล็ตในการอ่านหนังสือซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานจะมีผลกระทบต่อสายตาของนักเรียนหรือไม่ อย่างไร อีกทั้งพบปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ของแท็บเล็ตหมดเร็วหากใช้อ่านหนังสือเรียน ทำให้ไม่สามารถใช้แท็บเล็ตเรียนรู้สื่อ/App อื่น ๆ ได้อีกในแต่ละวัน
ส่วนปัญหาการรับประกันแท็บเล็ต สตง.ตรวจสอบพบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่นำแท็บเล็ตที่ใช้งานไม่ได้ไปส่งซ่อม จากการสุ่มตัวอย่างโรงเรียนจำนวน 80 แห่ง พบว่า โรงเรียน จำนวน 48 แห่ง มีแท็บเล็ตที่ใช้งานไม่ได้ จำนวน 295 เครื่อง และยังไม่นำแท็บเล็ตจำนวนดังกล่าวส่งซ่อมที่ศูนย์ Advice ในจำนวนนี้มีข้อมูลระบุวันที่ใช้งานไม่ได้ รวมจำนวน 208 เครื่อง เมื่อนำมาวิเคราะห์ระยะเวลาตั้งแต่วันที่แท็บเล็ตใช้งานไม่ได้จนถึงวันที่เข้าตรวจสอบ
สตง. ยังระบุด้วยว่า ผู้ขายใช้ระยะเวลาในการซ่อมแท็บเล็ตนานเกินกว่าที่กำหนดไว้ ตามสัญญาระบุให้ผู้ขายจะต้องซ่อมแซมแท็บเล็ตให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 วันทำการ หากไม่สามารถซ่อมภายในระยะเวลาดังกล่าว ผู้ขายจะต้องทำการเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้กับผู้ซื้อ ซึ่งผู้ขายมีเครื่องสำรองร้อยละ1.00 ที่จะสามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ หากการดำเนินการไม่เป็นไปตามสัญญา ทางผู้ซื้อ (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ได้ดำเนินการแจ้งสงวนสิทธิ์ในการหักเงินหลักประกันตามสัญญา เพราะถือว่าไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา โดยบริษัทผู้ขายตามโครงการคือบริษัท เซิ่นเจิ้นสโคป ซายเอ็นทิฟิก ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้รวบรวมจัดเก็บข้อมูลเป็นภาพรวมจากศูนย์ Adviceจำนวน 116 แห่ง ทั่วประเทศที่เป็นผู้บันทึกข้อมูลของแต่ละศูนย์เข้าระบบฐานข้อมูลของบริษัท สโคป(ประเทศไทย) จำกัด เพื่อนำข้อมูลเสนอต่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในฐานะผู้จ้าง
จากการตรวจสอบข้อมูลระยะเวลาในการซ่อมแท็บเล็ต ของบริษัท สโคป (ประเทศไทย)จำกัด ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2555 ถึงเดือนมีนาคม 2556 เปรียบเทียบกับข้อมูลการซ่อมแท็บเล็ตช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ตามเอกสารการบันทึกข้อมูลในระบบการแจ้งซ่อม (OTPCClaim) ของศูนย์ Advice ที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 16 แห่ง ซึ่งได้รับข้อมูล OTPC Claim เพียง 3 แห่ง อีก 13 แห่งปฏิเสธการให้ข้อมูล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานผลการตรวจสอบของ สตง. ยังระบุถึงข้อสังเกตการชาร์ตไฟแท็บเล็ตของโรงเรียนส่วนใหญ่ยังไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดในคู่มือฯ ในด้านความปลอดภัย
โดยระบุว่า จากการสังเกตการณ์การชาร์ตไฟแท็บเล็ตของโรงเรียน พบว่า โรงเรียนบางแห่งมีความพร้อมในการชาร์ตไฟแท็บเล็ต เนื่องจากผู้บริหารโรงเรียนเห็นความสำคัญของการชาร์ตไฟ จึงได้จัดซื้อตู้สำหรับชาร์ตไฟที่มีความปลอดภัย โดยใช้งบประมาณของโรงเรียนเอง นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการชาร์ตไฟแท็บเล็ตโดยเฉพาะ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้จบการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์โดยตรง แต่อาศัยความรู้จากที่เรียนสายอาชีวะมาใช้ ประกอบกับมีความสนใจส่วนตัว โดยมีปัจจัยสำคัญอยู่ที่ผู้บริหารโรงเรียนให้การสนับสนุน แต่จากการสังเกตการณ์การชาร์ตไฟแท็บเล็ตของโรงเรียน พบว่าการชาร์ตไฟแท็บเล็ตของโรงเรียนจำนวนมากถึง 41 แห่ง จากทั้งหมด 80 แห่งที่สุ่มตรวจสอบ หรือคิดเป็นร้อยละ 51.25 ยังไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ เหมาะสม และไม่เป็นไปตามที่กำหนดในคู่มือฯ สรุปได้ 3 กรณี ดังนี้
1) การชาร์ตไฟโดยใช้อุปกรณ์ที่โรงเรียนทำขึ้น ดัดแปลง หรือใช้ปลั๊กต่อพ่วง โดยไม่มีระบบการชาร์ตไฟที่ปลอดภัย ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถชาร์ตไฟแท็บเล็ตจำนวนมาก ๆ ในคราวเดียวกันได้อย่างปลอดภัย หรือโรงเรียนบางแห่งทำที่ชาร์ตไฟไว้ในตู้เหล็กซึ่งไม่มีฉนวนเพื่อป้องกันการเป็นสื่อนำไฟฟ้าอาจเกิดอันตราย ทำให้ไฟดูด หรือไฟช็อตเด็กนักเรียนได้
2) โรงเรียนให้เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นผู้ชาร์ตไฟแท็บเล็ตด้วยตนเอง โดยปราศจากการควบคุมดูแลจากครูประจำชั้น ทำให้เด็กอาจได้รับอันตรายได้ นอกจากนี้ หากให้เด็กชาร์ตไฟด้วยตนเอง อาจทำให้อุปกรณ์ชาร์ตไฟหรือแท็บเล็ตเสียหาย เนื่องจากเด็กยังขาดความรู้ในการชาร์ตไฟ อาจชาร์ตผิดวิธี หรือเสียบผิดช่อง หรืออาจทำให้หัวเสียบชาร์ตหักชำรุดเสียหาย หรือแบตเตอรี่หากชาร์ตไม่ได้ปริมาณเปอร์เซ็นต์ที่กำหนด อาจทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วกว่ากำหนด
3) มีการใช้งานแท็บเล็ตในขณะที่กำลังชาร์ตไฟไปพร้อม ๆ กัน โดยโรงเรียนใช้ปลั๊กต่อพ่วงขึ้นมาวางไว้บนโต๊ะเรียนเพื่อให้เด็กชาร์ตไฟไปด้วยในขณะที่กำลังใช้งาน ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก เนื่องจากในคู่มือฯ การใช้งานได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามมีการใช้งานแท็บเล็ตในขณะที่กำลังทำการชาร์ตไฟ เพราะเครื่องจะเกิดความร้อนมาก จนอาจเกิดการระเบิด และเป็นอันตรายต่อเด็กนักเรียน