เปิดผลศึกษา “บทบาทศาลรธน.” แก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองได้ชั่วคราวเท่านั้น
เมื่อเร็วๆนี้ มีการนำเสนองานวิจัยเรื่อง “บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง” โดย “รศ.พรชัย เทพปัญญา” อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ “ดร.จรัสพงศ์ คลังกรณ์” อัยการอาวุโสและอาจารย์มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น บนเวทีสัมมนา “สถาบันทางการเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตย” จัดโดย สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า
ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นที่สนใจของผู้เข้าร่วมสัมมนาและสื่อมวลชนไม่น้อย โดยบทสรุปผู้บริหารงานวิจัยดังกล่าว ระบุประเด็นสำคัญว่า ที่มาและคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนสำคัญในการวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่ทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในข้อสันนิษฐานได้ว่า จะสามารถสร้างความเป็นกลางในการวินิจฉัยคดี
อย่างไรก็ตาม ในข้อเท็จจริงของความเป็นมนุษย์ที่มีเจตคติความคิดเห็นหรือค่านิยมส่วนบุคคล จึงทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมักจะถูกโยงว่ามีความเกี่ยวข้องทางการเมือง หรือเป็นพวกใดพวกหนึ่งภายใต้ระบบการเมือง เช่น การวินิจฉัยเรื่องการซุกหุ้นของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ศาลรัฐธรรมนูญถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกทักษิณ แต่ในขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกอำมาตย์เมื่อวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักไทยแต่ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือเป็นพวกใดพวกหนึ่งในระบบการเมือง เพราะการวินิจฉัยในแต่ละคดีจะมีเรื่องคุณและโทษของคู่กรณีพิพาทในทางการเมืองของพรรคการเมืองมาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องการยุบพรรคการเมือง การตัดสิทธิทางการเมือง ตลอดจนการถอดถอนนักการเมืองออกจากตำแหน่ง
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและความขัดแย้งทางการเมือง จะเห็นได้ว่าอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะมีหน้าที่หรือบทบาทที่เกี่ยวข้องทางการเมืองและความขัดแย้งทางการเมือง จนมีคำกล่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญคือศาลทางการเมือง มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยข้อขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กร เช่น ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับความชอบด้วยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี
งานวิจัย ยังระบุว่า อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญอีกประการที่สำคัญคือ การควบคุมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ การวินิจฉัยให้ความเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง เช่น คดีคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีกรณีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นพิธีกรรายการ ชิมไป บ่นไป และ ยกโขยง 6 โมงเช้า
ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้วเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ซึ่งบัญญัติห้ามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นลูกจ้างของบุคคลใดเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นไปโดยชอบป้องกันมิให้เกิดการกระทำเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์อันจะก่อให้เกิดสถานการณ์ขาดจริยธรรมซึ่งยากต่อการตัดสินใจ ทำให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์สาธารณะ ผลจากคดีทำให้นายสมัคร สุนทรเวช ต้องหลุดพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
คำวินิจฉัยที่สำคัญอีกคดีหนึ่งคือ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 ที่อัยการสูงสุดขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย และคำวินิฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-20/2551 เรื่องอัยการสูงสุดขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย และพรรคพลังประชาชน
จากกรณียุบพรรคพลังประชาชนทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยปริยาย และหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาจึงทำให้การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งมีนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นแกนนำได้ยุติการชุมนุมประท้องที่สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ
งานวิจัยชี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้บทบัญญัติแห่งอำนาจตามรัฐธรรมนูญแก้ไขข้อขัดแย้งทางการเมือง ทำให้บ้านเมืองกลับมาสู่ความสงบได้ในที่สุด แต่อย่างไรก็ตามแม้ความขัดแย้งทางการเมืองจะยุติลงแต่เป็นการยุติลงเป็นชั่วคราวเท่านั้น ความไม่พอใจของอีกฝ่ายที่ถูกกระทำมีมาตลอดและตั้งคำถามถึงความเป็นกลางทางการเมืองว่าการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญให้ความเป็นธรรมหรือไม่
งานวิจัย ระบุด้วยว่า จากการพิจารณาคำวินิจฉัยจะเห็นได้ถึงข้อขัดแย้งทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์และในเชิงผลประโยชน์ระหว่างคู่กรณีแห่งความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ เช่น กลุ่มนปช. กลุ่มพันธมิตรฯ จากความขัดแย้งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการขาดอุดมการณ์ของพรรคการเมือง การยึดติดในตัวบุคคล และนำไปสู่การไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่ความไม่สามารถในการรักษาดุลยภาพของระบบการเมือง และอาจจะนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารในอนาคต
นอกจากนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือนักวิชาการต่างมีความเห็นว่า ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นศาลทางการเมือง มีหน้าที่คุ้มครองชอบด้วยรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ยุบพรรคการเมือง ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่ง แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยตรง ซึ่งในการทำเช่นนั้นอาจจะทำให้ถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นกลาง เพราะข้อขัดแย้งทางการเมืองมีทั้งผู้ได้รับประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ในขณะเดียวกัน
งานวิจัยยังเห็นว่า บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดเท่านั้น ไม่สามารถทำเกินอำนาจหน้าที่ดังกล่าวได้ ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นศาลทางการเมืองก็ตาม แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปเป็นผู้มีบทบาทหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมืองโดยตรง จะถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นกลางทางการเมือง เพราะในการแก้ไขข้อขัดแย้งทางการเมืองจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีโอกาสละเลยการวินิจฉัยคดีให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฏหมาย ในกรณีนี้จะมีผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์และจะนำไปสู่การยื่นถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญโดยวุฒิสภา
ถึงแม้จากข้อมูลการศึกษาพบว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าในคดีใดจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายเป็นกรอบในการวินิจฉัยคดี แต่เมื่อคำตัดสินออกมา ศาลรัฐธรรมนูญมักจะถูกกล่าวหาว่าตัดสินเป็นสองมาตรฐาน เป็นตุลาการภิวัฒน์ซึ่งเป็นทัศนคติเชิงลบต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงและจะเป็นเหตุที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมบางส่วน
งานวิจัย ยังบอกว่า คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยทั้งหมดเป็นคดีที่เกี่ยวกับการเมืองทั้งสิ้น ดังนั้นบทบาทในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นเพียงผลกระทบหรือเป็นเพียงผลทางอ้อมของคำตัดสินที่ส่งผลต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองเท่านั้น ในบางครั้งสามารถยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่เนื่องด้วยธรรมชาติของการเมืองมักจะมีเรื่องขัดแย้งอื่นๆตามมาเสมอ ไม่ว่าคำตอบจะออกมาอย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องอธิบายสังคมให้รู้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในการวินิจฉัยคดี ในฐานะผู้ตัดสินปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายและรัฐธรรมนูญ การวินิจฉัยตีความบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญต้องทำให้เกิดความชัดแจ้งตามสภาพปัญหาและมุ่งดำรงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัยญ
กระนั้นก็ตามงานวิจัยเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีควบคู่ไปกับรัฐธรรมนูญแต่ควรปฏิบัติหน้าที่อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฏหมายและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฏหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง มากกว่าทำหน้าที่ในลักษณะเป็นการไกล่เกลี่ยเพื่อหาผลประโยชน์ที่สามารถตกลงกันได้ของคู่กรณี
มิฉะนั้นแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถคงไว้ซึ่งความยุติธรรม ความอิสระและเป็นกลาง ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุล ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ควรเข้ามาทำหน้าที่ยุติข้อขัดแย้งทางการเมืองโดยตรง
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ ผู้วิจัยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพโดยเลือกแบบเจาะจงจากข้อมูลการสัมภาษณ์ ด้วยวิธีการอนุมานแบบอุปมัย โดยอธิบายตามปรากฏการณ์ที่ปรากฏจากการสัมภาษณ์เชิงลึกจากจุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นักวิชาการ และนักการเมือง รวมทั้งวิธีการประชุมกลุ่ม ทว่ายังไม่ได้มีการสัมภาษณ์กลุ่มภาคประชาชน