เชิดชูคนทำหนัง ‘พันนา ฤทธิไกร’ ปรมาจารย์ยอดนักบู๊
รอยมือและรอยเท้าประทับพร้อมข้อความจารึก ‘ตายได้แล้ว’ ของนักแสดง ผู้กำกับ และนักออกแบบคิวบู๊ระดับปรมาจารย์วงการภาพยนตร์ไทย ‘พันนา ฤทธิไกร’ ได้ถูกสลักไว้บนลานดารา โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา จ.นครปฐม เมื่อ 19 มีนาคม 2554 ด้วยความรู้สึกก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในชีวิตแล้ว
กระทั่งเมื่อกลางปีที่ผ่านมา แทบไม่มีใครคาดคิดว่า สวรรค์จะใจร้ายพรากชีวิตเขาจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ทว่าลีลาชั้นเชิงการต่อสู้ที่เข้มข้น ทักษะเชิงยุทธ์สุดสร้างสรรค์ และสีหน้าพราวพรายแพรว จะยังคงติดตราตรึงอยู่ในใจของแฟน ๆ ตลอดกาล
‘พันนา’ หรือ กฤติยา ลาดพันนา เริ่มต้นเข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยการสมัครเป็นทีมสตันท์ของ ‘คมน์ อรรฆเดช’ ผู้กำกับหนังบู๊ ค่ายโคลีเซียม ขณะที่มีอายุเพียง 22 ปี โดยอาศัยการฝึกฝนด้วยตนเองอย่างหนัก ตั้งใจ และจริงจัง ในบ้านเกิด จ.ขอนแก่น ซึ่งบทบาทที่ได้รับครั้งแรก คือ การแสดงแทน ม.ล.สุรีวัลย์ สุริยง นางเอกเรื่อง ไอ้ผาง ร.ฟ.ท. (2526) ต่อสู้กับผู้ร้ายบนหลังคารถไฟ
จากนั้นเขาได้ตัดสินใจตั้งกลุ่ม สตันท์แมน พี พีเอ็น ขึ้น ในปี 2529 และขายที่นาเพื่อนำเงินมาสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก ‘เกิดมาลุย’ จนประสบความสำเร็จและเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศความยิ่งใหญ่ภาพยนตร์บู๊ระดับตำนาน สู่การต่อยอดผลงานอีกมากมายตลอด 30 ปี อาทิ ปีนเกลียว องค์บาก ต้มยำกุ้ง คนไฟบิน โครตสู้ โครตโส จวบจนวาระสุดท้ายในชีวิต
ภาพยนตร์เสวนา จัดโดยโรงภาพยนตร์ศรีศาลายา จึงจัดกิจกรรมระลึกถึงคุโณปการที่มีต่อวงการภาพยนตร์ไทยของ ‘พันนา’ ท่ามกลางผู้สนใจเข้ารับฟังคับคั่ง ภายใต้บรรยากาศแบบเป็นกันเอง ‘กฤษณะ ลาดพันนา’ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน บอกเล่าว่า คุณพ่อเป็นคนใจดีมากกับครอบครัว และยินดีช่วยเหลือญาติพี่น้องทุกคน หากต้องการทำอะไร คุณพ่อจะให้ทุกอย่าง แต่ต้องอยู่ในระเบียบวินัย
ส่วนคลุกคลีกับอาชีพผู้เป็นพ่อมากเพียงใดนั้น “ผมเติบโตมากับอาชีพสตันท์ของคุณพ่อ ถึงขนาดเคยถูกสั่งให้แก้ผ้าเล่นเป็นลูกชายฝรั่ง ในเรื่องคนลูกทุ่ง แต่ตอนนั้นผมยังเป็นเด็กจึงไม่อาย (หัวเราะ)”
กฤษณะ กล่าวต่อว่า ระยะแรกที่คุณพ่อสร้างภาพยนตร์ยอมรับค่อนข้างลำบาก โดยทำทุกอย่างเพื่อหาเงินมาเลี้ยงจุนเจือครอบครัว แต่เนื่องจากทุกคนทำอาชีพนี้ด้วยใจ และส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้อง พวกเราจึงไม่ค่อยกังวล เพราะทุกคนอยู่กันด้วยความรัก
“ส่วนใหญ่คุณพ่อจะมีแรงบันดาลใจสร้างภาพยนตร์มาจาก บรู๊ซ ลี พระเอกนักบู๊ชาวฮ่องกง ตลอดจนสภาพแวดล้อมรอบตัว คุณพ่อจะคิดค้นและหยิบมาใช้เสมอ ยกตัวอย่าง กำลังนั่งคุยกันอยู่ บังเอิญเห็นหม้อก็หยิบนำมาใช้ในฉากบู๊ได้”
ด้วยความที่พันนาเป็นคนช่างคิดตลอดเวลาอย่างที่ ‘กฤษณะ’ บอกไว้ ทำให้ฉากต่าง ๆ ในภาพยนตร์ล้วนได้รับการออกแบบภายใต้ทักษะที่ร่ำเรียนมาจากวิชากระบี่กระบองสมัยเป็นนักเรียนพละ จนนำมาสู่ความแตกต่างที่ลงตัว
หากความโชคดีทางความคิดที่ติดตัวเขามา สุดท้ายก็ต้องศิโรราบให้กับวิกฤตธุรกิจสายหนัง “ช่วงนั้นยอมรับว่าทีมงานบางคนต้องกลับไปทำงานที่เดิม บางคนก็อยู่สู้ต่อ ทำให้คุณพ่อต้องตระเวนหางานใหม่ ถึงกับบางครั้งผมต้องหยุดเรียนเพื่อติดตามคุณพ่อไปด้วย เพราะเมื่อเขาตั้งมั่นทำงานเต็มที่แล้ว จะขาดกำลังใจจากครอบครัวไม่ได้”
กฤษณะ ยังบอกว่า สิ่งที่วาดฝันไว้ในอนาคตจะขึ้นมาอยู่ระดับแถวหน้าวงการสตันท์เหมือนคุณพ่อนั้นต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเป็นสตันท์ในภาพยนตร์หลายเรื่อง ยกตัวอย่าง องค์บาก 2 และตอบเต็มเสียงไม่รู้สึกกดดันที่เป็นลูกคุณพ่อ เพราะทีมงานส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้องกัน
“ตอนผมเป็นสตันท์ในองค์บาก 2 คุณพ่อจะไม่คุยกับผมเลย เพราะจะแบ่งแยกหน้าที่กันชัดเจน เลิกกองเท่านั้นจึงจะเป็นพ่อลูก แต่ผมก็ไม่เคยบอกใครว่าตนเองเป็นลูกชายของพันนา เพราะคุณพ่อจะสอนว่าทำแบบนั้นไม่ดี” กฤษณะ ทิ้งท้ายถึงคำสอนของผู้เป็นพ่อ
ด้านผู้กำกับหนังแอคชั่นเบอร์ 1 ของไทย ‘ปรัชญา ปิ่นแก้ว’ ในฐานะผู้นำภาพยนตร์ศิลปะมวยไทย ‘องค์บาก’ ออกสู่สายตาชาวโลกอย่างภาคภูมิ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสำเร็จดังกล่าวมีผู้ชายที่ชื่อ ‘พันนา’ อยู่เบื้องหลัง เขาเล่าว่า สมัยที่ผมเรียนอยู่นครราชสีมา ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ทุกประเภท หนึ่งในนั้น คือ หนังบู๊ของพันนา และรู้สึกหมั่นไส้มาก เพราะหน้าตาไม่หล่อ แต่กลับได้เล่นเป็นพระเอก เรียกว่าเทียบไม่ได้เลยกับสมบัติ เมทะนี หรือกรุง ศรีวิไล
“เขาคิดว่าหล่อเหรอ???” ประโยคนี้ ‘ปรัชญา’ คิดอคติในใจขึ้น จนกระทั่งเขามีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ของพันนามากขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง ‘เกิดมาลุย’ ซึ่งเห็นทีมงานเล่นถวายชีวิต ตายได้ทุกฉาก จึงรู้สึกว่า ผู้ชายคนนี้เอาจริง และในที่สุดก็ยอมแพ้กับความรู้สึกของตนเองก่อนหน้านี้ และด้วยลักษณะพิเศษ คือ สามารถคิดฉากขึ้นมาเอง แตกต่าง และโดนใจได้ จึงเป็นหนึ่งในบุคคลที่เขาอยากร่วมงานด้วยในเวลาต่อมา
“ผมอยากทำภาพยนตร์แอคชั่นสไตล์ไทย แต่ต้องให้มีฉากรถตุ๊กตุ๊กวิ่งชนกัน จึงนัดพูดคุยกับพันนา คุยกันถูกคอมากจนดึก โดยขอให้เขาคิดฉากให้ก่อน ต่อมาเมื่อพบกันอีกครั้ง เขากลับไม่มีงานมาส่ง ยกเว้นพยายามนำเสนอลูกศิษย์คนหนึ่งให้ได้เป็นนักแสดงในภาพยนตร์เรื่องที่กำลังจะสร้าง”
ปรัชญา ขยายต่อว่า พันนาพยายามบอกลูกศิษย์คนนี้สามารถกระโดดได้สูงกว่า บรู๊ซ ลี หมุนตัวได้มากกว่า เฉิน หลง เขาพยายามขายมาก ซึ่งผมก็ยิงตกตลอด เพราะเห็นว่าในโลกนี้จะมี ‘บรู๊ซ ลี’ ได้สักกี่คน ที่สำคัญ สร้างไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่แตกต่าง ส่วนทำได้เก่งกว่าหรือมากกว่านั้น คนชมจะรู้ได้อย่างไร
สุดท้าย ปรัชญาต้องยอมจำนนให้กับความพยายามเสนอขายลูกศิษย์คนนี้ ด้วยการนำศิลปะการต่อสู้ ‘มวยไทย’ มาอยู่ในภาพยนตร์ ซึ่งพันนาได้ไอเดียนี้ขณะขับรถกลับขอนแก่นจากโฆษณาชิ้นหนึ่ง บวกกับแนวคิด เสี่ยงตายแบบเกิดมาลุย จึงทำให้ลูกศิษย์ที่ชื่อ ‘จา พนม’ แจ้งเกิดและโด่งดังในองค์บากในเวลาต่อมา
“คนไทยคงไม่มีอะไรสู้นอกจากชีวิตแล้วมั้ง” ปรัชญา กล่าวติดตลก
เขากล่าวอีกว่า ผมไม่มีความรู้เรื่องทักษะการต่อสู้ แต่พันนาและทีมงานจะมีในส่วนนี้ ซึ่งเท่าที่สังเกตไม่ว่าใครคิดอะไรมาก็ตาม เพียงแค่พันนาจับบิดนิดเดียว ทุกอย่างดูดีไปหมด จึงถือว่าเขาเป็นคนอัจฉริยะมาก
“การถ่ายทำแบบยาว (Long Take) ในต้มยำกุ้งเกิดจากไอเดียของพันนา และไม่เคยมีภาพยนตร์เรื่องใดนำการต่อสู้ด้วยมือในตึกสูง 4 ชั้น แม้ท่าต่อสู้จะไม่ยาก แต่ความยากอยู่ที่ความอึด ทั้งนี้ เคยบอกให้เขาเขียนตำราต่าง ๆ เกี่ยวกับทักษะการต่อสู้ไว้ เสียดายที่ไม่ได้เขียน”
ปรัชญา กล่าวด้วยว่า ความโด่งดังของพันนาได้รับการยอมรับไปทั่วโลก มีกลุ่มแฟนเฉพาะติดตามเอาแผ่นหนังสมัยก่อนมาให้เขาเซ็นชื่อ และบางคนชื่นชอบถึงขั้นบินมาเมืองไทยเพื่อขอเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก ดังนั้นพันนาจึงถือเป็นบุคคลสำคัญของวงการภาพยนตร์ไทย ด้วยผู้ชายหัวใจนักบู๊ผู้นี้เริ่มต่อสู้มาจากคนไม่มีแต้ม สู่การยอมรับอย่างกว้างขวาง สามารถพิสูจน์ตัวเองไปสู่ระดับโลกได้
ตลอดชีวิต 53 ปี ของ ‘พันนา ฤทธิไกร’ ประกาศก้องเกรียงไกร คือ ‘ตำนานนักบู๊’ ไทยแลนด์ .