“บรรยง พงษ์พานิช” แนะ รบ.บิ๊กตู่ ใช้ KPI ชี้วัดความสำเร็จกำจัดคอร์รัปชั่น
“บรรยง พงษ์พานิช” แนะ รบ.บิ๊กตู่ ใช้ KPI ชี้วัดความสำเร็จการกำจัดคอร์รัปชั่นของในสังคมไทย ยันแต่พูดยังไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงานครบรอบ 3 ปี ไทยพับลิก้าและเปิดตัวเว็บไซต์จับเท็จดอทคอม (www.jabted.com) ภายในงานมีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เหลียวหลังเพื่อแลหน้า…เศรษฐกิจ สังคม การเมืองไทย?” โดยนาย บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัททุนภัทร จำกัด และธนาคารเกียรตินาคิน ณ ห้อง meeting Room KTC POP ชั้น B1 อาคาร UBC II สุขุมวิท 33 กรุงเทพ
นายบรรยง กล่าวถึงตัวชี้วัดที่จะสามารถพัฒนาประเทศไปได้มากน้อยขนาดไหนว่า สิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัดและพัฒนาประเทศอันดับแรกคือขนาดและบทบาทของรัฐ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่เพิ่มบทบาทของรัฐมากขึ้น แต่ในขณะที่ประเทศต่างๆในโลกพยายามที่จะลดบทบาทของรัฐลงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเพิ่มบทบาทดังกล่าวทำให้ประเทศติดกับดักไม่สามารถพัฒนาไปได้
นายบรรยง กล่าวถึงเรื่องงบประมาณแผ่นดินของประเทศไทยใช้งบประมาณคิดเป็นเป็นร้อยละ 22 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่มีสวัสดิการสูง ทั้งนี้เม็ดเงินทั้งหมดที่นำไปใช้จ่ายในด้านต่างๆนั้นมีอัตราสูงและเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 18% เป็น 23 % โดยรัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานที่ใช้จ่ายมากที่สุด
นายบรรยง กล่าวอีกว่า หากรัฐมีบทบาทมากการดำเนินการและจัดการจะเกิดวิกฤติ 3 อย่างได้แก่ ของคุณภาพต่ำ ต้นทุนสูง (ไม่ใช่เฉพาะเรื่องราคา) และปริมาณไม่เพียงพอ ดังนั้นการกำหนดบทบาทและการลดขนาดอำนาจของรัฐเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยรัฐไม่จำเป็นต้องเข้าไปดำเนินการ หรือแทรกแซงทุกอย่าง พร้อมยกตัวอย่าง กรณีจำนำข้าว ที่รัฐเข้าไปวุ่นวายทุกขั้นตอนจนสร้างความเสียหาย ทั้งนี้ยังเสนอให้ดำเนินการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ นักการเมือง ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และคู่ค้า
"อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ ปัญหาคอร์รัปชั่น รัฐบาลยุคนี้ต้องหามาตรการมาจัดการให้เกิดผล เรื่องคอรัปชั่น เป็นปัญหาสำคัญและมีพัฒนาการล้ำลึกมาก ต้องหามาตรการต่อสู้ การพูดไม่ยอมให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นยังไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา เพราะหากไม่ได้ผล ประเทศชาติก็จะหายนะ ผมอยากตั้งเป็น KPI ให้รัฐบาลชุดนี้ ใช้เป็นตัวชี้ความสำเร็จ โดยใช้ตัววัดจากการจัดลำดับขององค์กรนานาชาติด้านคอรัปชั่น”