ถวิล เปลี่ยนศรี : พูดคุยดับไฟใต้รอบนี้ ปิดจุดอ่อนที่ความไม่ไว้วางใจ
นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดแถลงที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 26 ก.ย.57 ถึงการทำงานในช่วง 5 เดือนหลังกลับเข้ามาทำหน้าที่เลขาฯสมช.อีกครั้ง นับตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา และกำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยได้แจกแจงถึงความคืบหน้าของงานด้านต่างๆ ที่เขาได้ทำ
และหนึ่งในนั้นคือการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ณ ดินแดนปลายด้ามขวานที่ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี
เลขาธิการ สมช. กล่าวถึงปัญหาชายแดนภาคใต้ที่ยังปรากฏความรุนแรงอยู่ว่า ได้เตรียมการจัดทำแผนนโยบายการทำงานปี 2558-2560 และจะต้องทบทวนแผนงานทุกๆ 3 ปีเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์
สำหรับโครงสร้างการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในปัจจุบันนั้น มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต. ตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 98/2557 และได้สร้างความเป็นเอกภาพในการทำงานระหว่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่รับผิดชอบงานความมั่นคง กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ดูเรื่องงานพัฒนา
โดยปรับให้ ศอ.บต.ไปอยู่กับ กอ.รมน.เพื่อบูรณาการทำงานและประสานกับ 20 กระทรวง กำหนดโครงการและงบประมาณให้มีความชัดเจนและเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ พร้อมกับยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่มากขึ้น
ปัดข่าวค้าสงคราม-แย่งงบ
"รัฐบาลแต่ละรัฐบาล ด้วยความปราถนาดีก็ใส่เครื่องมือลงไปใหญ่เลย พอใส่ไปปรากฏว่าแกงไตปลา มันเอาปลาร้าใส่ลงไปไม่ได้ มันก็ไปออกฤทธิ์ฆ่ากันเอง" นายถวิลตอบข้อถามของผู้สื่อข่าวที่ว่าเหตุใดโครงสร้างการบริหารและหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักจึงเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่าง กอ.รมน. กับ ศอ.บต.
เมื่อซักว่า ที่ผ่านมามีการวิจารณ์เรื่องแย่งงบประมาณ ตอนนี้ยังเป็นปัญหาหรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า "พวกที่ไปเดินอยู่ภาคใต้ เดินไปไม่รู้จะได้กลับมาหรือเปล่า จ้างทหาร 240 บาท ไปเดินก็ไม่คุ้ม ให้ไปถูกยิงตาย พอถึงเวลาหนึ่งบอกว่าค้าสงคราม ค้าความขัดแย้ง ค้างบประมาณ ผมก็เจ็บปวดใจ ขนาดผมไม่ได้ยืนล่อเป้าเหมือนทหาร"
"พูดคุยสันติสุข"มุ่งสร้างความไว้ใจ
นายถวิล กล่าวอีกว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะลงพื้นที่ไปมอบนโยบายและติดตามความคืบหน้าในการทำงานต่อไป
ส่วนการพูดคุยเพื่อสันติสุขนั้น จริงๆ กระบวนการพูดคุยที่ผ่านมามีการดำเนินการมาตลอด ไม่ใช่เพิ่งมาทำเมื่อปีที่แล้ว (รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงนามเมื่อ 28 ก.พ.56) แต่ไม่ปรากฏเป็นข่าว
ทั้งนี้ จุดอ่อนของการดำเนินการที่ผ่านมา คือ ความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างรัฐกับผู้ที่มีความเห็นต่าง ซึ่งในอดีตที่มีการปรากฏตัวออกมาพูดคุยกับรัฐ ยังมีวาระที่ไม่ไว้วางใจบางอย่าง และเคลือบแฝงด้วยการเจตนาของการที่จะยกระดับกลุ่มของตัวเองขึ้นมา ส่วนเจ้าหน้าที่ก็ถูกกลุ่มที่เห็นต่างไม่ไว้ใจเช่นกันว่าเข้าไปพูดคุยเพื่อที่จะดำเนินการทางด้านการข่าวหรือทางยุทธวิธีหรือไม่อย่างไร
สำหรับการพูดคุยเมื่อปี 2556 เป็นการพูดคุยโดยเปิดเผย ก็เรียนว่าข้อดีก็มี ทำให้การพูดคุยเพื่อยุติปัญหาเป็นที่ยอมรับของคนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ แต่จุดอ่อนก็มีอยู่เยอะ โดยเฉพาะการพูดคุยที่ผ่านมาขาดการเชื่อมโยงกับหน่วยนโยบาย การมีส่วนร่วมของหน่วยงานหลักก็ยังมีปัญหาอยู่ การมีกรอบแนวทางของการพูดคุยที่ชัดเจนก็มีปัญหา
"ฉะนั้นการที่เรามาทำเที่ยวนี้ (รอบใหม่) ก็ริเริ่มการพูดคุย และพยายามจะปิดจุดอ่อนตรงนี้ สร้างกลไก วางแนวทางตามที่นายกฯและหัวหน้าคสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ประกาศเอาไว้ ว่าจะเริ่มต้นด้วยการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เมื่อมีความไว้วางใจซึ่งกันและกันแล้วก็จะนำไปสู่การลดความรุนแรง หรือยุติความรุนแรง หลังจากนั้นจะเป็นการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างสมบูรณ์ต่อไป"
ส่งชื่อเป้าหมายให้มาเลย์เชิญคุย
นายถวิล กล่าวด้วยว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนมาเลเซีย น่าจะมีความชัดเจนว่าจะพูดคุยต่อกันอย่างไร และใครจะเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ซึ่งนายกฯจะเป็นผู้แต่งตั้ง สำหรับกลุ่มผู้เห็นต่าง จะเชิญมาพูดคุยทุกกลุ่ม โดยมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกำลังดำเนินการหากลุ่มผู้เห็นต่างมาพูดคุย ขณะเดียวกันฝ่ายไทยก็ได้ส่งข้อมูลไปทางมาเลเซียเช่นกันว่าต้องการพูดคุยกับใคร
อย่างไรก็ดี นายถวิล บอกว่า การพูดคุยไม่ใช่ทางเดียวที่จะแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้ เพราะยังมีถึง 7-8 เครื่องยนต์ที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ในเรื่องของการพัฒนา การอำนวยความยุติธรรม การยกระดับคุณภาพชีวิต เรื่องของการปรับตัวเข้าหากัน การมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องทำทั้งสิ้น แต่การพูดคุยก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสนับสนุน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง ผู้สื่อข่าวการเมือง สำนักข่าวเนชั่น เอื้อเฟื้อเนื้อหาบทสัมภาษณ์