แยกคนจน-รวย กรมป่าไม้ โชว์ทวงคืนผืนป่าได้กว่า 4-5 หมื่นไร่
อธิบดีกรมป่าไม้ เผยแผนการทำงานแนวทางการจัดการป่าสงวนแห่งชาติ ตั้งเป้า 10 ปีข้างหน้า ส่งเสริมการปลูกป่าชุมชน ให้ได้กว่า 2 หมื่นแห่ง หนุนปลูกป่าเศรษฐกิจ 48% ของพื้นที่ประเทศ ลดสงครามแย่งชิงไม้พยุง
วันที่ 26 กันยายน 2557 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดงานระลึก 24 ปี สืบ นาคะเสถียร จากป่า สู่เมือง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยช่วงเย็นมีเวทีเสวนาพิเศษ พูดคุยกับดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ อธิบดีกรมป่าไม้ ถึงแนวทางการจัดการป่าสงวนแห่งชาติ
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวตอนหนึ่งจำนวนพื้นที่ป่าในประเทศไทยว่า จากภาพถ่ายทางอากาศปี 2497 กับแผนที่ L708 พบว่า เมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีป่าไม้มากกว่า 70% ของพื้นที่ประเทศ แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าเหลือประมาณ 32% หรือ 102 ล้านไร่ (ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 322 ล้านไร่)
สำหรับแนวทางการทำงานในอนาคต ดร.ธีรภัทร กล่าวว่า นอกจากดูแลเรื่องสวัสดิการเจ้าหน้าที่ป่าไม้แล้ว จะเข้าไปดูแลเชิงพื้นที่ โดยแบ่งพื้นที่ “กลุ่มป่า” สำคัญๆ ออกเป็น 309 กลุ่มป่าสงวนแห่งชาติ ร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการทั้งเรื่องของแผนงาน คน งบประมาณ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลป่าไม้ การส่งเสริมการปลูกป่าชุมชนที่ปัจจุบันมีอยู่ 9 พันแห่งทั่วประเทศครอบคลุมพื้นที่ 3.7 ล้านไร่ ตั้งเป้าเอาไว้ว่า อีก 10 ปี ข้างหน้ามีป่าชุมชน 21,800 แห่ง รวมถึงการส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจให้ได้ 48% ของพื้นที่ประเทศ ส่งเสริมการปลูกไม้พยุง เพื่อลดสงครามแย่งชิงไม้ชนิดนี้ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน
“สิ่งที่ผมกำลังมองอยู่ เนื่องจากมีชุมชน ชาวบ้านอยู่ในป่าเหล่านี้จำนวนมาก ดังนั้นจะมีการทำงานร่วมกับภาคประชาชน โดยนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ เข้ามาทำงานกัน เพื่อไม่ให้มีการขยายพื้นที่ไปมากกว่านี้ อยู่ร่วมกันด้วยการอนุรักษ์ป่า”
ดร.ธีรภัทร กล่าวถึงนโยบายการทำงานสำหรับคนอยู่กับป่าเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่อยู่ก่อนนั้นจะไม่มีการจับกุม แต่จะจับกุมเฉพาะที่มีการบุกรุกใหม่โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 เป็นหลัก ส่วนการขับไล่ประชาชนออกจากป่าช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นคำสั่งของศาลกรณีมีการบุกรุกใหม่หลังปี 2545 เป็นต้นมา และคดีความถึงที่สุดแล้ว
“ระยะเวลา 4 เดือนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ สามารถยึดพื้นที่ป่าคืนจากรายใหญ่ๆ ไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นไร่ ซึ่งมีการแยกคนจน คนด้อยโอกาส กลุ่มคนไม่มีที่ดินทำกิน หรือรายได้น้อย ในการแก้ไขปัญหา”
ทั้งนี้ ดร.ธีรภัทร กล่าวถึงโครงการหมู่บ้านป่าไม้ด้วยว่า หากประชาชนอยู่ก่อนการประกาศเขตป่าจริงๆ ก็ควรได้สิทธิ์นั้น แต่หากหลังจากนั้นต้องมาดูว่า เป็นอย่างไร ปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นหมู่บ้านอยู่ในป่า และใกล้ป่า ฉะนั้น กรมป่าไม้จะให้ความสำคัญป้องกันไม่ให้มีการขยายพื้นที่ พัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการหาอาชีพเสริมเข้าไปช่วยชาวบ้าน