นักวิจารณ์หนัง แนะสื่อบันเทิงทำหน้าที่ อย่าให้ใครว่า 'กระจอก'
‘นันทขว้าง’ สับนักข่าวบันเทิงไทยไร้กึ๋นตั้งคำถามแหล่งข่าว รู้เฉพาะเรื่องสัมพันธ์แนบชิด หวังเด็กรุ่นใหม่มีจรรยาบรรณ ไม่ถูกจูงจมูกโดยง่าย นักวิชาการชี้สังกัดสื่อควรตั้งกรอบจริยธรรม ปวารณาทบทวนหน้าที่ตัวเอง
วันที่ 26 กันยายน 2557 นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น จัดสัมมนา ‘แนวทางการผลิตสื่อบันเทิงบนพื้นฐานจรรยาบรรณ’ ณ อาคารเอ็ม เธียเตอร์ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่
ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน กล่าวว่า ปัจจุบันโซเซียลมีเดียมีส่วนสำคัญในการผลักดันเกิดกระแสต่าง ๆ จนสามารถทำให้ภาพยนตร์ถูกจับตามองได้ ซึ่งข้อสงสัยอาจมีการจัดตั้งทีมงานดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะนั้น หากมองในแง่บวกก็เปรียบได้กับฝ่ายการตลาด ที่ทำอย่างไรให้สินค้ากลายเป็นจุดสนใจ แต่สิ่งสำคัญ คือ การตลาดดังกล่าวควรเป็นไปตามกรอบจรรยาบรรณด้วย อาทิ ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
ส่วนกรณีสื่อบันเทิงมีความเหมาะสมต่อกลุ่มผู้บริโภคนั้น นักวิชาการ ระบุว่า การออกกฎกติกา หรือจัดระดับความเหมาะสมที่ผ่านมาไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง จึงควรกลับมาทบทวนใหม่ โดยให้สิทธิผู้ผลิต ผู้กำกับ หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายออกกติการ่วมกัน มิใช่จำกัดอยู่เฉพาะผู้ใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร
“ความจริงทุกองค์กรวิชาชีพควรมีกรอบจริยธรรมสำหรับนักข่าว ทว่า สิ่งที่ตามมาปัจจุบัน คือ เมื่อเกิดปัญหาขึ้น จะมีเพียงแถลงการณ์กระดาษเอสี่ ตั้งคณะกรรมการพิจารณา และสุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป” ดร.สิขเรศ กล่าว และว่านักข่าวได้วิพากษ์คนอื่น แต่วิชาชีพของตนเองกลับไม่ให้ทางออกกับสังคมเหมือนกัน จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องหันมาปวารณาตัว คิดทบทวน มิใช่ปล่อยให้กระดาษเอสี่ผ่านมาแค่จำ
ด้านนายนันทขว้าง สิรสุนทร นักวิจารณ์ภาพยนตร์และคอลัมน์นิสต์ กล่าวถึงจรรยาบรรณในสื่อบันเทิงไทย กรณีการลอกเลียนผลงานว่า เรายังไม่มีกฎหมายชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ และยอมรับค่อนข้างระบุยากชิ้นงานไหนลอกหรือไม่ แต่ในต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับพล็อตเรื่องเป็นหลัก หากมีความคล้ายคลึงเกิน 50% จะถือว่าลอก
สำหรับการทำหน้าที่ของนักข่าวบันเทิงไทยให้อะไรกับสังคมนั้น นักวิจารณ์ภาพยนตร์ กล่าวว่า นักข่าวบันเทิงไม่ใช่อาชีพที่ฉลาดในความคิดส่วนตัว แต่การทำหน้าที่นั้นต้องมีปัญญาในการซักถามแหล่งข่าว รู้จักวิธีการตั้งคำถาม ทั้งนี้ หากหลายคนเจอปัญหาเกี่ยวกับข้อจำกัดทางความคิด จึงควรปรับจากสัมภาษณ์หมู่เป็นเดี่ยวแทน เพื่อถามคำถามที่ดีและแตกต่างได้ อย่าให้สังคมกลืนเรา เพราะนักข่าวไม่ได้มีหน้าที่เพียงจับไมค์ยื่นสัมภาษณ์เท่านั้น
“นักข่าวบันเทิงไทยจะรู้เรื่องดารานักแสดงเพียงความสัมพันธ์แนบชิด แต่ไม่เคยมีคนใดอยากรู้ ‘เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ’ อ่านหนังสือเล่มล่าสุดเรื่องอะไร หรือ เสก โลโซ ชื่นชอบนักดนตรีระดับโลกคนใด ซึ่งเรื่องเหล่านี้นักข่าวกลับไม่เคยรับรู้ ดังนั้นเราควรต่อสู้เพื่ออาชีพ เพื่อไม่ให้คนอื่นกล่าวหาว่า ‘กระจอก’”
นายนันทขว้าง กล่าวด้วยว่า เด็กรุ่นใหม่ที่ใฝ่ฝันจะทำงานด้านสื่อบันเทิงต้องมีศีลธรรมจรรยา และต้องไม่ให้ถูกชักจูงจมูกจากเจ้าของบริษัท บรรณาธิการข่าว หรือระบบการตลาด และต้องถามตัวเองให้ได้ว่าจะพาตัวเองไปอยู่จุดไหนของจักรวาลนี้ .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ OKNATION