นักวิชาการ-ธุรกิจ-เกษตรกร หนุน "เศรษฐกิจสีเขียว" สร้างสมดุล-สังคม-สิ่งแวดล้อม
นักวิชาการ ระบุสินค้าสีเขียวเมืองไทยยังขาดแรงหนุน "เกษตรกรดีเด่น" เตรียมต่อยอดข้าวกล้องงอกอินทรีย์เพิ่มมูลค่าการตลาด "นักพลังงาน" แนะแปรรูปผลผลิตเกษตรเป็นพลังงานทางเลือกแก้วิกฤติ
วันที่ 25 ส.ค. 54 ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร และทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาเรื่อง "มูลค่าเพิ่มสร้างได้ สไตล์ กรีนอีโคโนมี (Green Economy)"
ทั้งนี้ กรีนอีโคโนมี หรือ เศรษฐศาสตร์สีเขียว เป็นระบบเศรษฐกิจที่รักษาสมดุลระหว่าง มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม กล่าวคือ เน้นการประหยัดพลังงาน การใช้เทคโนโลยีที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักออกแบบผลิตภัณฑ์เขียว (Green Products) กล่าวว่า แนวคิดกรีนอีโคโนมิคส์ ไม่ใช่กระแสใหม่ แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถขยายออกไปได้อีก และจะกลายเป็นตลาดสำคัญในอนาคต เพราะคนเริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ผศ.ดร.สิงห์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน การทำกรีนอีโคโนมิคส์ในเมืองไทยยังขาดการเชื่อมโยงระหว่างกัน ซึ่งระบบการตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการฯ ให้อยู่รอดได้ โดยยกตัวอย่างเฟอร์นิเจอร์จากเศษวัสดุของตนเอง ที่มีต้นทุนการผลิตจากโรงงาน 7-8 พันบาท แต่เมื่อส่งออกไปต่างประเทศ จะขายได้ในราคา 7-8 หมื่นบาท เพราะมีกลไกการสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งเรื่องการตลาด กฎหมาย และนโยบายจากรัฐบาล
"สินค้าที่ทำมาจากเศษวัสดุ ยังไม่สามารถขายได้ในเมืองไทย เพราะคนไทยยังไม่เห็นคุณค่า ดังนั้น การสนับสนุนเชิงนโยบาย เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมทางความคิดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก" ผศ.ดร.สิงห์ กล่าว
ด้านนายชัยพร พรมพันธ์ เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำนา และผู้ได้รับรางวัลคนค้นคน อวอร์ด ปี 2553 กล่าวว่า ในอดีตเคยปลูกข้าวโดยใช้สารเคมีมากว่า 6 ปี แต่ไม่ได้ผล จึงหันมาปลูกข้าวอินทรีย์แทน โดยใช้หลักการฝังกลบฟางแทนการเผาเพื่อเป็นปุ๋ย ใช้สมุนไพรแทนสารเคมีในการควบคุมแมลง และให้แมลงควบคุมกันเองตามธรรมชาติ เพราะแมลงบางชนิดจะทำหน้าที่กำจัดเพลี้ยและหนอนขาวให้ เช่นแมงมุม ตัวเบียน แต่ถ้าใช้สารเคมี จะทำให้แมลงผู้ช่วยเหล่านี้ตายไปด้วย
นายชัยพร เสนอว่า ชาวนาควรทำบัญชีรายรับรายจ่ายด้วย เพราะจะช่วยให้รู้ต้นทุนการทำนาที่แท้จริง โดยปัจจุบันตนเองมีที่นา 102 ไร่ ได้ผลผลิต ไร่ละ 93 – 97 เกวียนทุกปี ขายได้ เกวียนละ 7,000 – 8,000 บาท โดยมีต้นทุนไร่ละ 2,000 บาท ไม่รวมค่าแรง เพราะตั้งเงินเดือนให้กับตัวเอง และภรรยาไว้แล้ว คนละ 50,000 บาท ต่อเดือน โดยทำนากับภรรยา 2 คน ตั้งแต่การไถ หว่าน และเก็บเกี่ยว โดยใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องทุ่นแรง ลดต้นทุนค่าจ้างไถได้ไร่ละ 600 บาท และค่าแรงงานต่างๆ
"ทำนาปีละ 2 ครั้ง ก็สามารถส่งลูกเรียนปริญญาโทได้ บางปีราคาข้าวสูงถึงเกวียนละ 10,000 บาท มีรายได้รวมหลักล้าน และต่อไปลูกชายจะเข้ามาขยายกิจการทำข้าวกล้องงอก ซึ่งจะได้ราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 100 บาท เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวอินทรีย์อีกทางหนึ่ง" เกษตรกรดีเด่นกล่าว
นายยุทธการ มากพันธ์ รองผู้จัดการโรงแรมคำแสด ริเวอร์แคว รีสอร์ท และผู้จัดการมูลนิธิคำแสดธรรมธาร กล่าวว่า ทางรีสอร์ทเริ่มหันมาลดการใช้พลังงานอย่างจริงจัง ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เช่น มีการแยกขยะ และผลิตเชื้อเพลิงใช้เอง โดยผลิตไบโอแก๊ส นำเศษไม้มาทำเชื้อเพลิง ทำกังหันสูบน้ำ และใช้กำลังวัวเดินเครื่องจักร นอกจากนี้ยังมีการผลิต แชมพู สบู่ จากสมุนไพร ซึ่งกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการพลังงานทางเลือกให้กับชุมชนโดยรอบ และทำให้รู้ว่า ประเทศไทยมีความรู้และการจัดการในเรื่องพลังงานอยู่มาก แต่คนไทยกลับดูถูกภูมิปัญญาตนเอง เพราะมองว่าการพึ่งพาธรรมชาติเป็นความล้าหลัง
ผู้จัดการมูลนิธิฯ ยังกล่าวว่า ประเทศไทยมีความได้เปรียบประเทศอื่นๆ เพราะมีศัยกยภาพในการสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรหลายชนิดก็สามารถนำมาทำเชื้อเพลิงได้ด้วย แต่หลายประเทศ เช่นกลุ่มโอเปค ผลิตน้ำมันได้ กลับปลูกทำเกษตรกรรมไม่ได้ ในขณะที่โลกกำลังเข้าสู่ยุควิกฤติด้านอาหาร และพลังงาน รัฐบาลควรหันมาสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและหันมาใช้เชื้อเพลิงที่ปลูกได้จากพืช โดยเฉพาะเงินจากโครงการจำนำข้าว ควรนำมาซื้อผลผลิตเกษตรกรเพื่อนำไปทำเชื้อเพลิงได้อีกทางหนึ่ง
ถ้าผู้กำหนดนโยบาย เข้าใจความเป็นจริงของสังคมว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม และเลิกใช้วิธีคิดแบบเดิมๆ เช่น การคำนวณความต้องการใช้พลังงานตามความต้องการสูงสุดในแต่ละบ้าน คูณจำนวนหลังคาเรือนเพื่อหาความต้องการพลังงานในประเทศ และบอกว่าทางออกคือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นผิด เพราะถ้าเป็นแบบนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กี่โรงก็ไม่เพียงพอ
"รัฐบาลต้องสนับสนุนประชาชนตามความต้องการที่แท้จริง เพราะมีเทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงานมากมายสามารถช่วยได้ เช่น บ้านบางหลังอาจต้องการแผงโซล่าเซลล์เพียงไม่กี่แผง หรืออาจใช้เทคโนโลยีอื่น เช่น เอาความร้อนเปลี่ยนเป็นความเย็น ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว"
นายยุทธการฝากความหวังไปยังคนรุ่นใหม่ให้ช่วยกันผลักดัน เพื่อให้ประเทศชาติเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เป็นผู้ถูกกำหนดอย่างเดียว
นายธีระ สงวนดีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายโครงการ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในอดีตโรงงานน้ำตาลจะมีปัญหาเรื่องน้ำเสียจากกระบวนการผลิต ซึ่งทางบริษัทได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงแก้ปัญหาโดยนำวัตถุดิบอ้อยมาใช้งานทั้งหมด ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ น้ำตาล เพื่อการจำหน่าย กากน้ำตาลผลิตเอทานอลเพื่อผสมน้ำมัน กากน้ำส่าที่เคยเป็นปัญหาน้ำเสียนำมาทำก๊าซชีวมวล ส่วนที่เหลือทำปุ๋ยอินทรีย์ในไร่อ้อยต่อไป และยังมีโรงไฟฟ้าชีวมวล มีกำลังการผลิต 28 เมกกะวัตต์ ขายให้กับ อีแกท (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) 22 เม็กกะวัตต์ อีกด้วย
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า การจัดการปัญหาแบบครบวงจร เป็นการลงทุนเพิ่มแต่เห็นผลระยะยาว แทนที่จะตามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทีละจุด เช่นกำจัดฝุ่นละออง กำจัดน้ำเสีย แต่หันมาแก้ปัญหาจากต้นเหตุ โดยนำมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อการรักษาสภาพแวดล้อม แต่ใช้ต้นทุนสูง โรงงานต้องมีความตั้งใจจริง นอกจากนี้การพัฒนาองค์ความรู้ และสนับสนุนชาวบ้านที่อยู่โดยรอบก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าชาวบ้านขาดความรู้ความเข้าใจแล้ว เมื่อราคาผลิตตกต่ำ เกษตรกรจะหันไปปลูกพืชอย่างอื่น โรงงานจะขาดวัตถุดิบด้วย