แชร์ประสบการณ์ถูกฟ้องหมิ่นฯ จากกรุงเทพฯถึงชายแดนใต้...ชี้เครื่องมือปิดปาก!
ปรากฏการณ์หน่วยงานรัฐยื่นฟ้องบุคคลที่ทำงานด้านสื่อสารมวลชน นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) หลังถูกบุคคลหรือกลุ่มคนเหล่านั้นตรวจสอบหรือตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใสในบางเรื่องราว กำลังกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวและการปะทะกันทางความคิดระหว่างผู้ที่แสดงตัวว่าทำงานเพื่อสังคมในที่สว่าง กับหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย
กรณีของ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กับ น.ส.ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการที่นี่ไทยพีบีเอส ถูกสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมทั้งกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) 4 คน ยื่นฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท จากกรณี ดร.เดือนเด่น ไปออกรายการที่มี น.ส.ณัฏฐา เป็นผู้ดำเนินรายการ และพูดถึงความเสียหายที่เกิดจากมาตรการขยายเวลาคืนคลื่นความถี่ 1800 เมกกะเฮิร์ตซ์ ของ กทค.เมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นตัวอย่างอันดี
นอกจากนั้นยังมีกรณีของ น.ส.ชุติมา สีดาเสถียร นักข่าวของเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ "ภูเก็ตหวาน" ที่ถูกกองทัพเรือฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท กรณีนำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา ทั้งๆ ที่เป็นรายงานที่อ้างอิงแหล่งข้อมูลจากสำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่ง
ขณะเดียวกันก็ยังมีกรณีที่กลุ่มทุนยักษ์ยื่นฟ้องคนทำงานตัวเล็กๆ ดังเช่น น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.
ฝ่ายที่ถูกฟ้องร้องมักระบุว่าการทำหน้าที่ของพวกตนเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคม ส่วนฝ่ายผู้ฟ้องโดยเฉพาะหน่วยงานรัฐก็อ้างว่าข้อมูลที่นำมากล่าวหาตรวจสอบนั้นเป็นข้อมูลเท็จ จึงต้องปกป้องศักดิ์ศรีของหน่วยงาน
การเสวนาหัวข้อ "ฟ้องหมิ่นประมาท เครื่องมือปิดกั้นการตรวจสอบ/การทำหน้าที่" ที่โรงแรมสุโกศล เมื่อวันที่ 24 ก.ย.57 เป็นอีกหนึ่งเวทีที่มีการแสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาอ่อนไหวนี้อย่างกว้างขวาง
น.ส.ชุติมา จาก "ภูเก็ตหวาน" แชร์ประสบการณ์ว่า ปัจจุบันเธอถูกขึ้นบัญชีดำจากทางทัพเรือภาคที่ 3 ห้ามเข้าพื้นที่ฐานทัพโดยเด็ดขาด ขณะที่คดีของเธอที่ถูกฟ้องร้องพร้อมบรรณาธิการชาวต่างประเทศ จะเริ่มกระบวนการสืบพยานในศาลเดือน ก.ค.ปีหน้า
"ดิฉันก็ไม่เข้าใจว่าทำไมสื่ออื่นๆ ที่นำข่าวจากแหล่งเดียวกันไปเผยแพร่กลับไม่ถูกฟ้องร้อง แต่กับภูเก็ตหวานกลับถูกฟ้องหมิ่นประมาท การทำแบบนี้ เท่ากับเป็นการปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อ"
"ล่าสุดทางทัพเรือภาค 3 จัดแถลงข่าวเรือรุกที่ดิน มีการแถลงในฐานทัพ แต่เมื่อดิฉันไปถึงกลับไม่สามารถเข้าได้ มีการติดรูปดิฉันไว้ที่ทางเข้า การกระทำแบบนี้ทำให้เสื่อมเสีย เป็นการละเมิดสิทธิ์โดยตรง และยังทำให้ประชาชนเสียผลประโยชน์จากการรายงานข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชน และลิดรอนการทำหน้าที่สื่อด้วย"
ขณะที่ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพิ่งถูกฟ้องจากหน่วยทหารพรานในพื้นที่จากกรณีตรวจสอบข้อร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมาน กล่าวว่า มีการแจ้งความที่ สภ.เมืองยะลา แต่ต่อมามีการยกเลิกหมายเรียกของ สภ.ยะลา และโอนคดีไปที่ สภ.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา แทน โดยนัดให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 14 ก.ย. แต่ปรากฏว่าทางตำรวจแจ้งขอเลื่อนการมอบตัวอย่างไม่มีกำหนด
"แม้จะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น แต่เราก็ยังทำหน้าที่ตามปกติ เพราะเราทำเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อลดการกระทำรุนแรงกับผู้ที่ถูกจับกุม ขณะนี้ต่างประเทศกำลังจับตามองเราอย่างมาก เพราะกลายเป็นว่าเราเป็นนักสิทธิมนุษยชน แต่กลับถูกหน่วยงานรัฐฟ้องหมิ่นประมาทจากการทำหน้าที่ของเรา ซึ่งผลจะยิ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับเหยื่อที่อาจจะถูกซ้อมทรมานแล้วปิดปากเงียบ และการฟ้องร้องเหมือนต้องการให้กระบวนการทำงานของเอ็นจีโอชะงักไประดับหนึ่ง"
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ จากทีดีอาร์ไอ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมการเสวนา กล่าวว่า จริงๆ แล้วนักวิชาการทีดีอาร์ไอน่าจะใช้เวลาไปกับการออกแบบแผนพัฒนาประเทศ แต่กลับต้องใช้เวลาเหล่านั้นมาตรวจสอบเรื่องทุจริต ไม่โปร่งใสต่างๆ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ของนักวิชาการ แต่เมื่อพบเห็นปัญหาก็ต้องท้วงติง สุดท้ายกลายเป็นถูกฟ้อง
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้ก่อตั้งโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ กล่าวว่า สาเหตุที่มีการฟ้องหมิ่นประมาทกันบ่อยครั้งก็เพราะเป็นการใช้ช่องทางกฎหมายเป็นเครื่องมือ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการฟ้องหมิ่นประมาทในลักษณะอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือแบบนี้ เพิ่งมาเพิ่มจำนวนขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลัง
วงเสวนาเห็นตรงกันว่า เอ็นจีโอ รวมไปถึงสื่อ และนักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิชุมชน ควรเรียนรู้กฎหมายเพิ่มมากขึ้น และในการปฏิรูปกฎหมายกับกระบวนการยุติธรรม ควรตัดการฟ้องร้องหมิ่นประมาทในส่วนอาญาออกไป เพราะเหมือนเป็นการจำกัดการทำหน้าที่ตรวจสอบ เนื่องจากถ้าเรื่องที่ตรวจสอบเป็นเท็จ ผลที่สุดก็จะแสดงออกมาเอง
สื่อท้องถิ่นชายแดนใต้โวยถูกบังคับพิมพ์มือ-ตรวจดีเอ็นเอ
วันพฤหัสบดีที่ 25 ก.ย. มีใบแจ้งข่าวจากองค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ว่า จะรวมตัวกันไปยื่นหนังสือถึงผู้กำกับการ (ผกก.) สภ.เมืองปัตตานี เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบกรณี นายทวีศักดิ์ ปิ อายุ 26 ปี ภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 90 หมู่ 6 ต.บางขุนทอง อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ผู้สื่อข่าวจากสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน ถูกกลุ่มบุคคลอ้างตัวว่าเป็นฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองปัตตานี เข้าตรวจค้นที่พักของนายทวีศักดิ์ โดยมีลักษณะข่มขู่ คุกคาม บังคับให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ลงชื่อในเอกสารแสดงความสมัครใจในการตรวจสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) โดยอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก ทั้งๆ ที่นายทวีศักดิ์และเพื่อนที่อยู่ด้วยกันรวม 4 คน ไม่ได้สมัครใจ และไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 shut up หรือ "ปิดปาก" ตัดภาพจากแบนเนอร์ประชาสัมพันธ์การเสวนา
2 บรรยากาศในวงเสวนา
หมายเหตุ : * ศักรินทร์ เข็มทอง เป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ