“เสธ.ไก่อู”เปิดใจ ...3 ปีที่หายไป กับภารกิจสื่อสารครั้งใหม่ในรัฐบาล คสช.
กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา พันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด หรือ “เสธ.ไก่อู”เปิดห้องทำงานชั้น 2 บนตึกบัญชาการ1 ทำเนียบรัฐบาล ให้นักข่าว “สำนักข่าวอิศรา” สัมภาษณ์ในหลายประเด็นที่คนทั่วไปอยากรู้ หลังจากห่างหายไปกว่า 3 ปี นับจากวันที่ทำหน้าที่โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ก่อนจะคัมแบ็กกลับมาอีกครั้ง เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
“ผมไม่ได้หายไปไหนนะ(หัวเราะ) หลังจากเสร็จภารกิจโฆษกศอฉ. ผมก็ยังเป็นโฆษกกองทัพบก เพียงแต่ตำแหน่งโฆษกกองทัพบก ไม่มีตำแหน่งในอัตราการจัดของหน่วยในกองทัพบก แต่เป็นหน้าที่ที่ถูกแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ใครทำหน้าที่ เป็นผู้สื่อสารกับสังคมว่ากองทัพทำอะไร มีรายละเอียดสาระเรื่องงานอย่างไร”
อดีตโฆษกศอฉ. เล่าต่อว่า “แม้จะยังทำหน้าที่ในกองทัพ แต่ช่วงหลังผู้บังคับบัญชาท่านให้ความกรุณาด้วยการให้น้องต๊อด (พันเอกวินธัย สุวารี) มาช่วยงานอีกแรง อีกอย่างหนึ่งท่านนายกฯได้กล่าวมาตลอดในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ว่า คสช.อาจจะดูไม่ค่อยถูกหลักการประชาธิปไตยในมุมมองของต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยคนส่วนใหญ่มีความรู้สึกตรงกันว่า ด้วยวิธีเดิมที่มีอยู่มันเดินไปไม่ได้”
“เพราะหลักการฝั่งหนึ่งดูดีมีเหตุผล แต่อีกฝั่งเขาไม่เชื่อ เขาก็มีเหตุผลเหมือนกัน ซึ่งแต่ละฝั่งก็ไม่ได้อยู่ลำพัง มีพี่น้องประชาชนให้การสนับสนุนเยอะพอๆกัน ทำให้เกิดความไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อใจกัน จึงไม่สามารถไปต่อได้ คสช.จึงเข้ามา”
“ฉะนั้น หน้าที่ตรงนี้จึงต้องทำให้สังคมเกิดความวางใจว่า คสช.เข้ามาด้วยความจำเป็นและไม่ได้เอนเอียงหรือมีความสัมพันธ์แนบแน่น เอาอกเอาใจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่มีความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองเป็นกรณีพิเศษ การให้การคนใดคนหนึ่งในฐานะโฆษกออกมาสื่อความหมายภาพลักษณ์หรือมุมมองต่อสังคมมีความสำคัญ จึงเป็นความเหมาะอย่างที่สุดที่ผู้บังคับบัญชาท่านเห็นว่าตรงนี้น่าจะให้พันเอกวินธัย เป็นผู้สื่อสาร ซึ่งผมก็ว่าดีและถูกต้อง”
ก่อนหน้านี้ หลายคนอาจไม่รู้ว่า นอกจากโฆษกกองทัพบกแล้ว “เสธ.ไก่อู” ยังเป็นรองผู้บัญชาการโรงเรียนกิจการพลเรือน กรมกิจการพลเรือนทหารบก ทำหน้าที่ดูแลโรงเรียนในหลายด้าน โดยเฉพาะงานประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจในการปฏิบัติงานร่วมกันทั้งในและนอกกองทัพ
“ตำแหน่งหลักของผมคือ เป็นรองผู้บัญชาการโรงเรียนกิจการพลเรือน กรมกิจการพลเรือนทหารบก มีหน้าที่สอน อบรม เกี่ยวกับงานด้านกิจการพลเรือน งานปฏิบัติการด้านจิตวิทยา งานประชาสัมพันธ์ต่อบุคลากรทั้งภายในและนอกกองทัพบก เพื่อสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างภายนอกกับกองทัพ และฝึกปฏิบัติผู้ที่จะทำหน้าที่ในเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ของกองทัพให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้”
ล่าสุด เสธ.ไก่อู ยังบอกว่า เขาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ชำนาญการของกองทัพบก มีผลวันที่ 1 ตุลาคมนี้ “...ตำแหน่งผู้ชำนาญการของกองทัพบก ไม่ได้เป็นตำแหน่งหลักครับ สุดแล้วแต่ว่าผู้บังคับบัญชาจะมอบหมายภารกิจในเรื่องอะไรให้ ซึ่งในวันนี้ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ผมมาช่วยงานในฝั่งทำเนียบรัฐบาล ผมก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่”
นักข่าวถามพันเอกสรรเสริญแบบตรงประเด็นว่า นายกฯมอบหมายให้เข้ามาทำงานอะไรบ้าง? เขาตอบทันทีว่า 1.รัฐบาลมอบหมายทีมโฆษกว่า ให้ช่วยอธิบายความ ชี้แจง ทำความเข้าใจในนโยบายของรัฐบาล 2. หน่วยงานต่างๆทั้งกระทรวง ทบวง กรม ที่รับนโยบายไปปฏิบัติงานแล้ว ทำอะไรคืบหน้าไปถึงไหน รวมทั้งเรื่องที่พี่น้องประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษว่าแต่ละเรื่องมีที่มาที่ไปอย่างไร ท่านนายกฯเน้นว่า อยากให้ใช้ภาษาที่ประชาชนเข้าใจได้ง่าย
แต่การทำความเข้าใจ ไม่ได้หมายความว่าเราจะพูดๆๆอย่างเดียว แต่ความเข้าใจทั้งหลายเหล่านั้นจะประจักษ์และเกิดผลสำเร็จ ท่านนายกฯบอกว่ามี 2 ประการ 1.คือมีความชัดเจนในนโยบาย 2.การปฏิบัติของหน่วยที่จะดำเนินให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบ โปร่งใสจริงๆ และตอบโจทย์ที่ให้คำสัญญากับพี่น้องประชาชนไว้
“การอธิบายความ ประชาสัมพันธ์โดยทีมโฆษก เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น แต่สังคมจะตอบรับหรือจะยอมรับ หรือมีความหวังก็ต่อเมื่องานที่กระทรวง ทบวง กรม ทั้งหลาย ได้ถูกขับเคลื่อนเป็นมรรคผล นั้นแหละคือสิ่งที่สำคัญมากกว่า” พันเอกสรรเสริญ กล่าว
พันเอกสรรเสริญ อธิบายเพิ่มเติมว่า ท่านนายกฯเน้นการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าทำจริงตามนโยบายที่ให้ไว้หรือไม่ และจะมีการตรวจการบ้านทั้งขาลงและขาขึ้น
“คำว่าขาลงคือ ท่านนายกฯให้เป็นนโยบายและจะตรวจสอบความเข้าใจของหน่วยงานระดับกระทรวง กรม ด้วยการให้มีแผนปฏิบัติการ หมายความว่าท่านให้นโยบายไว้ 11 ข้อใหญ่ แต่ในข้อใหญ่ มีข้อย่อย ดังนั้นเมื่อรับนโยบายไปแล้ว แต่ละกระทรวง ทบวง กรม จะต้องเอาแผนงานของตัวเองขึ้นมาจับแล้วนำเสนอย้อนกลับมาทางรัฐบาลว่า ท่านจะทำอะไรบ้าง”
“ท่านนายกฯบอกว่า เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่เป็นแผนงานประจำปีของแต่ละกระทรวง ทบวง กรม มีอยู่แล้ว เพียงแต่ท่านไปคัดเลือกมาว่างานที่ท่านวางแผนไว้ อะไรที่สอดคล้องและตรงกับนโยบายที่รัฐบาลใหม่ ก็ทำเป็นเรื่องเร่งด่วนก่อน แล้วก็ส่งกลับมาเป็นแผนปฏิบัติการ รัฐบาลจะได้รู้ว่าสิ่งที่เราได้ให้นโยบายลงไป ท่านเข้าใจตรงกันหรือไม่ แล้วท่านจะทำอะไร ซึ่งสิ่งที่ส่งกลับมานี้แหละจะเป็นคัมภีร์ในการที่จะใช้ลงไปตรวจราชการ ไม่ใช่ท่านตรวจคนเดียว ใครก็แล้วที่อยู่ในหน้าที่ ก็นำคัมภีร์นี้ไปตรวจ นี่เรียกว่าการตรวจงานขาลง”
“ส่วนขาขึ้นคือ หลังจากที่กระทรวง ทบวง กรม ได้รับนโยบายและเสนอมาว่าจะทำอะไรเรียบร้อยแล้ว ได้เริ่มปฏิบัติภารกิจไปแล้ว ท่านนายกฯจะมีการตรวจงานอีก ด้วยการทำรายงานการปฏิบัติงานเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่ท่านจะทำในแต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน คืบหน้าถึงไหน”
“นี่คือการตรวจการบ้าน ซึ่งท่านนายกฯมั่นใจว่า ตรงนี้จะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์สังคม ไม่ใช่แค่การพูดหรืออธิบายความโดยทีมโฆษก แต่จะตอบโจทย์ด้วยงานที่ถูกผลิตขึ้น การอธิบายเป็นเพียงการเสริมเพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง” พันเอกสรรเสริญ กล่าวย้ำ
หลังจากทำงานในทำเนียบมา 2 สัปดาห์ เสธ.ไก่อู เล่าว่า มีรายงานจากทีมว่าเรื่องที่เราได้สื่อสารหรือชี้แจงออกไป สังคมได้ให้ความสนใจและให้ความสำคัญ อยู่ในเกณฑ์ที่เราสื่อสารได้ตรงกับที่เราได้รับผลสะท้อนกลับมา ยังไม่มีอะไรผิดเพี้ยนไป แต่เขากลับสะท้อนว่า ยังไม่ชินกับการประชุมคณะรัฐมนตรี?
“ผมยังไม่ชิน เพราะสมัยผมอยู่กองทัพบก การประชุมมีข้อมูลครบถ้วน ครบถ้วนที่ว่าคือ มีที่มาที่ไป แต่ละเรื่องมีรายละเอียดการปฏิบัติว่าใครจะต้องปฏิบัติตรงไหน อย่างไร เมื่อปฏิบัติแล้วจะมีผลอย่างไร แล้วหน่วยงานไหนที่ต้องปฏิบัติ แต่ของคณะรัฐมนตรีก็มีความชัดเจนครับ เพียงแต่การประชุมในแต่ละวัน เรื่องมันเยอะ แล้วมีระยะเวลาสั้นหลังจากประชุมเสร็จ ทานข้าวเสร็จ ไม่เกินชั่วโมงกว่าๆก็ต้องมาแถลง”
“รู้สึกส่วนตัวไปเองว่า ข้อมูลยังไม่สามารถลงรายละเอียดได้ พี่หมอ ท่านโฆษกฯ (ร้อยเอกนายแพทย์ยงยุทธ มัยลาภ) ท่านก็ให้กำลังใจผมบอกว่า ไก่อูอย่าวิตกกังวล มันเป็นอย่างนี้แหละ เพราะเป็นระดับนโยบาย จึงพูดกันในภาพกว้าง คงลงรายละเอียดอะไรมากไม่ได้”
“หากอยากรู้รายละเอียดที่ไปขยายผลวันหน้า ก็ต้องตามลงไปในระดับกระทรวง ระดับกรมว่า ในแต่ละเรื่องมีผลในการปฏิบัติอย่างไร เมื่อทำไปแล้ว ส่งผลให้การติดต่อระหว่างเรากับต่างประเทศเกิดมรรคผลอะไรขึ้นบ้าง แล้วก็ค่อยไปขยายผลอีกที แต่ตอนนี้ทำใจให้สบายก่อน ฟังพี่หมอเล่าก็สบายใจขึ้นในระดับหนึ่ง”
“ทว่า ผมก็คุยกันภายในทีมงานว่า เรื่องประเด็นการเมือง ประเด็นความมั่นคง การชี้แจงอธิบายความประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ได้รบผลกระทบ ผมจะรับมา ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายทั่วไป ก็จะเป็นหน้าที่พี่หมอ”
นักข่าวถามตรงๆว่าหนักใจหรือเปล่า? คำตอบที่ได้รับคือ “...ปกติ ผมทำอะไรผมก็หนักใจทุกเรื่อง เพราะว่าผมป็นคนล่กๆ ไม่ค่อยชอบหยิบสด ก็อยากเตรียมข้อมูล ไม่อยากตอบอะไรแบบงูๆปลาๆอยากทำการบ้านให้เต็มที่ ทำหน้าที่เต็มที่ ทำได้มากน้อยดีไม่ดีแค่ไหนก็ฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์”
เขาบอกว่า การสื่อสารจะเกิดมรรคผล ข้อมูลต้องมีความชัดเจน ต้องรู้ในรายละเอียด หากยังไม่ทราบข้อมูลต้องถามจากผู้รู้ข้อมูลในเรื่องนั้น เมื่อได้ข้อมูลชัดเจนแล้ว ต้องอธิบายความให้สังคมเข้าใจได้ในภาษาที่เข้าใจได้ ไม่ต้องแปลไทยเป็นไทยมากมาย นี่เป็นเรื่องสำคัญ และรอฟัง ตรวจสอบ จากข้อมูลที่เราให้ลงไปแล้วย้อนกลับมาติดตามทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ โซเชียลเน็ตเวิร์ค ทั้งหลายว่า ตรงกับวัตถุประสงค์ที่เราอธิบายไปหรือไม่
“เราตั้งเป้าหมายว่าเราอธิบายแบบนี้ แต่การนำไปเล่าสู่สังคมอีกต่อหนึ่งตรงกับที่เราต้องการสื่อสารมั๊ย ผมคิดว่า นี่คือสิ่งสำคัญ ซึ่งวันนี้ผมก็พยายามปรับตัวอยู่ครับ ควบคู่ไปกับการทำงาน เพราะท่านนายกฯบอกแล้วว่าเรามีเวลาจำกัด ผมคิดว่าถ้าตั้งใจทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ก็พอไปได้ครับ”
กับคำถามเรื่องการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย? รองโฆษกรัฐบาลสะท้อนคำตอบนี้ว่า “...มุมมองหนึ่งที่ผมอยากจะสะท้อนเรื่องการปฏิรูปประเทศร่วมกันก็คือ เมื่อทุกฝ่ายทุกส่วนต้องปฏิรูป สื่อเองก็เช่นกัน เพราะท่านทำหน้าที่สะท้อนมุมมองของสังคม”
“ในความรู้สึกของผมจึงอยากจะขอให้ท่านมีส่วนร่วมในการสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดองสมานฉันท์เพื่อให้ประเทศชาติพร้อมในการเดินหน้าพัฒนาและปฏิรูป ด้วยการนำเสนอสาระของข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะการพาดหัวข่าวในเชิงสร้างสรรค์”
เสธ.ไก่อู ขยายความว่า “...การที่สื่อสะท้อนข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่ดีมากครับ แต่เป็นไปได้หรือไม่ที่จะลดการใช้ถ้อยคำที่อาจจะสร้างความรู้สึกว่าไม่ให้เกียรติกัน แล้วหันมาช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือ ให้กับผู้นำของประเทศ เพราะถือว่ามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนบ้านเมืองไปข้างหน้าและเสถียรภาพของไทยในสายตาของชาวต่างชาติ”
“ผมไม่ได้หมายถึงท่านนายกฯคนปัจจุบันเท่านั้นครับ แต่อยากให้สื่อมวลชนให้เกียรติกับนายกฯทุกท่านของเมืองไทย สมควรได้รับเกียรติอันเหมาะอันควร ไม่อยากให้สื่อใช้คำหนักๆในเชิงเย้ยหยันเพื่อสังคมไทยจะได้เดินหน้าปฏิรูปไปด้วยกันอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกันทุกกลุ่มทุกฝ่าย(ครับ)"
ถามว่ามองสังคมไทยอย่างไรในช่วงการเปลี่ยนผ่าน?
พันเอกสรรเสริญ กล่าวว่า “...เป็นวัฏจักร(นะ) ท่านายกฯ พูดไว้หลายเวทีในกองทัพบกว่า เราไม่ได้เป็นอะไรที่ผิดแผกแตกต่างไปจากประเทศอื่น เพียงแต่ว่าประเทศเรามีความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรงช้ากว่าคนอื่นๆ 100 ปี บ้านอื่นเมืองอื่นเขาก็เป็นมาแบบนี้ บางแห่งเขาหนักกว่าเราด้วยซ้ำไป แต่เป็นวิวัฒนาการของสังคมที่เราต้องเรียนรู้”
“เมื่อเราเรียนรู้ว่าสิ่งต่างๆและได้บทเรียนมาแล้ว ฉะนั้นก็ต้องพยายามทำบ้านเมืองให้ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ ด้วยความตั้งใจของทุกคน ไม่เฉพาะทหาร รัฐบาล แต่ต้องเป็นทุกหน่วยงานทุกองค์กร ต้องช่วยกันประคับประคองให้สิ่งนี้ผ่านไป”
“สิ่งใดที่เป็นความขัดแย้ง ท่านต้องตั้งใจที่จะฟังคนอื่นบ้าง หากท่านเอาความคิดท่านเป็นที่ตั้ง ชาติหนึ่งก็คุยกันไม่จบ แต่ถ้าท่านทำใจให้ร่มๆ พูดให้น้อยลง ฟังคนอื่นให้มากขึ้น จะได้มุมมอง อารมณ์เย็นขึ้น แล้วก็มีสติที่จะตกลงใจไตร่ตรองว่าเราจะทำอะไรอย่างไรกัน”
“อย่าไปคิดว่าถ้าไม่ถูกใจจะไม่ยอมรับ เพราะประเทศประกอบด้วยหลายภาคส่วน ฉะนั้นอะไรที่จะแสวงจุดร่วมก็น่าจะต้องทำเพื่อให้ผ่านวิกฤตต่างๆไปได้ แต่เป็นการแสวงจุดร่วมที่ประสงค์ดี มุ่งดีต่อชาติบ้านเมือง(นะ) ท่านนายกฯให้สติไว้ ท่านเป็นพี่ เป็นผู้บังคับบัญชาผม ผมฟังแล้วก็เห็นว่าใช่ และถูกต้อง(ครับ)” รองโฆษกรัฐบาลสรุปทิ้งท้าย