แม่ร้องสภาทนายความฯ ลูกสาวถูกล่วงละเมิด หวั่นไม่ได้รับความเป็นธรรม
แม่พาบุตรสาววัย 10 ปี ร้องเรียนสภาทนายความฯ หลังถูกละเมิดทางเพศ หวั่นไม่ได้รับความเป็นธรรม ‘เดชอุดม’ ยันช่วยเหลือเต็มที่ตามหลักสิทธิเด็ก เเนะรัฐตระหนักคุ้มครองเด็กอันดันเเรก ไม่ต้องรอคดีจบ ระบุความปลอดภัย สภาพจิตใจ เป็นเรื่องสำคัญ
วันที่ 25 กันยายน 2557 ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวการให้ความช่วยเหลือแก่นางสาว ก. (นามสมมติ) อายุ 29 ปี จ.พังงา มารดาของด.ญ.เอ (นามสมมติ) อายุ 10 ปี ที่บุตรสาวถูกล่วงละเมิดทางเพศจากนายเล็ก โดยมารดาได้แจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจภูธรตะกั่วป่า จ.พังงา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
นายเดชอุดม กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ได้รับการเปิดเผยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2557 เมื่อนางสาว ก.สังเกตพฤติกรรมน่าสงสัยในตัวบุตรสาวมีเงินซื้อขนมมากผิดปกติ จึงได้สอบถามความจริง พบว่า ถูกนายเล็กล่วงละเมิดทางเพศมาหลายครั้ง โดยให้เงินครั้งละ 50 บาท พร้อมข่มขู่ไม่ให้นำเรื่องไปฟ้องใคร มิเช่นนั้นจะขู่ทำร้ายร่างกายจนถึงขั้นเสียชีวิต
ทั้งนี้ ปัจจุบันความคืบหน้าของคดีอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตะกั่วป่า คดีอาญาเลขที่ 277/2557 สำหรับผู้ต้องหานั้น หลังจากสอบสวนแล้วได้ควบคุมตัวและฝากขังในชั้นแรก 5 วัน จึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
นายกสภาทนายความฯ กล่าวอีกว่า เมื่อผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ได้มีกลุ่มวัยรุ่นขับรถจักรยานยนต์วนเวียนอยู่หน้าบ้านของผู้ร้องคดี จึงทำให้ด.ญ.เอไม่กล้าไปโรงเรียน เพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัยและใช้ชีวิตตามปกติได้ ส่วนนางสาว ก. ก็ต้องถูกออกจากงาน เพราะหยุดงานบ่อย เนื่องจากใช้เวลาส่วนใหญ่ในการดูแลบุตรสาว
“เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 ภรรยาและญาติของผู้ต้องหาได้มารบเร้าและแจ้งให้ด.ญ.เอ กลับคำให้การ ยอมความไม่เอาผิด โดยภรรยาของผู้ต้องหายื่นข้อเสนอให้เงินจำนวน 500,000 บาท หรือแต่งงาน แต่ผู้ร้องคดีไม่ตกลง” นายเดชอุดม กล่าว และว่านางสาว ก. จึงขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสภาทนายความฯ เนื่องจากกลัวว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งในขณะนี้ได้รับเรื่องแล้วและยืนยันจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
สำหรับสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็กที่จะได้รับความคุ้มครองนั้น นายกสภาทนายความฯ ระบุว่า เด็กต้องได้รับความช่วยเหลือทุกเรื่องตามสิทธิมาตรฐานเป็นอันดับแรก แต่ปัจจุบันไทยยังดำเนินการขั้นตอนดังกล่าวเป็นอันดับหลัง เพราะฉะนั้นฝ่ายรัฐต้องเข้ามาช่วยทันที มิใช่รอให้คดีจบลงก่อนถึงเข้ามาช่วยเหลือ เนื่องจากความปลอดภัย สภาพจิตใจ และการศึกษา ของเด็ก ถือเป็นเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่าง การให้นักจิตวิทยาเข้ามาให้คำปรึกษา อย่างไรก็ตาม หากไทยดำเนินการไม่จริงจัง เชื่อว่าในอนาคตจะกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย เพราะเนื่องจากปัญหาด้านจัดอันดับเรื่องการค้ามนุษย์ที่ลดลงไปอยู่อันดับต่ำสุดในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
"การช่วยเหลือเบื้องต้นในต่างประเทศกรณีล่วงละเมิดทางเพศจะมีการย้ายถิ่นฐานที่อยู่ใหม่หมด แต่ในไทยยังไม่มี เพราะเงินถือเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่ง อีกทั้งการช่วยเหลือทางด้านงาน การศึกษา ต่าง ๆ ด้วย” นายเดชอุดม กล่าวทิ้งท้าย .