ก.พลังงานไม่ฟันธงเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ก๊าซ LNG จะลดนำเข้าได้
นักวิชาการชี้ ‘สิทธิมนุษยชน’ เป็นหัวใจปฏิรูปพลังงาน เร่งยกเครื่อง กม.ปิโตรเลียมทั้งฉบับ ให้สิทธิ ปชช.เข้าถึง ตรวจสอบได้ ‘ม.ล.กรกสิวัฒน์’ ท้าเปิดราคาประมูลสัมปทานที่ผ่านมา ผู้แทน ก.พลังงานไม่ฟันธงเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ก๊าซ LNG จะลดนำเข้า
วันที่ 25 กันยายน 2557 คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดสัมมนา ‘พลังงานปิโตรเลียมในมิติสิทธิมนุษยชน เพื่อคืนความสุขสู่ประชาชน’ ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ปากท้องของคนไทยถูกละเมิดสิทธิและถูกกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรปิโตรเลียม จนทำให้ประเทศตกอยู่ในความเสี่ยงด้านความมั่นคง ซึ่งมีต้นเหตุจากกฎหมาย แม้พลังงานปิโตรเลียมเป็นเรื่องยากและซับซ้อน แต่ก็มิได้ซับซ้อนจนเกินความสามารถของเราจะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ในสังคมตามกรอบวิชาการ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเหตุผลสะท้อนความเป็นจริงในสังคมไทย จะพบว่า แท้จริงแล้วพลังงานมีหลายมิติ แต่บ่อยครั้งการพูดถึงปัญหามักถูกจำกัดไว้อย่างแคบแค่มิติการบริหารจัดการและตัวเลขบางตัว จนติด ‘กับดัก’ เทคนิคและการจัดการหรือไม่ นำไปสู่การละเลยพูดถึงพลังงานปิโตรเลียมในมิติอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้การแก้ไขจึงทำไม่ถึงต้นตอ เพราะการแก้ปัญหามักอยู่แค่ปลายเหตุ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
นักวิชาการ นิด้า กล่าวต่อว่า การพิจารณาปัญหาหลากหลายมิติจึงจะทำให้การมองปัญหารอบด้านมากขึ้น อันจะนำประโยชน์อย่างยั่งยืนไปสู่การปรับปรุง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานแห่งรัฐ ตลอดจนกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนและประเทศชาติในวงกว้างอย่างมีนัยยะสำคัญอย่างยิ่ง
“ ‘สิทธิมนุษยชน’ เป็นหัวใจของการปฏิรูปพลังงาน กล่าวคือ สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรปิโตรเลียม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างกระจายตัว รวมถึงสิทธิการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาชุมชนที่อาศัยอยู่” รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย กล่าว และว่า ไม่ใช่สิทธิมนุษยชนแบบมักได้ตามวาทกรรมที่ปากฝรั่งเปิดเสรีการค้าการลงทุนบนผลประโยชน์และกำไรอันแฝงเร้นของมหาอำนาจและบริษัทพลังงานอย่างกระจุกตัวในหมู่คนรวยต่างชาติเท่านั้น
นักวิชาการ นิด้า ยังกล่าวถึงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 บางมาตราที่ส่งผลต่อความเสี่ยงคุกคามสิทธิประชาชนและกระทบความมั่นคงของรัฐ โดยยกตัวอย่าง มาตรา 15 ว่าด้วยคณะกรรมการปิโตรเลียม ล้วนมาจากข้าราชการและเครือข่ายนักการเมือง ทำให้รัฐไม่ให้ความสำคัญกับประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรตัวจริง
ส่วนการทำนโยบายด้านพลังงานไม่มีผู้แทนจากผู้บริโภค ภาคประชาชนที่รับผลกระทบโดยตรง หรือผู้ทรงคุณวุฒิรอบรู้ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้ระบบการจัดการพลังงานของรัฐและบริษัทพลังงานขาดความโปร่งใส หรือตรวจสอบได้ยาก
มาตรา 22 ว่าด้วยรัฐมนตรีตามคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจมากเกินไป อยู่ภายใต้การควบคุมหรือกำกับจากฝ่ายการเมือง ขาดการยึดโยงหรือมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วนมาตรา 28 มีการให้สิทธิกำหนดแปลงสัมปทานเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นการเอื้อประโยชน์กับบริษัททุนขนาดใหญ่
“พลังงานต้องจัดสรรให้คนในประเทศใช้เพียงพอก่อน เมื่อเหลือจึงค่อยส่งออก แต่ที่ผ่านมาการปฏิบัติไม่เป็นเช่นนั้น จึงถือเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน” รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย กล่าว และว่ามีผู้บริหารบริษัทพลังงานบางรายระบุ น้ำมันเป็นสินค้าเสรี หากกีดกันการส่งออกถือเป็นชาตินิยมพลังงาน ซึ่งต้องถามกลับไป ความจำเป็นของประชาชนควรมาก่อนผลกำไรของบริษัทมากกว่ามิใช่หรือ?!?!
นักวิชาการ นิด้า จึงเสนอให้แก้ที่กฎหมายเป็นหลัก ด้วยการกำหนดรัฐธรรมนูญใหม่ให้ชัดเจนว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นของประชาชนคนไทย รัฐจะเป็นผู้ควบคุมและนำมาใช้ประโยชน์เพื่อบำรุงการอยู่ดีกินดี พร้อมให้ยกร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับใหม่ และสนับสนุนใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract:PSC) แทนระบบสัมปทาน ที่สำคัญ ต้องหยุดการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ไว้ก่อน เพื่อรอให้รัฐจัดระบบใหม่
“ระยะยาวต้องปฏิรูปเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ ภายใต้กรอบเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนการใช้พลังงานให้อย่างเหมาะสมกับการเติบโตของธรรมชาติ ไม่ใช่ต่างออกมาพูดว่า อีกไม่กี่ปีพลังงานจะหมดแล้ว ที่สำคัญ ต้องมีเข็มทิศให้ชัดว่าหุ้นพลังงานต้องเป็นของรัฐไทย 70% และจัดหาบริษัทระดับโลกสำรวจปริมาณพลังงานปิโตรเลียมที่แน่นอน เพื่อทราบปริมาณเหลือแท้จริง” รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย ทิ้งท้าย
ด้านดร.วิศรุต ตั้งสุนทรขัณฑ์ วิศวกรปิโตรเลียมชำนาญการพิเศษ ในฐานะผู้แทนกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงโอกาสการพัฒนาฐานการผลิตทรัพยากรพลังงานปิโตรเลียมว่า การเปิดระบบสัมปทาน 20 รอบที่ผ่านมานั้น มีความสำเร็จในแง่การผลิตไม่เพียงพอ เพราะไทยไม่ใช่พื้นที่ศักยภาพปิโตรเลียม เมื่อเทียบกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย จึงจำเป็นต้องเร่งให้เปิดระบบสัมปทานรอบที่ 21
ทว่า ไทยมีปริมาณสำรองถึงปี 2565 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า ฉะนั้นทำอย่างไรให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรได้ เนื่องจากจะไม่สามารถต่ออายุสัมปทานได้อีกแล้ว ทั้งนี้ หากไม่ดำเนินการอย่างไรเลย ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ( Liquefied Natural Gas: LNG) กว่า 50% ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ พร้อมยืนยัน ระบบสัมปทานนี้ได้เปิดเผยโปร่งใสมากที่สุดแล้ว
เมื่อถามว่าไทยจำเป็นต้องรีบเปิดระบบสัมปทาน รอบที่ 21 เพื่อความมั่นคงของประเทศ จะทำให้การนำเข้าก๊าซ LNG ลดลงหรือไม่ ผู้แทนกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ขึ้นอยู่กับปริมาณการสำรวจปิโตรเลียมที่เพิ่มมากขึ้น เพราะความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะฉะนั้นการนำเข้าก๊าซ LNG เพื่อให้เพียงพอกับปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ส่วนการสำรวจเจอต่อเนื่องนั้นถือว่าจะช่วยทดแทนการนำเข้าให้น้อยลง
ขณะที่ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร ม.รังสิต กล่าวถึงกรณีความเข้าใจรัฐจะมีความเสี่ยงหากใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตว่า ไม่เป็นความจริง พร้อมกับอ้างบทความวิชาการของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติฉบับหนึ่ง ระบุความเสี่ยงเป็นของผู้ลงทุนเอกชน เพียงแต่เมื่อเจอแหล่งพลังงานสามารถมาชวนรัฐร่วมลงทุนได้ ส่วนระบบสัญญาสัมปทานเป็นการอาศัยความรู้ของเอกชน ซึ่งต้องพึ่งพิงไปตลอด
สำหรับสิ่งที่อยากเห็นในอนาคต ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร ระบุว่า ต้องการให้มีการใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต โดยให้รัฐถือครองกรรมสิทธิ์แทนประชาชน ได้รับน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติแทนค่าภาคหลวง หากเหลือจึงค่อยส่งออก ระบบนี้ต่างหากเป็นสิ่งที่ถามหาจะดีกว่าระบบเดิมหรือไม่ ทั้งนี้ ไม่มีกฎตายตัว ทุกอย่างสามารถปรับเปลี่ยนได้ภายใต้ระบบดังกล่าว และว่าหากเร่งรัดให้เปิดระบบสัมปทานรอบที่ 21 ขอเรียกร้องให้เปิดเผยราคาประมูลระบบสัมปทาน 20 รอบที่ผ่านมาก่อนได้หรือไม่
ส่วนประเด็นการแบ่งปันผลประโยชน์ของ ปตท.ไม่มีความเหมาะสม ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผอ.สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรากำลังตกเป็นเหยื่อล่อให้เข้าไปอยู่ในความเชื่อดังกล่าว ซึ่ง ปตท.ได้รับกำไรราว 2 แสนล้านบาท/ปี ซึ่งรัฐเป็นผู้จัดเก็บเพื่อนำไปบำรุงประเทศตามนโยบายรัฐบาลแต่ละยุค หากประชาชนไม่ได้รับส่วนแบ่งดังกล่าวให้ไปตำหนิรัฐบาลนั้น พร้อมระบุถึงที่มาของกำไรเกิดจากการลงทุนในหลาย ๆ โครงการของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ. และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นลงของราคาน้ำมันในประเทศเลย ทั้งหมดเกี่ยวเนื่องการนโยบายภาษีของรัฐ .
ภาพประกอบ:www.scholarship.in.th