กรมศุลกากร ติดทุกโผ หน่วยงานคอร์รัปชั่นมากสุด
เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 25 กันยายน 2557 เวลา 20:28 น.
เขียนโดย
thaireform
หมวดหมู่
Tags
นักเศรษฐศาสตร์ เปิดผลงานวิจัยพบ 3 กระทรวงคมนาคม เกษตรฯ มหาดไทย มีมีมูลค่าเสียหายคิดเป็นตัวเงินจากการทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุด
วันที่ 25 กันยายน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนาวิชาการ เรื่องการยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวของไทย ณ ห้องประชุมชั้น 2 ทีดีอาร์ไอ ภายในงานมีการนำเสนอโครงการวิจัยหลายชิ้น ทั้งเรื่องคอร์รัปชั่นกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ,ตลาดแรงงานในบริบทการพัฒนาประเทศ, สังคมผู้สูงอายุ, การปรับโครงสร้างการผลิตก้าวข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และการปฏิรูประบบสถาบันทางเศรษฐกิจสู่โมเดลการพัฒนาใหม่
สำหรับงานวิจัย “การคอร์รัปชั่นกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ “ โดยดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล และนายธร ปีติดล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอผลกระทบจากการคอร์รัปชั่นในรูปแบบต่างๆ นั้นส่งผลต่อการการเติบโตทางเศรษฐกิจ กระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนจากต่างประเทศ รวมไปถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
โดยประเด็นน่าสนใจอยู่ที่ลักษณะการคอร์รัปชั่นในประเทศไทย ในงานวิจัยได้ระบุหน่วยงานที่คอร์รัปชั่นมากที่สุด วัดจากสัดส่วนต่องบประมาณของมูลค่าความเสียหายทางการเงิน จากการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) 2550-2551 ใน 18 กระทรวง พบว่า 3 กระทรวง ที่มีมีมูลค่าเสียหายคิดเป็นตัวเงินจากการทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุด คือ กระทรวงคมนาคม มูลค่า 3,240 ล้านบาท รองลงมากระทรวงมหาดไทย (ไม่รวมส่วนราชการท้องถิ่น) มูลค่า 1,721 ล้านบาท และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีมูลค่าความเสียหายเป็นตัวเงิน 1,464 ล้านบาท
ส่วนกระทรวงพลังงาน กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงวัฒนธรรม อยู่ลำดับท้ายๆ
- หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจนักธุรกิจเห็นว่ามีการคอร์รัปชั่นมากที่สุด คือ กรมศุลกากร กรมตำรวจ และกรมสรรพากร
- หน่วยงานที่ธุรกิจจ่ายเงินพิเศษเฉลี่ยต่อปีสูงสุด คือ กรมศุลกากร หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และกรมสรรพากร
- หน่วยงานที่ผู้ติดต่อมักถูกเรียกกร้องสินบนบ่อยครั้งที่สุด คือ สำนักงานกรมที่ดิน กรมศุลกากร และกรมตำรวจ
นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังอ้างอิงรายงานประจำปีของป.ป.ช. โดยระบุถึงจำนวนเฉลี่ย ต่อปีของเรื่องร้องเรียน และเรื่องที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดระหว่างปี 2551-2553 พบว่า กระทรวงมหาดไทยมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาสูงสุด เฉลี่ยปีละ 1,544 เรื่อง และสามารถชี้มูลความผิดปีละประมาณ 36.7 เรื่อง ไม่สังกัดกระทรวง 512 เรื่อง ชี้มูลความผิดปีละ 11 เรื่อง กระทรวงศึกษาธิการ 199 เรื่อง ชี้มูลปีละ 7 เรื่อง กระทรวงคมนาคม 75 เรื่อง ชี้มูลปีละ 1.7 เรื่อง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ 70.7 เรื่อง ชี้มูลความผิดปีละ 1.3 เรื่อง
ส่วนจำนวนข้าราชการ ที่ถูกร้องเรียนต่อป.ป.ช.ต่อสัดส่วนบุคลากร 1,000 คนระหว่างปื 2550-2552 พบว่า กระทรวงเทคโนโลยีฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ในลำดับต้นๆ
สุดท้ายลักษณะการคอร์รัปชั่นในประเทศไทย จากการศึกษาตามหน่วยงานพบว่า ตำรวจนครบาล ศุลกากร กรมทางหลวง กระทรวงเกษตรฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คอร์รัปชั่นผ่าน "กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง" มากที่สุด การคอร์รัปชั่นในรูปแบบการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ พบใน 2 หน่วยงาน คือ กรมศุลกากร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ขณะที่การปราบปรามสิ่งผิดกฎหมาย พบการคอร์รัปชั่นในหน่วยงานของตำรวจนครบาล และกรมศุลกากร และการคอร์รัปชั่นครบวงจรผ่านโครงการขนาดใหญ่จะพบที่ กรมทางหลวง ส่วนการการทุจริตฯผ่านการฉวยโอกาสจากกระบวนการช่วยเหลือของรัฐพบที่กระทรวงเกษตรฯ การคอร์รัปชั่นประเภทการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องและกลุ่มทุนผ่านการจัดสรรงบประมาณ พบว่า กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและอปท. และสุดท้ายการทุจริตด้วยผ่านการออกกฎหมายในการสัมปทานและการแปรรูป พบว่า เป็นการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย
ด้านรศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงรูปแบบคอร์รัปชั่นว่า มีบางงานวิจัยที่ระบุ การคอร์รัปชั่นก็อาจส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศที่ยากจน หรือเริ่มต้นการพัฒนา จะพบว่า หน่วยงานราชการถือเป็นหน่วยงานที่ไม่มีประสิทธิภาพมากสุด ทั้งเรื่องการอนุมัติ อนุญาติ ช้าไปหมด ตัวอย่างเช่น กรมศุลกากรของไทยในอดีต ที่กว่าจะนำสินค้าเข้า ออก จากท่าเรือมาได้นั้นใช้เวลานานมาก
"หรือแม้แต่กรมศุลกากรบางประเทศก็ใช้เวลานับอาทิตย์ ฉะนั้น กระบวนการจ่ายเงิน หล่อลื่น หรือจ่ายใต้โต๊ะ ทำให้กระบวนการทำงานเร็วขึ้น ประกอบกับข้าราชการยากจน มีเงินเดือนน้อย"ดร.นวลน้อย กล่าว และว่า แม้การคอร์รัปชั่นอาจส่งบวกบ้างต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาระยะยาว ซึ่งภาครัฐถูกกดดันให้ปรับปรุง มีประสิทธิภาพดีขึ้น
ดร.นวลน้อย กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทยช่วงเริ่มต้นพัฒนาประเทศ ธุรกิจหรือบริษัทที่เข้ามาแข่งขันไม่ได้ต่างกันมาก แต่การที่มีการเสนอเงินคอร์รัปชั่น จ่ายใต้โต๊ะแล้วอาจได้งานนั้นไป อาจทำให้กลายเป็นบริษัที่แข็งแกร่งอย่างในปัจจุบันก็ได้ พร้อมกันนี้ยังเชื่อว่า หากไปเช็คประวัติดูบริษัทในประเทศไทยจะพบน้อยรายมากที่เกิดขึ้นมาจากการมีนวัตกรรม หรือเก่งก่อน แต่เป็นเพราะเคยได้รับการเอื้อประโยชน์บางประการทำให้กลายเป็นแข็งแกร่ง หากเห็นภาพพลวัตรแบบนี้การจัดการกับเรื่องนี้อาจมีข้อเสนอที่แตกต่างกว่าการมองมิติเดียว