นักวิจัยชี้พื้นที่เกษตรเกือบ 30 ล้านไร่ ติดจำนอง เสี่ยงสูงเสียที่ดินทำกิน
นักวิชาการเผยงานวิจัยเกษตรกรไทยเป็นหนี้ครัวเรือนสูง80% พบพืันที่ประโยชน์ทางการเกษตร 149 ล้านไร่ ติดจำนองสูงถึง29.72 ล้านไร่ ด้านรองประธานกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความฯ แนะรัฐบาลเข้าสนับสนุนจริงจัง-นักวิชาการทำวิจัยให้เห็นภาพเพื่อแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จ
เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดนร่วมกับสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) และศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์และการเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการ “การสูญเสียที่ดินของชาวนาภายใต้ระบบสินเชื่อของสถาบันการเงิน” ณ ห้อง 209 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ โดยมีนางสุวณา สุวรรณจูฑะ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยภายในงานยังมีกลุ่มชาวนาภาคกลางที่สูญเสียที่ดินจากระบบสินเชื่อของสถาบันการเงิน เช่น ชัยนาท เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
รศ.ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาการสูญเสียที่ดินในปัจจุบันนี้ว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ 320 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรจำนวน 149 ล้านไร่มีเพียง 71.59 ล้านไร่ที่เป็นของเกษตรกรเอง ส่วนที่เหลือจะเป็นพื้นที่เช่า
"เรียกว่า พื้นที่ทางการเกษตรเกินครึ่งติดจำนอง (29.72 ล้านไร่) อีก 11.5 ล้านไร่อยู่ในช่วงการขายฝาก ซึ่งจากการศึกษาการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรในภาคกลางพบว่า สาเหตุหลักของการสูญเสียที่ดินคือทำไปเพราะต้องการปลดหนี้"
ทั้งนี้ สถานการณ์การเป็นหนี้ของเกษตรกร พบว่า ร้อยละ 80 ของครัวเรือนเกษตรกร เป็นหนี้ในระบบ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น ขณะที่หนี้นอกระบบน้อยลง ซึ่งแหล่งเงินกู้ที่สำคัญที่สุดของกลุ่มเกษตรกร คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.)
รศ.ดร.เขมรัฐ กล่าวด้วยว่า แนวคิดที่ถูกนำมาใช้กับกลุ่มเกษตรกรในเรื่องการกู้ยืมนั้นจะเป็นแนวคิดแบบนีโอคลาสสิก คือเกษตรกรร่วมกับสถาบันการเงินเปิดช่องทางอย่างเท่าเทียมกันให้กลไกการตลาดกำหนดอุปสงค์อุปทาน เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นจึงเกิดเป็นคำถามว่า การใช้แนวคิดนี้กับบริบทของเกษตรกรไทยมีความเหมาะสมหรือไม่ ขณะเดียวกันนโยบายการบริหารจัดการลูกค้าที่ค้างชำระนั้นธกส.จะไม่ฟ้องลูกหนี้ถ้าลูกค้าไม่มีเจตนาผิดนัดชำระและให้ความร่วมมือในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากมติ ครม. 2550 ระบุว่าจะยื่นฟ้องได้เมื่อเกษตรกรเจตนาผิดนัดชำระและใกล้จะหมดอายุความ ส่วนธนาคารพาณิชย์ก็จะมีขั้นตอนของระยะเวลาที่เข้มงวดมากกว่า
สำหรับประเด็นแนวทางการแก้ปัญหาที่อาจจะนำมาถกเถียงหรือทำวิจัยนั้น รศ.ดร.เขมรัฐ กล่าวว่า คือการออกจากกรอบนีโอคลาสสิกว่า ภาครัฐจะเข้าไปโอบอุ้มเกษตรกรอย่างเต็มตัวในการส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และการจูงใจการรักษาที่ดินจากแนวคิดเดิมที่ว่าต้องเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นทุนให้เป็นทุนสนับสนุนเกษตรกรเพื่อรักษาที่ดินว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง
1.ภาครัฐในฐานะพี่เลี้ยงเต็มตัวอาจจะเข้ามาเป็นผู้ปล่อยเงินกู้ต่อเกษตรรายย่อยแทนสถาบันการเงิน ซึ่งมีตัวอย่างจากสหรัฐอเมริกา คือ Farm Service Agency (FSA) ของกระทรวงเกษตรอเมริกาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรยากจนที่ไม่สามารถกู้ยืมได้จากธนาคารและแหล่งเงินกู้อื่นๆ รวมทั้งสนับสนุนเกษตรกรที่ต้องการทุนในการขยายกิจการ โดยมีหน้าที่หลัก 3 อย่าง คือปล่อยกู้ให้เกษตรกรโดยตรงเป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงินและธุรกิจ เป็นผู้ค้ำประกันสถาบันการเงิน และเป็นผู้คำประกันเกษตรกรในกรณีที่ต้องการซื้อที่ดินคืน
2. การปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนให้กลายเป็นการให้ทุนเพื่อรักษาที่ดินด้วยการให้เงินอุดหนุนโดยตรงกับเกษตรกร โดยเกษตรกรต้องปฏิบัติตามแนวทางในเรื่องการอนุรักษ์ดิน น้ำ
ด้านนายสุทิน บรมเจต รองประธานกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงสร้างสังคมไทยเป็นโครงสร้างระบบกฎหมาย เป็นระบบที่กฎหมายของรัฐจับมือกับนายทุนทำให้กฎหมายไม่เอื้อคนข้างล่างผ่านมาหลายปีเห็นแต่ชาวนาจนลงและเสียที่ดินมากขึ้น ขณะที่คนรวยก็รวยขึ้น
"การฟ้องร้องที่ผ่านมาบริบทของกฎหมายไม่เข้าใจเกษตรกร เมื่อก่อนมีระเบียบว่า ห้ามขายทอดตลาดแต่ตอนนี้ไม่มี ดังนั้นเกษตรกรต้องรวมกลุ่มกันสร้างความเข้มแข็งให้ได้ ไม่ใช่ทุกอย่างแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุไปอาศัยกองทุนฟื้นฟูหนี้สินก็จะหมุนเวียนแบบเดิม"
นายสุทิน กล่าวด้วยว่า หากคิดว่าเกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของประเทศรัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุนแล้วรัฐบาลมีเครื่องมืออยู่แล้วว่าจะทำอย่างไรศึกษาไม่ยากศึกษาเป็นบริบท ต้นทุนการผลิตแพงจะลดต้นทุนจะต้องทำอย่างไร ผลิตแบบไหนถึงจะมีกำไรอยู่ได้ ทำวิจัยให้เห็นภาพรวมและแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จให้ได้
|