ก.ศึกษาฯ ระบุสาขาที่กู้ กรอ.ต้องสอดคล้องกับ 5 กลุ่มอาชีพตามนโยบาย “วรวัจน์”
ผู้ตรวจการ ศธ.เผย 5 สาขาที่กู้เงินเรียน กรอ.ได้แก่ เกษตร-อุตสาหกรรม-พาณิชยกรรม-ความคิดสร้างสรรค์-อาชีพเฉพาะทาง ส่วนเกณฑ์รายได้ที่ต้องใช้หนี้อาจปรับใหม่จาก 1.6 หมื่นให้สอดคล้องปัจจุบัน
นายบัณฑิต ศรีพฤทธางกูร ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้อำนวยการบัญชีจ่ายที่ 1 กล่าวว่าตามที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) มีนโยบายฟื้นกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต(กรอ.) และได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ไปทำรายละเอียดนั้น รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
ทั้งนี้ กองทุน กรอ.เคยดำเนินการมาแล้ว ดังนั้นการทำหลักเกณฑ์ใหม่ก็จะต้องนำหลักเกณฑ์เดิมมาเปรียบเทียบ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาทั้งเรื่องสาขาอาชีพที่ให้กู้ จะต้องทบทวนว่าควรจะมีการปรับเปลี่ยนจากเดิมหรือไม่ โดยจะต้องสอดคล้องกับ 5 กลุ่มอาชีพหลักตามนโยบายของ รมว.ศธ.ได้แก่ กลุ่มเกษตร กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มพาณิชยกรรม กลุ่มความคิดสร้างสรรค์ และกลุ่มอำนวยการและอาชีพเฉพาะทาง เพราะเป้าหมายจะปล่อยกู้ในสาขาที่จบแล้วมีงานทำแน่นอน
“เรื่องรายได้ที่เพียงพอต่อการชำระหนี้ก็ต้องพิจารณาด้วย โดยเหมาะสมกับความสามารถที่ผู้กู้จะชำระคืนกองทุนได้ ซึ่งหลักเกณฑ์ กรอ.เดิมเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 16,000 บาท สำหรับหลักเกณฑ์ใหม่นั้นอาจจะต่ำกว่าหรือสูงกว่า ซึ่งจะต้องเปรียบเทียบกับอัตรารายได้ที่เป็นจริงในปัจจุบันเพื่อไม่ให้กระทบกับการชำระหนี้ เมื่อรวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงานเรียบร้อยแล้วจะนำเสนอ รมว.ศธ.ต่อไป” นายบัณฑิต กล่าว
ด้าน นายรังสรรค์ มณีเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. กล่าวว่า ในส่วนของ สพฐ.ยังไม่ได้ร่างหลักเกณฑ์ใดๆ ซึ่งอาจจะต้องคุยรายละเอียดหลักการที่ชัดเจนจาก สกอ. และกรมบัญชีกลางก่อน แต่อย่างไรก็ตามในส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นหากจะเปิดโอกาสให้กู้ กรอ.ได้ด้วย ก็ต้องมาดูรายได้ครอบครัว ดูความจำเป็นในการใช้เงิน เพราะส่วนใหญ่ระดับการศึกษาพื้นฐานจะมีการจัดสรรงบประมาณเรียนฟรีเรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพช่วยเหลือ .