แรงงานขู่เคลื่อนไหวกดดัน รบ.ยิ่งลักษณ์ กลับคำหาเสียงค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท
ปลัดแรงงานขานรับนโยบายรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาท เผยงบ 1 พันล้านยกระดับฝีมือ สภาอุตฯ จี้ตั้ง คกก.ร่วมภาคเอกชนทำความชัดเจนนโยบายค่าจ้าง-เงินเดือน ป.ตรี เครือข่ายแรงงานเตรียมกำหนดท่าที 5 ก.ย. กดดันรัฐบาลทำตามสัญญา “ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท”
วันที่ 25 ส.ค.54 นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าการแถลงนโยบายรัฐบาลผิดเพี้ยนจากช่วงหาเสียงที่บอกว่าจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300บาททันทีทั่วประเทศ มาเป็นรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาท ซึ่งทุกวันนี้หากเอาค่าจ้างรวมกับค่าล่วงเวลาและสวัสดิการต่างๆก็มีรายได้มากกว่า 300 บาทอยู่แล้ว หากรัฐบาลเบี้ยวผู้ใช้แรงงานลักษณะนี้ก็คงต้องมีการเคลื่อนไหว เบื้องต้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)จะจัดสัมนา 5 ก.ย. ซึ่งจะขอความชัดเจนว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรจากนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.แรงงาน)ที่ได้ตกลงเข้าร่วมงาน
ส่วน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท. กล่าวว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” นั้นกฏหมายกำหนดว่าต้องได้รับตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน ต่างจาก “รายได้” ที่หมายรวมถึงสวัสดิการอื่นๆด้วย เช่น ค่าทำงานล่วงเวลา เบี้ยขยัน โบนัส ค่าอาหาร ค่ารถ ซึ่งสิ่งที่แรงงานต้องการจากรัฐบาลคือค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท
"ตอนหาเสียงพรรคเพื่อไทยบอกจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททันทีพร้อมกันทั่วประเทศ พอมาเป็นรัฐบาลจะบิดเบือนคำพูดไม่ได้ เพราะรายได้กับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งอยากให้นายกฯทบทวนถึงนโยบายและสิ่งที่ตัวเองพูดด้วย ทั้งนี้ในวันที่ 5 ก.ย. คสรท.จะประชุมเรื่องค่าจ้าง จากการรวบรวมข้อมูลค่าครองชีพตามความเป็นจริงของแรงงานในปริมณฑลและต่างจังหวัด เพื่อแถลงต่อไป" น.ส.วิไลวรรณ กล่าว
ขณะที่นางอำนวย เอี่ยมรักษา อดีตประธานสหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าไม่เห็นด้วยที่จะเอาเรื่องผลิตภาพและทักษะฝีมือมาผูกกับค่าจ้างขื้นต่ำวันละ 300 บาทที่รัฐบาลเคยบอกว่าวันที่ 1 ม.ค.55 จะขึ้นให้ทันที จึงพร้อมเคลื่อนไหวร่วม คสรท.เพื่อกดดันให้รัฐบาลทำตามสัญญา
ด้าน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่ากระทรวงแรงงานได้ออกมาตรการรองรับนโยบายเพิ่มรายได้วันละไม่น้อยกว่า 300 บาทของรัฐบาล โดยตั้งทีมที่ปรึกษาออกไปตามสถานประกอบการทั่วประเทศ ให้คำแนะนำการอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงาน ช่วยจัดหาวิทยากรเชี่ยวชาญสาขาวิชาชีพนั้นๆให้ความรู้แก่ลูกจ้าง ตลอดจนร่วมกับสมาคมวิชาชีพทำหลักสูตรฝึกอบรมและร่วมรับรองการฝึกอบรมเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการ ทั้งนี้สถานประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์คือนำค่าใช้จ่ายฝึกอบรมมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า รวมทั้งเปิดให้กู้เงินจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานไปใช้อบรมลูกจ้างได้ ซึ่งปัจจุบันมี 580 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 3% อาจจะลดเหลือ 1%
ปลัด รง.กล่าวต่อว่า รมว.รง.ได้มอบนโยบายพัฒนาฝีมือแรงงานตามความต้องการของรัฐบาลที่จะช่วยแรงงานให้มีรายได้เพิ่ม โดยเตรียมอนุมัติงบกว่า 1,000 ล้านบาทมาดำเนินโครงการ ซึ่งกระทรวงจะเริ่มรณรงค์ให้สถานประกอบการใช้กลไกการพัฒนาฝีมือแรงงานโดยสมัครใจให้มากขึ้น เชื่อว่าจะให้การตอบรับเพราะมีประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนนายจ้าง ผลิตชิ้นงานได้เพิ่มขึ้น และลูกจ้างมีรายได้เพิ่มขึ้น
“รายได้วันละ 300 บาท ไม่ใช่อยู่ๆจะได้เลย อาจต้องมีเงื่อนไขเรื่องการอบรมยกระดับฝีมือเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้หมายถึงว่าทุกคนต้องไปทดสอบมาตรฐานฝีมืออย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ ซึ่งตรงนั้นก็เป็นแรงงานอีกระดับหนึ่งที่มีรายได้มากกว่า 300 บาทอยู่แล้ว หลังจากนี้กระทรวงแรงงานจะหารือกับภาคเอกชนเพื่อวางเกณฑ์ในการขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาทให้แก่ลูกจ้างควบคู่ไปกับการอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน” ปลัด รง.กล่าว
ส่วนนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.)โดยเร็วเพื่อทำความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับนโยบายต่างๆที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรีเป็นเดือนละ 15,000 บาท
ทั้งนี้มองว่าผู้ประกอบการรายใดมีความพร้อมจะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.55 ก็ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทได้ทันที แต่ยังเป็นห่วงกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs) ที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะรายที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป, สิ่งทอ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งรัฐจะต้องเข้ามาดูแลผลกระทบทั้งการตั้งกองทุนสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ย ต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่อง และมีมาตรการพิเศษช่วยปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่าส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) อีก 0.25% นั้น เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้แล้ว ซึ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ภาคเอกชนไม่ต้องการเห็นการปรับดอกเบี้ยที่สูงเกินไป ซึ่งการประชุม กนง.ครั้งต่อไปคงจะต้องพิจารณาให้รอบคอบมากขึ้น .