“เอกนิธิ” หวั่นอนาคตศก.โลกไม่เอื้อ จี้รัฐใช้โอกาสนี้เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
“ดร.เอกนิธิ นิติทัณฑ์ประภาศ” ชี้เศรษฐกิจไทยบวกหรือลบ ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก ยันวิกฤติต้มยำกุ้งรอบ2 เกิดยาก รวมถึงหนี้สาธารณะไม่ได้สูง จี้รัฐควรเร่งลงทุนช่วงนี้ หวั่นอนาคต "โลกไม่เอื้อ" พร้อมมองส่งออกไปประเทศ C L M V ยังเป็นพระเอกของไทย
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2557 ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดสัมมนา “SCB Investment Symposium 2014 Change Rising ทะยายนสู่ศักราชใหม่เศรษฐกิจโลก” โดยมี ดร.เอกนิธิ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง บรรยายในหัวข้อ “ปรับเปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจไทย”
ดร.เอกนิธิ กล่าวถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ (2557) ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้พึ่งพิงรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการสูงถึง 60-70% เพิ่มจากอดีตที่ต่ำกว่า 50% โดยปัจจุบันไทยได้หันมาส่งออกไปยังจีนมากขึ้นที่ 12% ประเทศยุโรปและญี่ปุ่นรวมกัน 15% ประเทศอาเซียน 8.3% ส่วนส่งออกไปยังสหรัฐลดลงเหลือ 10% จากเดิม 20% ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนเพียงประเทศเดียว ขณะที่ประเทศอื่นๆในโลก ไม่ว่า จีน ประเทศยุโรป ญี่ปุ่น เศรษฐกิจยังอ่อนแออยู่มาก จึงทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีความเสี่ยงสูงและอาจจะเติบโตระดับต่ำ
“เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกระทบเศรษฐกิจไทยแน่ เพราะประเทศขนาดใหญ่เป็นคู่ค้าของไทย แม้เศรษฐกิจหสรัฐจะฟื้นตัว แต่ยุโรปชะลอตัว จีนเองเศรษฐกิจอ่อนแอลงโดยคาดเติบโตไม่ถึง 7.2% ขณะที่ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษี VAT และคาดจะมีการอัดฉีดสภาพคล่องในระบบ จะทำให้ค่าเงินเย็นอ่อนค่า รวมถึงการที่อียูจะตัดสิทธิ์ GSP สินค้าไทยในปีหน้าจะทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องเสียภาษีสูงขึ้น และประเทศในอาเซียน 9 ประเทศเองเศรษฐกิจอาจติดลบ(ยกเว้นประเทศกังพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม( CLMV) ที่ยังเติบโตมากถึง 6-7%) เพราะผูกการค้ากับจีนมาก ทำให้เป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทย”
ดร.เอกนิธิ กล่าวอีกว่า สำหรับมุมมองต่อความวิตกเรื่องการเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งหรือวิกฤติค่าเงินบาท รอบ 2 นั้น เชื่อว่า มีโอกาสเกิดได้ยาก เนื่องจากคาดว่าในปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลประมาณ 3.3% โดยไตรมาส 1-2ของปี 2557 เกินดุลถึง 4.7% และยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นมากกว่า 2.8 เท่า แตกต่างจากปี 2540 ที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 8 %ของจีดีพี และมีเงินทุนสำรองเหลือเพียง 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่านั้น อีกทั้ง พื้นฐานด้านเสถียรภาพของไทยยังเข้มแข็ง โอกาสที่แบงก์พาณิชย์จะล้มยาก เนื่องจากมีเงินทุนสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ระดับสูงถึง 16% มากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเท่าตัว
“แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ตลาดเงินโลกจะมีความผันผวนมากขึ้น เนื่องจากมีแนวโน้มว่าสหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแน่ในปีหน้า รวมถึงการยกเลิกการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ หรือ QE ของสหรัฐในเดือนหน้า ขณะที่ญี่ปุ่นจะเพิ่มเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และค่าเงินบาทอ่อนตัวลง และทำให้เงินทุนเกิดการไหลออก
"ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการก็คือ การที่เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว หากมีการจับคู่การค้าก็จะทำให้ธุรกิจโตเร็ว และยังได้กำไรจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัว รวมถึงการย้ายฐานผลิตไปยังประเทศ CLMV ซึ่งเศรษฐกิจยังเติบโตสูง และไม่โดน GSP ของยุโรป ยังเป็นโอกาสทางธุรกิจในอนาคต”
ส่วนเรื่องหนี้สาธารณะที่มองกันว่าอยู่ในระดับสูง หลังเกิดปัญหาจำนำข้าวนั้น ดร.เอกนิธิ กล่าวอีกว่า ไม่ได้สูงมาก โดยปัจจุบันอยู่ที่ 46-47% ของจีดีพี ซึ่งรวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจและกองทุนฟื้นฟูอยู่ด้วย เหลือหนี้ของภาครัฐเพียง 20% เท่านั้น
“ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยยังไม่ได้ปรับขึ้น ภาครัฐควรใช้โอกาสนี้ หลังไม่มีการลงทุนมานานเป็นผู้นำและเร่งการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานระหว่างที่ภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เพื่อขยายการลงทุนให้คุ้มค่า หลังจากที่สัดส่วนการลงทุนของภาครัฐและเอกชนลดลงมาอย่างต่อเนื่อง”
นอกจากนั้น มุมมองในเรื่องตัวเลขการบริโภคในประเทศที่อ่อนตัว ขณะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในสัดส่วนที่สูงนั้น ดร.เอกนิธิ กล่าวว่า แม้ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ตัวเลขการบริโภคของภาคเอกชนได้ฟื้นตัวอย่างช้าๆ หลังการเข้ามาของคสช. แต่คาดว่าในไตรมาส 4 จะเห็นการบริโภคฟื้นตัวขึ้นได้เร็วขึ้น แม้จะไม่แรงเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากรายได้ของภาคเกษตรยังไม่เติบโต เพราะราคาสินค้าเกษตร 40% ยังขึ้นกับตลาดจีน ตรงนี้จึงยังต้องระวังสัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะฉุดรั้งการฟื้นตัวของการบริโภคได้
ดร.เอกนิธิ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า เศรษฐกิจไทยจะไม่เติบโตเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลอีกต่อไปแล้ว โดยคิดเป็นสัดส่วนการเติบโตถึง 50% ของจีดีพี ก็ลดลงเหลือเพียง 44% และการเติบโตของเศรษฐกิจได้ย้ายไปยังภาคอีสาน เช่น ขอนแก่น อุดรธานี และจังหวัดชายแดนของไทย เช่น ตาก เชียงราย มุกดาหาร รวมถึงเมืองบริวารที่จะเติบโตอีกมาก เช่น พิษณุโลก นครราชสีมา เป็นต้น สอดคล้องกับนโยบายด้านโครงสร้างคมนาคมขนส่ง 2558-2565 ของรัฐบาลชุดนี้ ที่ต้องการเชื่อมโยงกรุงเทพฯและหัวเมืองต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในอนาคต.