รองปธ.ส.อ.ท.ยันหากไทยฝันเป็น 'เยอรมนีในอาเซียน' ต้องพัฒนาบุคลากรให้ได้
กูรูด้านเศรษฐกิจชี้หวังเห็นเศรษฐกิจไทยก้าวหน้า นักธุรกิจต้องเข้าใจพื้นที่การลงทุนตีโจทย์ให้แตก แนะพัฒนาคนให้พร้อมก้าวสู่อาเซียน มองเรื่องโอกาสมากกว่าการแข่งขัน ระบุสภาพแวดล้อมยุคโซเชียลมีเดียทำคนไทยไร้ภูมิคุ้มกัน
23 กันยายน 2557 สมาคมปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาเชิงวิชาการ “จริงแน่หรือแค่ฝันเศรษฐกิจไทยก้าวไกลหลังการปฏิรูป ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะเป็นจริงหรือแค่ฝันอยู่ที่ความคาดหวังกลไกต่องบประมาณของโครงการที่ตั้งไว้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้สามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ซึ่งการขับเคลื่อนในเรื่องเศรษฐกิจต้องแยกออกเป็น 3 ส่วน คือ การจัดระเบียบ การปรับโครงสร้าง และการปฏิรูป
"เริ่มแรกของความฝัน เราต้องจัดระเบียบ วิเคราะห์ว่า มีเรื่องใดบ้างที่จะจัดระเบียบ จากนั้นจัดให้เข้าตาเพื่อจะเป็นกุญแจนำไปสู่ความน่าเชื่อถือ ลำดับต่อมาคือการปรับโครงสร้างเมื่อปี 2558 จะเกิดประชาคมอาเซียนแล้วเราจะโดยสารเศรษฐกิจของเออีซีอย่างไร จะเข้าไปขยายธุรกิจในประเทศที่เป็นประเทศหลักๆ อย่างไร" อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าว และว่า หากไปลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อาจไม่ได้ประโยชน์มากนัก เพราะเติบโตมาพร้อมกัน แต่หากมองเรื่องการลงทุนร่วมแล้วจะได้ประโยชน์ ก็ไปลงทุนกับกลุ่มประเทศกลุ่มเกิดใหม่ในอาเซียน เช่น พม่า ลาว เป็นต้น
ศ.ดร.สมภพ กล่าวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอาเซียนหรือเรียกว่า เป็น 9 ปฏิวัติ คือ
1.ร้านโชว์ห่วยจะขยายตัวในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ลาว พม่า
2.รถจักรยานยนต์
3.เครื่องใช้ไฟฟ้า
4.สินค้าอุปโภคบริโภค
5.การเกษตร
6.อุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า
7.การบริการ
8.การปฏิวัติเศรษฐกิจชายแดน
9.การก่อสร้าง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ตัวแปร รู้แหล่งของสถานที่ เพราะในปัจจุบันพื้นที่ต่างๆในโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่าง รวดเร็ว
“นักธุรกิจไทยต้องตีโจทย์ให้ได้ว่า อีก5-10 ปีข้างหน้าในแต่ละประเทศของอาเซียนจะมีอะไรเกิดขึ้น นอกจากเข้าใจแล้ว ต้องตีโจทย์เหล่านี้ให้แตก มิฉะนั้นเศรษฐกิจไทยก็จะเหมือนกับหลายปีที่ผ่านมาคือ 3 วันดี 4 วันไข้”
ด้านนายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากถามว่าจริงแน่หรือแค่ฝันเศรษฐกิจไทยหลังการปฏิรูป ต้องขอถามกลับไปว่า ที่ว่าฝันใช่ฝันภายใน 12 เดือนนี้หรือไม่ หากฝากความหวังเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจนี้ไว้ใน 12 เดือน อยากให้คิดกันใหม่ ไม่อยากให้มองทุกอย่างจะต้องดีขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเจอวิกฤติมามากมาย 12 เดือนของการปฏิรูปอาจจะได้แค่โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจที่เราพอจะมองเห็น
"ประเทศไทยมีจุดเด่นในเรื่องของเกษตรกรรม หากจะนำมาฝันในเรื่องเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไกลแต่ปัญหาที่พบและทำให้เศรษฐกิจในด้านนี้ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร เพราะขาดบุคคลากรในด้านวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยี ถ้าเอาเรื่องเทคโนโลยีการเกษตรไปเทียบกับประเทศอื่นก็เทียบกันแทบไม่ได้อีก ฉะนั้น หากเราอยากเป็น "เยอรมันในอาเซียน" เราจะต้องพัฒนาบุคคลากรให้ได้"
รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวด้วยว่า ทุกคนมีความปรารถนาอยากจะเห็นประเทศประสบความสำเร็จดังนั้นจึงมองว่าการปฏิรูปการศึกษาในวันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากไม่ปฏิรูปให้ดีขึ้น บุคคลากรก็จะเป็นอย่างที่เห็น และเป็นอยู่ เราจะเดินหน้าเรื่องเศรษฐกิจเราจะแข่งขันในอาเซียนแล้ววันนี้คนในประเทศเรา เตรียมความพร้อมกันได้แค่ไหน ทุกวันนี้คนในประเทศยังเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งเป็นความขัดแย้งอยู่บน พื้นฐานที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งนี้ไม่ได้เจาะจงไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ยิ่งในสภาพแวดล้อมของโซเชียลมีเดียยิ่งทำให้คนไทยไม่มีภูมิคุ้มกันข่าวสาร ที่ไม่ถูกต้องกระจัดกระจายไปอย่างไร้การควบคุม
“ที่สำคัญในการต่อสู้เรื่องเศรษฐกิจไม่อยากให้กลัวเรื่องการแข่งขัน แต่ควรกลัวเรื่องการเสียโอกาสมากกว่า มิฉะนั้นการปฏิรูปก็จะกลายเป็นสิ่งที่ฝัน ดังนั้นจะจริงแน่หรือแค่ฝันอยู่ที่ว่า วันนี้ไทยเตรียมความพร้อมได้มากแค่ไหน”
ขณะที่นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากมองประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาเหมือนกับว่า เจอฝันร้ายแล้วก็สะดุ้งตื่น ส่วนการปฏิรูปไม่ใช่แค่เพียงการมาว่างกรอบกฎหมายแล้วจบประเทศ วันนี้จะเดินไป ข้างหน้าอย่างไร ก้าวไปสู่ความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับสามัญสำนึกของคนในประเทศด้วย
"ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรมาก แต่เราใช้ทรัพยากรไม่เต็มที่ ที่ยืนอยู่ได้ในทุกวันนี้เพราะสิ่งที่ลงทุนไว้ในอดีต นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแต่ละยุคเป็นนโยบายที่ดูสวยหรูแต่กลับไม่สามารถนำมา ปฏิบัติได้ ดังนั้นวันนี้ถ้าไม่อยากให้เป็นแค่ฝันประชาชนต้องมีสำนึกนโยบายในการพัฒนา เศรษฐกิจต้องเป็นสิ่งที่จับต้องได้และทำได้จริง"
ขอบคุณภาพจากอาร์เอสยูนิวส์