ภาคประชาสังคมจี้ยกเลิก ‘กฎอัยการศึก’ กระทบปชช. มีส่วนร่วมจัดการเหมืองแร่
ภาคประชาสังคมชี้จัดการทรัพยากรเหมืองแร่ ‘กฎอัยการศึก’ กระทบกระบวนการมีส่วนร่วมประชาชน จี้รัฐบาลยกเลิก-รับรองสิทธิชุมชน ม.4 รธน.ชั่วคราว ปี 57 พร้อมสั่งชะลอพิจารณา กม.แร่ฉบับใหม่
วันที่ 23 กันยายน 2557 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), ศูนย์ข้อมูลชุมชน, ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ อีสาน (ศสส.), กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา และกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) จัดแถลงข่าวทิศทางปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 3 เรื่อง ‘กฎอัยการศึกกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม:เหมืองแร่ประเทศไทย’ ณ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้ประสานงานมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีเหมืองแร่ในประเทศไทย มีการผูกขาดโดยอำนาจรัฐ ทั้งนโยบายการจัดการทรัพยากรแร่ กระบวนการตัดสินใจในการอนุมัติอนุญาตอาชญาบัตรและประทานบัตร นำมาสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชนและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงการประกอบกิจการเหมืองแร่ แม้ว่ารัฐธรรมนูญ (รธน.) ปี 2550 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่หลักการสิทธิชุมชนยังคงได้รับการรับรองตามมาตรา 4 แห่ง รธน.ฉบับชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งมีผลให้รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหน่วยงานรัฐปฏิบัติตาม
“ที่ผ่านมาประชาชนและชุมชนใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการต่อรองอำนาจรัฐ เพื่อนำไปสู่การพิสูจน์ข้อเท็จจริง เรียกร้องจากฝ่ายรัฐ ข้าราชการ และผู้ประกอบการ โดยมีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดและประเทศ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น” ผู้ประสานงานฯ กล่าว และว่า เมื่อมีกฎอัยการศึกกลับเป็นการล้มกระบวนการตั้งแต่ต้น และเดินหน้าการอนุมัติอนุญาตโดยไม่คำนึงถึงข้อตกลง กระบวนการที่ผ่านมา รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน
น.ส.สุภาภรณ์ กล่าวว่า หน่วยงานรัฐอ้างฐานอำนาจตามกฎอัยการศึกใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาโดยใช้ความรุนแรง เช่น กรณีการใช้กองกำลังทหารในการคุกคามชาวบ้านเหมืองทองคำ จ.เลย และการเรียกตัวแทนคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ไปรายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติและให้ยุติการเคลื่อนไหว ปิดกั้นการรณรงค์ให้ความรู้ ฯ ถือเป็นการใช้กฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือของทหาร ข้าราชการ และผู้ประกอบการ ที่ละเมิดสิทธิชุมชนและประชาชนในการแสดงออก
ทั้งนี้ การดำเนินการยังนำไปสู่การให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสในการเข้าจัดกิจกรรม ให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว เอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายผู้ประกอบการ แต่กลไกของชาวบ้านในการแสดงออกนั้นกลับให้ไปยื่นต่อศูนย์ดำรงธรรมกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ รวมถึงเวลานี้ มีความพยายามเสนอกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายแร่ กฎหมายการชุมนุมสาธารณะโดยหน่วยงานรัฐ โดยขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
ผู้ประสานงานฯ จึงมีข้อเสนอในนามภาคประชาสังคมว่า ต้องยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อเปิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนกลับคืนมา โดยรัฐบาล คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องรับรองสิทธิชุมชนตามมาตรา 4 แห่งรธน.ฉบับชั่วคราว ปี 2557 อีกทั้ง ให้ชะลอการพิจารณากฎหมายแร่และกฎหมายที่เกี่ยวกับการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิเสรีภาพของประชาชนในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อนำไปพิจารณาในรัฐสภาหลังจากมีการเลือกตั้งในอนาคต
ด้านนายเตียง ธรรมอินทร์ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี กล่าวถึงเหตุการณ์ภายหลังการประกาศใช้กฎอัยการศึกว่า หนักใจมาก เพราะชาวบ้านขยับตัวหรือจัดประชุมไม่ได้เลย ประกอบกับปัจจุบันมีการสั่งปิดสถานีวิทยุชุมชนคนฮักถิ่นของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ทำให้ไม่สามารถกระจายข่าวไปตามชุมชนได้ มิเช่นนั้นจะถูกกฎหมายเล่นงาน แต่ฝ่ายผู้ประกอบการกลับจัดประชุมหลายร้อยคนได้สะดวก จึงมองว่าการมีกฎอัยการศึกไม่เป็นผลดีกับชาวบ้าน
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ อีสาน กล่าวถึงกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานีว่า ขณะนี้ชาวบ้านเหมือนถูกมัดมือไว้ โดยไม่ให้แสดงความคิดเห็น ดังนั้นเราจึงเรียกร้องให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพราะเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย มิเช่นนั้นเชื่อว่าอนาคตปัญหาจะคงถูกสะสมต่อไป
ขณะที่นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวถึงปัญหาที่ตามมาในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ว่า ภายหลังประกาศกฎอัยการศึก ทหารจัดตั้งคณะกรรมการ 4 ด้าน ได้แก่ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย คณะกรรมการตรวจการปนเปื้อนของน้ำ คณะกรรมการฟื้นฟูสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยมีสัดส่วนเพียงข้าราชการเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดชาวบ้านเห็นว่าไม่ได้ทำหน้าที่อะไร นอกจากพยายามสร้างกระบวนการให้บริษัทและชาวบ้านพูดคุยกันได้ ภายใต้ข้อเสนอขอขนแร่รอบใหม่
“มีการชักชวนให้ชาวบ้านร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างทหาร ข้าราชการ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และชาวบ้าน ซึ่งเราไม่ยอมรับกระบวนการดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันยังคงหยุดอยู่ในขั้นตอนนี้” นายเลิศศักดิ์ กล่าว และว่าเริ่มมีข่าวออกมา หากชาวบ้านยังดื้อไม่ยอมลงนาม อาจจะเกิดเหตุการณ์ขนแร่รอบใหม่ขึ้นเลย โดยมีทหารเป็นผู้คุ้มกัน ซึ่งถึงเวลานั้น คิดว่าชาวบ้านคงเอาตัวเข้าแลก อาจจะด้วยวิธียืนกีดขวาง อย่างไรก็ตาม ผมไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้
สุดท้าย นายนิติกร ค้ำชู กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) กล่าวว่า การประกาศใช้กฎอัยการศึกส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงในแง่กระบวนการคัดค้านเหมือนทองคำ จ.เลย เกิดขึ้นได้ยากหรือทำไม่ได้เลย ที่สำคัญ ถือเป็นการตัดตอนการเรียนรู้หลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่ได้ร่ำเรียนมา คงมีเพียงหลักการ แต่กลับใช้ไม่ได้จริง .