“พีระศักดิ์ พอจิต” : ที่นี่ไม่มีแม่ทัพ-นายกอง ทุกคนคือ สนช.เท่าเทียมกัน
”…แต่ใจผมอีกหน่อย ถ้ามีเวลา ผมอยากจะไปใช้กระบวนการ สนช. เสนอกฎหมายเอง โดยผมมุ่งเน้นเรื่องกฎหมายที่ประชาชนเสนอมาก่อนหน้านี้ แล้วมันตกไป … นี่เป็นเรื่องอนาคตที่อยากจะทำ เพราะว่ากฎหมายที่ประชาชนเสนอมานั้น ถือว่าเขามีส่วนร่วม ดังนั้นเราต้องพยายามสานต่อให้กับพวกเขาด้วย…”
เป็นระยะเวลากว่า 1 เดือนแล้ว ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับโปรดเกล้าฯเข้าปฏิบัติหน้าที่ในสภา เพื่อปฏิบัติงานแทน ส.ส.-ส.ว. ในสถานการณ์ “พิเศษ” หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ที่น่าสนใจคือการปฏิบัติงานของ สนช. นั้นมีความยาก-ง่ายอย่างไร กดดันหรือไม่ ท่ามกลางสภาที่เต็มไปด้วยอดีต “แม่ทัพ-นายกอง” นั่งกันพรึ่บเต็มไปหมด ?
“ผมไม่ได้หนักใจอะไรในการทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะว่าเราได้รับความร่วมมือจากการสมาชิกเป็นอย่างดี และเราผ่านการประชุมมากว่า 10 ครั้ง องค์ประชุมเราก็ไม่เคยขาด ส่วนการอภิปราย หรืออะไร ก็อยู่ในกรอบระยะเวลา และอยู่ในประเด็น ไม่มีการออกนอกประเด็น ดังจะเห็นได้ว่า หากเป็นสภาปกติ มักออกนอกประเด็น นี่จึงถือเป็นจุดเด่นของ สนช. ชุดนี้”
เป็นคำยืนยันของ “พีระศักดิ์ พอจิต” รองประธาน สนช. คนที่ 2 ที่ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกระบวนการทำงานของ สนช. ในยุคที่ “ท็อปบู้ต” เข้ามามีอำนาจเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ดี “พีระศักดิ์” ตั้งข้อสังเกตว่า สนช. ชุดนี้ ยังมีสมาชิกหลายคนยังไม่กล้าอภิปรายในประเด็นที่ถูกตั้งขึ้น
“ข้อสังเกตของผมคือ สมาชิกหลาย ๆ ท่าน ยังไม่กล้าอภิปราย หรือมีการอภิปรายไม่ทั่วถึง อาจเพราะเคยเป็นข้าราชการประจำ ดังนั้นอาจต้องอยู่กันไปสักพัก รอให้นิ่งกันก่อน แต่ให้พูดง่าย ๆ โดยเนื้อหาสาระผมว่ามันได้”
ส่วนเรื่องความกดดันที่มีทหารเข้ามานั่งอยู่ใน สนช. กว่าครึ่งค่อนสภานั้น “พีระศักดิ์” อธิบายว่า “เราก็ยึดหลักการทำหน้าที่ เมื่อมาอยู่ตรงนี้ และเป็น สนช. เราก็ต้องไม่คิดว่า คนนั้นเป็นแม่ทัพหรืออะไร เราต้องคิดว่า เรามาอยู่ตรงนี้ มาทำหน้าที่ ก็จะสามารถคลายความกดดันลงไปได้ (หัวเราะ)”
“พีระศักดิ์” ยังระบุอีกว่า กฎหมายที่อยู่ในขั้นตอนพิจารณาของ สนช. นั้น มีหลายฉบับที่สำคัญ เพราะมันเกี่ยวข้องกับคนเยอะ เช่น พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ฯ หรือกฎหมายพิจารณาวิธีการทำงานทางปกครอง เป็นต้น นอกจากนี้ กฎหมายที่ คสช. เสนอมาเร่งด่วน ก็สำคัญแทบทุกฉบับ
“แต่ใจผมอีกหน่อย ถ้ามีเวลา ผมอยากจะไปใช้กระบวนการ สนช. เสนอกฎหมายเอง โดยผมมุ่งเน้นเรื่องกฎหมายที่ประชาชนเสนอมาก่อนหน้านี้ แล้วมันตกไป โดยในส่วนผมรับผิดชอบงานด้านกฎหมายกับวิชาการ ผมจะได้ตั้งทีม และคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้ ใช้กระบวนการเสนอกฎหมายโดย สนช. 25 คน”
ก่อนจะเน้นย้ำด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “นี่เป็นเรื่องอนาคตที่อยากจะทำ เพราะว่ากฎหมายที่ประชาชนเสนอมานั้น ถือว่าเขามีส่วนร่วม ดังนั้นเราต้องพยายามสานต่อให้กับพวกเขาด้วย”
ท้ายสุด “พีระศักดิ์” คาดหวังต่อรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ว่า รัฐบาลนี้มีจุดแข็งในเรื่อง ความมีเอกภาพ ในสถานการณ์พิเศษเช่นนี้ และไม่มีฝ่ายค้าน หากมองในแง่การบริหาร ท่านนายกฯก็ไม่ได้หวังจะมีพรรคการเมืองหรือะไรต่อไป การทำงานโดยรวมก็ยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริต และความจริงใจในการบริหารประเทศก็ถือว่าเป็นจุดแข็งเช่นกัน
“แต่ในบางจุด อาจขาดความใกล้ชิด รับฟังความเห็นจากประชาชน ซึ่งอาจถือว่าเป็นจุดอ่อนได้ในส่วนนี้”
ทั้งหมดนี้คือความในใจต่อการทำหน้าที่รองประธาน สนช. ของ “พีระศักดิ์” ที่คาดหวังให้รัฐบาลดำเนินการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และมีความต้องการผลักดันร่างกฎหมายภาคประชาชน ที่ถือว่ามีความสำคัญ
ส่วนที่ประชุม สนช. หรือรัฐบาลจะตอบรับและผลักดันมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ต้องจับตากันต่อไป ?
อ่านประกอบ :
“พีระศักดิ์”แจงปล่อยกู้“ลูก” 2 ล.ใช้บริหารทีมบอลอุตรดิตถ์-ขาดทุนทุกปี
“พีระศักดิ์”บิ๊ก สนช.ปล่อยกู้ “ลูกชาย”ปธ.บ.ฟุตบอลอุตรดิตถ์ 2 ล.
เจาะรายได้บ.ฟุตบอลอุตรดิตถ์ “ลูกพีระศักดิ์”ขาดทุนอ่วม 3 ปี 3.3 ล.
โชว์บ้านไม้ทรงไทย 10 ล.“พีระศักดิ์”พระเครื่องเพียบเหยียบ 15 ล.
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นายพีระศักดิ์ พอจิต จาก สำนักข่าวแห่งชาติ