เครือข่าย 14 องค์กรยื่น สนช. ค้านร่างกม.ประกันสังคม ฉบับ ก.แรงงาน
เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน 14 องค์กร รวมตัวยื่นหนังสือต่อ สนช.คัดค้านร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับกระทรวงแรงงาน ชี้ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกันตน เรียกร้องสนช.ส่งร่างกลับครม. พร้อมขอให้พิจารณาข้อเสนอ 4 หลักการ
วันที่ 23 กันยายน 2557 เวลา 14.30 น. เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) 14 องค์กร นำโดย นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และน.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ได้เข้าพบนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมกับยื่นหนังสือคัดค้านร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับกระทรวงแรงงาน และเรียกร้องให้ สนช.ส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว กลับไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่อีกครั้ง ณ รัฐสภา กรุงเทพฯ
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับกระทรวงแรงงาน เท่าที่เครือข่าย คปค,ร่วมกันศึกษาและติดตาม พบว่า ร่างพ.ร.บ.ของกระทรวงแรงงานไม่เกิดประโยชน์กับผู้ประกันตน เพราะไม่ได้ครอบคลุมผู้มีสิทธิประกันตนทั้งหมดจำนวนกว่า 40 ล้านคน ขณะเดียวกันสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับ ก็ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้กองทุนประกันสังคมที่มีมูลค่าสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท น่าจะมีระบบบริการจัดการใหม่ โปร่งใส และตรวจสอบได้
นายมนัส กล่าวว่า ทางภาคีเครือข่ายประกันสังคมฯ อยากจะมีส่วนร่วมในการร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมในครั้งนี้ จึงได้เสนอหลักการที่กฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่พึงมีทั้งหมด 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.ความครอบคลุม ทั้งกลุ่มเป้าหมายคนทำงานและพื้นที่ รวมถึงครอบคลุมสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พึงจะได้รับด้วย 2.หลักความเป็นอิสระและบูรณาการของระบบบริหาร 3.หลักความโปร่งใสและมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน และ 4.หลักยืดหยุ่น เป็นธรรม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม
“โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนนั้น ผู้ประกันตนทุกคนที่ส่งเงินเข้ากองทุนทุกเดือน ต้องมีสิทธิเลือกผู้บริหารกองทุน ส่วนกรรมการบริหารกองทุนต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย” นายมนัส กล่าว และว่า ทางเครือข่ายอยากจะให้ สนช.ยับยั้งกฎหมายฉบับนี้ไว้ก่อน และส่งกลับไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่ แล้วนำเนื้อหาและ 4 หลักการของเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) บรรจุไว้ในหลักกฎหมายด้วย ก่อนที่จะส่งกลับไปให้สนช.พิจารณาอีกครั้ง
ขณะที่ น.ส.อรุณี กล่าวเสริมว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับกระทรวงแรงงาน ยังเป็นไปในรูปแบบเดิม จึงไม่เป็นอิสระ ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานราชการกระทรวงแรงงานอยู่ อย่าง ปลัดกระทรวงฯ ก็เป็นประธานบอร์ดโดยตำแหน่ง ซึ่งการบริหารกองทุนควรเป็นมืออาชีพทางด้านการบริหารกองทุน พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนทุกคนมีส่วนร่วมในการบริหาร มีอำนาจเลือกผู้บริหารกองทุนด้วยตนเอง
ด้าน น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงแนวทางลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งทางเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ก็หวังว่าน่าจะได้รับโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในเสนอหลักการที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องคนทำงานทุกกลุ่ม หากรัฐบาลปฏิเสธการขอมีส่วนร่วมครั้งนี้ เท่ากับไม่ตอบโจทย์ของนายกรัฐมนตรีตามที่ประกาศไว้
สำหรับเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน ประกอบด้วย องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบประเทศไทย และ สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน