กทม.เฮ! ศาลปค.ยกฟ้องปมไล่อดีตผอ.สำนักป้องกันฯคดีรถดับเพลิง
กทม. เฮ! ศาลปกครองกลางยกฟ้องคดี “พล.ต.ต.อธิลักษณ์” อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฟ้อง กทม.-ผู้ว่าฯ ปมไล่ออกในคดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง เหตุชอบด้วยกฎหมาย ชี้มติ ป.ป.ช. ตัดสินถูกต้อง ข้ออ้างฟังไม่ขึ้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2557 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้ฟ้องคดี โดยกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ร้องสอด กรณีถูกคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง กรณีการจัดซื้อรถดับเพลิง และเรือดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร โดยเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยคดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 5314/2551 เรื่อง ลงโทษไล่ข้าราชการ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคู่กรณีโต้แย้งกันว่า การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบหรือไม่ จึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำผิดตามที่มีการกล่าวหา และชี้มูลความผิดหรือไม่
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจโดยชอบในการออกคำสั่งที่พิพาทลงโทษผู้ฟ้องคดี ก่อนการออกคำสั่งก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กำหนดไว้โดยครบถ้วนแล้วตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535
แต่เนื่องจากการออกคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นการสั่งตามการชี้มูลความผิดของผู้ร้องสอด โดยถือเอาสำนวนการสอบสวนของผู้ร้องสอดเป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงสมควรวินิจฉัยก่อนว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำผิดตามที่มีการชี้มูลของผู้ร้องสอดหรือไม่
ข้อเท็จจริงจากการสอบสวนของผู้ร้องสอดซึ่งนำสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มาใช้เป็นสำนวนการสอบสวนของผู้ร้องสอด และจากการแสวงหาข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวน ปรากฏว่า พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดในเรื่องที่พิพาททุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มโครงการ การอนุมัติโครงการ การกำหนดรายละเอียดพัสดุ การจัดซื้อและการเข้าทำสัญญา พฤติการณ์กระทำถือเป็นกรณีทุจริตต่อหน้าที่และเป็นการประพฤติชั่ว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ออกคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามการชี้มูลของผู้ร้องสอดจึงเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ชอบแล้ว และเมื่อปรากฏว่า การออกคำสั่งที่พิพาทเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ใช่กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้อำนาจหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ฟ้องคดี การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่า ผู้ร้องสอดวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดพลาด ผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการเข้าทำสัญญาที่พิพาท ราคาจัดซื้อไม่ได้สูงเกินควร การโต้แย้งการระงับเปิด L/C ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ และผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นผู้ที่ทำให้สัญญาเกิดผลบังคับนั้น
เห็นว่า ผู้ร้องสอดได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยถูกต้องแล้ว ผู้ฟ้องคดีถูกชี้มูลว่าเป็นผู้ร่วมกระทำผิด ราคาที่ซื้อขายกันเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่นำมาวินิจฉํยถึงความเสียหายของทางราชการเท่านั้น ความเสียหายในส่วนอื่น ๆ ยังปรากฏอยู่ เช่น เรื่องความเหมาะสมของคุณภาพสินค้ากับราคา เป็นต้น และการเปิด L/C ไม่ได้เป็นจุดเริ่มผูกพันสัญญา แต่เป็นเพียงการเริ่มปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาเท่านั้น สัญญายังคงผูกพันกันนับแต่ลงนามทั้งสองฝ่ายแล้ว ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจรับฟังได้
พิพากษายกฟ้อง
อ่านประกอบ :
เหตุผลศาลปค.ตัดสิน“วัฒนา-อภิรักษ์”รอดจ่ายค่าเสียหายคดีรถดับเพลิงกทม.
ดูเหตุผล “ทายาทสมัคร” แย้งศาลปค.คดีจ่ายคืนกทม. 587 ล.ทำไมไม่ได้?
ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบ“อดีตรองผู้ว่าฯกทม.”ส่อทุจริตซื้อรถ-เรือดับเพลิง
หมายเหตุ : ภาพประกอบ รถดับเพลิง จาก postjung