น้อยจริง! นโยบายเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ดร.เศรษฐพุฒิจี้รัฐหันทำเรื่องระยะยาว
สถาบันอนาคตไทยศึกษา แถลงผลวิจัย “ 7 สาเหตุที่ประสิทธิภาพแรงงานของไทยต่ำ” พบการลงทุนภาครัฐ ยังต่ำเตี้ย ไม่ฟื้น เท่ากับเมื่อ 17 ปี ที่แล้ว เหตุเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย นโยบายขาดความต่อเนื่อง ไม่ผลิตสินค้ามูลค่าสูง เน้นผลิตประกอบเป็นหลัก ขาดการวิจัยพัฒนา
วันที่ 22 กันยายน สถาบันอนาคตไทยศึกษา จัดงานแถลงข่าวถึงผลการศึกษาเรื่อง “ 7 สาเหตุที่ประสิทธิภาพแรงงานของไทยต่ำ” ณ มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ห้อง ML2304 ชั้น 23 อาคาร ดิ ออฟฟิศเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหารสถาบันฯ และ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ผู้จัดการฝ่ายวิจัย
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประสิทธิภาพแรงงานของไทยอยู่ในระดับต่ำ และเพิ่มขึ้นน้อยมาก แม้จะมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้วก็ตาม แต่ประสิทธิภาพแรงงานไม่ค่อยเพิ่มตาม โดยจะพบว่า ระดับการลงทุนของไทยปี 2556 คิดเป็น 84% ของระดับการลงทุนก่อนวิกฤติปี 2540 หรือเท่ากับเมื่อ 17 ปีที่แล้ว
“ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจเหมือนไทยเมื่อปี 2540 ต่างก็ฟื้นการลงทุนให้กลับมาสูงกว่าเมื่อก่อนเกิดวิกฤติได้หมดแล้ว เช่น เกาหลีใต้ มีระดับการลงทุนในปัจจุบัน คิดเป็น 130% มาเลเซีย 146% อินโดนีเซีย 173%”
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับการลงทุนของไทยต่ำ เนื่องจากประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาลค่อนข้างบ่อย ส่งผลนโยบายขาดความต่อเนื่อง ซึ่งการลงทุนภาครัฐก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย และถึงแม้ว่าในหลายๆ รัฐบาลที่ผ่านมาจะประกาศนโยบายการลงทุนขนาดใหญ่ แต่การจัดการยังไม่ได้ลงมือทำ
“การลงทุนภาครัฐไม่มา การลงทุนภาคเอกชนก็ไม่เกิด เราอยากเห็นการลงทุนจากภาครัฐ เพื่อไปกระตุ้นการลงทุนทางภาคเอกชน” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว และว่า การลงทุนโครงการใหญ่ๆ ที่ผ่านมาที่ยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากติดปัญหาการจัดการ เรื่องของความโปร่งใส ทำให้เกิดกระแสต่อต้านสูง ดังนั้น ในอนาคตการลงทุนภาครัฐต้องมีความโปร่งใส ชัดเจน เปิดเผย และตรวจสอบได้ เชื่อว่า ทำตรงนี้ได้ จะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นโยบายรัฐบาลส่วนใหญ่ยังมองแค่ระยะสั้น นโยบายหลักๆ เป็นเรื่องของการลด แลก แจก แถม ขณะที่นโยบายที่ช่วยเรื่องประสิทธิภาพแรงงาน หรือเรื่องขีดความสามารถการแข่งขัน ถามว่า มีอะไรบ้าง ซึ่งก็พบว่า น้อยจริงๆ ฉะนั้น รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องทำสิ่งที่เป็นเรื่องของระยะยาวของประเทศให้มากขึ้น
ส่วนการแก้ปัญหาประสิทธิภาพแรงงานไทยนั้น ประธานกรรมการบริหารสถาบันฯ กล่าวว่า ต้องทำในระดับภูมิภาค กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เพื่อให้คนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น คนได้ไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน และยังช่วยให้หัวเมืองรองมีโอกาสพัฒนาความเป็นเมืองเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคที่มีมาอย่างยาวนาน
“การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานไทย หลายๆ เรื่องพูดกันมานานแล้ว แต่พบว่า การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา ทำในระดับประเทศไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เวิร์ก จำเป็นต้อเปลี่ยนมาทำในระดับพื้นที่ หรือระดับภูมิภาคแทน” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ สถาบันอนาคตไทยศึกษา ยังเสนอให้มีการสร้างและพัฒนา คลัสเตอร์(Cluster) ใหม่ในภูมิภาค เช่น การพัฒนาภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกยางพาราที่ใหญ่สุด พัฒนาให้เป็น คลัสเตอร์ยางพารา โดยมีการวางยุทธศาสตร์ร่วมกัน ผลักดันนโยบายที่จะดึงดูดเงินลงทุนจากอุตสาหกรรมยางล้อ จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง จัดให้มีสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิกและวิศวกรรม เป็นต้น
สำหรับผลงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพแรงงาน และความสามารถในการแข่งขัน ของสถาบันอนาคตไทยศึกษานั้น พบว่า 7 สาเหตุที่ประสิทธิภาพแรงงานไทยต่ำ ประกอบด้วย
1.การลงทุนในประเทศต่ำ
2.ไม่มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตที่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (Moving up value chain)
3.แม้แรงงานจะมีระดับการศึกษาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ไม่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ หรือตลาดแรงงาน
4.โครงสร้างตลาดแรงงาน 40% แรงงานส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคที่มีประสิทธิภาพแรงงานต่ำสุด
5.แม้แรงงานจะย้ายออกจากภาคเกษตร เข้าสู่ภาคบริการ แต่ประสิทธิภาพแรงงาน ก็ยังต่ำกว่า ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งพบว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมกลับแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย นับเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ประสิทธิภาพแรงงานโดยรวมโตช้า
6.กว่า 40% ของลูกจ้างเอกชนอยู่ในบริษัทที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 10 คน ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุน ที่จะลงทุนซื้อเครื่องจักร และอุปกรณ์ รวมถึงเงินลงทุนฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
และสุดท้าย 7. มีมนุษย์เงินเดือนอยู่ในภาคเอกชน เพียง 6 ล้านคนเท่านั้น ประเทศไทยมีกำลังแรงงานในปี 2556 ทั้งหมด 39 ล้านคน ในจำนวนนี้ 23 ล้านคน ประกอบอาชีพอิสระ (ไม่ใช่ลูกจ้าง เช่น เกษตรกร คนขับแท็กซี่ แม่ค้า เป็นต้น) มีเพียง 16 ล้านคนที่เป็นลูกจ้าง (3 ล้านคนเป็นข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ อีก 13 ล้านคนลูกจ้างเอกชน)
ที่น่าสังเกต ในจำนวนลูกจ้างเอกชน 13 ล้านคนนั้น แบ่งเป็น 6 ล้านคน เรียกว่า ได้เงินเดือนประจำ เป็น “มนุษย์เงินเดือน” ที่เหลืออีก 7 ล้านคน เป็นลูกจ้างชั่วคราว ยังได้รับค่าจ้างรายวัน หรือตามชิ้นสินค้าที่ผลิตได้
นางสาวศิริกัญญา กล่าวถึงกรณีที่เอกชนส่วนใหญ่ เน้นการจ้างแบบไม่ใช่ลูกจ้างประจำ และใช้แรงงานต่างด้าวเพื่อให้ได้เปรียบเรื่องต้นทุน ย่อมทำให้เอกชนขาดแรงจูงใจที่จะลงทุนในการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะ ฝีมือให้กับลูกจ้าง
อ่านข้อมูลประกอบ:
7 สาเหตุที่ประสิทธิภาพแรงงานไทยต่ําสาเหตุที่ประสิทธิภาพแรงงานไทยต่ํา