สมชาย เก้านพรัตน์ : จริยธรรมของนายกรัฐมนตรี
“...ในวันที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี ระหว่างการพักการประชุม ..ได้มีการพูดคุยกันถึงหนังสือของนายวิทยา ปัตตพงศ์ กรรมการอัยการ อดีตรองอัยการสูงสุด แต่นายกรัฐมนตรีกลับบอกว่าให้เสนอชื่อการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการอัยการตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ไปก่อน หากผิดกฎหมายให้องคมนตรีคืนเรื่องมา แล้วค่อยส่งเรื่องให้ ก.อ. พิจารณา...”
ผมได้เขียนบทความถามหาเหตุผลจากนักกฎหมายที่ให้คำแนะนำแก่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ให้มีคำสั่งโยกย้าย ปลด และแต่งตั้งอัยการ โดยไม่ผ่านคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ และพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ ว่าท่านใช้กฎหมายใดที่ยกเว้นกฎหมายดังกล่าว
แต่ก็ไม่ได้คำตอบ เพราะเขาไม่สามารถอธิบายได้
ทั้งที่ คสช. ได้ทำการปกครองโดยใช้กฎหมายบริหารราชการ โดยมีการยกเลิก แก้ไข และออกกฎหมายใหม่ มาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศ และมิได้ยกเลิกกฎหมายหรือระงับการใช้กฎหมายขององค์กรอัยการแต่ประการใด
แต่เป็นเรื่องธรรมดาไม่มีผู้ใดรอบรู้ทั้งหมด อยู่แต่ว่าเมื่อรู้ว่าผิดพลาดแล้วต้องแก้ไข
ผมได้เขียนบทความชื่นชม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้นำคนหนึ่งซึ่งเห็นข้อบกพร่องแล้วแก้ไข โดยนายกรัฐมนตรีได้เข้าประชุม กตช. และ กตช. ได้มีมติแต่งตั้ง พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็น ผบ.ตร. อันเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ และได้มีคำสั่งให้ชะลอการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ระงับการนำรายชื่อข้าราชการที่ คสช. มีคำสั่งแต่งตั้ง โยกย้าย และรอให้คณะรัฐมนตรีประชุมกำหนดนโยบายเสียก่อน และให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดไปพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไปอันเป็นการปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้นำรายชื่อข้าราชการกระทรวงมหาดไทยเสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโยกย้ายแตกต่างไปจากคำสั่งหัวหน้า คสช. เช่น ตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน
และต่อมามีข่าวว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะเสนอรายชื่อโยกย้ายข้าราชการกระทรวงยุติธรรมเสนอคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์นี้ ซึ่งรายชื่อปลัดกระทรวงยุติธรรมก็ไม่เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ เช่นกัน
แต่เนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ได้มีข่าวลือและกล่าวโจมตีนายกรัฐมนตรีว่าได้เข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในองค์กรอัยการ ความว่า “ในวันที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี ระหว่างการพักการประชุม ท่านนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิษณุ เครืองาม และอีกผู้หนึ่งจะเป็นเลขา ครม. หรือผู้ใดอีกท่านหนึ่งผมจำไม่ได้
ทั้งสามท่านได้มีการพูดคุยกันถึงหนังสือของนายวิทยา ปัตตพงศ์ กรรมการอัยการ อดีตรองอัยการสูงสุด ที่บอกว่า คสช. จะแต่งข้าราชการอัยการต้องผ่าน ก.อ. และท่านวิษณุฯ ได้ให้คำปรึกษาว่า การย้ายข้าราชการอัยการเป็นหน้าที่ของ ก.อ. นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจย้ายข้าราชการอัยการ เห็นควรให้ส่งเรื่องคืน ก.อ. พิจารณาต่อไป
แต่นายกรัฐมนตรีกลับบอกว่าให้เสนอชื่อการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการอัยการตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ไปก่อน หากผิดกฎหมายให้องคมนตรีคืนเรื่องมา แล้วค่อยส่งเรื่องให้ ก.อ. พิจารณา” ซึ่งผมไม่เชื่อข่าวลือและเป็นทนายแก้ต่างให้ท่านนายกมาตลอดว่า ท่านนายกฯ เป็นคนดีและเขาเข้ามาแก้ไขสิ่งที่ทำผิดให้เห็นปรากฏแล้วอยู่เสมอ เช่น การแต่งตั้ง ผบ.ตร. และการแต่งตั้งข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ผมได้ทราบข่าวว่ายังไม่มีการนำรายชื่อเสนอโปรดเกล้าแต่ประการใด
ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสียหายต่อท่านนายกรัฐมนตรีที่ผมรัก ศรัทธาและชื่นชม ผมจึงจำเป็นต้องเขียนบทความกราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรีได้ทราบข้อความที่เล่าลือกัน และต้องการให้ท่านชี้แจงให้ประชาชนทราบว่าท่านยังจะแก้ไขข้อผิดพลาดตามที่ท่านได้ทำมาแล้วอีกหรือไม่
ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผมนั้น ผมยังศรัทธาท่านนายกฯ ที่พยายามแก้ไขข้อผิดพลาดและปฏิบัติให้ถูกกฎหมายมาหลายครั้ง และแม้กระทั่งการให้ข่าวเกี่ยวกับชาวอังกฤษที่ถูกฆ่าตาย ท่านก็ยังแสดงการขอโทษชาวต่างชาติ อันเป็นการแสดงความรับผิดชอบในการกระทำของท่าน อันเป็นการแสดงจริยธรรมทางการเมืองที่น่ายกย่องและเป็นตัวอย่างให้นักการเมืองในอนาคตต้องปฏิบัติตาม และเป็นการสร้างคุณภาพและมาตรฐานนักการเมืองโดยทหาร การกระทำดังกล่าวจึงไม่ทำให้เสียเปล่าในการยึดอำนาจ
แต่ในทางกลับกันถ้าข่าวลือเป็นความจริงต้องถือว่าท่านกระทำผิดต่อจริยธรรมทางการเมืองในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร กล่าว คือ
๑. คำกล่าวของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๐.๔๙ นาฬิกา ความตอนหนึ่งว่า “การบริหารประเทศในทุก ๆ ด้าน ในบทบาทของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนงานเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่ต้องการความรวดเร็ว ในการแก้ปัญหา โดยรัฐบาลและ คสช. ต้องมีการหารือในการปฏิบัติ ตลอดจนวิธีการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องระมัดระวังการก้าวล่วงซึ่งกันและกัน แต่ก็ต้องมีการตรวจสอบและถ่วงดุลกันเพื่อให้เกิด ความโปร่งใส ขอให้ทุกคนอย่าได้กังวลกับตัวบุคลมากนัก
วันนี้เราจะต้องสร้างระบบทุกระบบให้เข้มแข็ง เพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ส่วนราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นต้องเข้มแข็งพัฒนาปรับปรุงตนเองในทุกมิติ
ทั้งนี้ เตรียมการและรองรับการปฏิรูปที่จะต้องให้ฝ่ายการเมืองมีระบบธรรมาภิบาล ในการบริหารประเทศในระยะต่อไป และจะได้ร่วมกันนำพาประเทศชาติไปสู่อนาคต
อย่างไรก็ตามประชาชนก็เช่นกันเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของพวกเราในขณะนี้ สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศได้ ทั้งในงานด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีปัญหาสำคัญอยู่หลายประการด้วยกัน ทั้งภาคเกษตรกร รัฐ ประชาชน โดยทั่วไป ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน.......... โอกาสนี้ ผมขอให้คำมั่นต่อพี่น้องประชาชนว่าจะมุ่งมั่น ทุ่มเทอย่างเต็มที่ ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดถือผลประโยชน์องประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน นำความสุข ความร่มเย็นมาสู่พี่น้องประชาชน และทำให้ประเทศชาติมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงพร้อมไปกับการสร้างความรักความสามัคคีในทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย..”
๒. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงนโยบายต่อ สนช. เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๐.๕๐ นาฬิกา “ นโยบาย ข้อ ๑๑. ...การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในระยะเฉพาะหน้า จะเร่งปรับปรุงประมวลกฎหมายของประเทศและกฎหมายอื่น ๆ ที่ล้าสมัย ไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน โดยจะใช้กลไกของหน่วยงานเดิมที่มีหน้าที่ให้ความเห็นทางกฎหมาย และระดมผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นคณะกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นเฉพาะกิจเป็นผู้เร่งดำเนินการ เพิ่มศักยภาพหน่วยงานที่ให้ความเห็นทางกฎหมาย และจัดทำกฎหมายให้ปฏิบัติงานอย่างรวดเร็ว สามารถให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนและประชาชนได้ตามหลักเกณฑ์ที่เปิดขว้างขึ้นในระยะต่อไป จะจัดตั้งองค์กรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากการแทรกแซงของรัฐ นำเทคโนโลยีทันสมัยและความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อเร่งรัดการดำเนินคดีทุกขั้นตอนให้รวดเร็วเกิดความเป็นธรรม ปรับปรุงระบบการช่วยเหลือทางกฎหมายและค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยให้เข้าถึงความเป็นธรรมได้ง่ายและรวดเร็ว......”
๓. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มาพูดกับประชาชน เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลาประมาณ ๑๙ นาฬิกาเศษ ว่า จะยึดแนวทางกฎหมายในการบริหารประเทศ
๔. หลักในการปกครองประเทศ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายตรวจสอบ ต่างจะเป็นอิสระต่อกัน และจะไม่แทรกแซงซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมจะต้องปราศจากการแทรกแซงจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และแม้แต่ผู้บังคับบัญชา กฎหมายจึงได้ออกแบบงานบริหารงานบุคคลเพื่อเป็นหลักประกันการเป็นอิสระแก่ตุลาการและอัยการ โดยให้การบริหารงานบุคคลเป็นไปตาม ก.ต. หรือ ก.อ. แล้วแต่กรณี เพื่อเป็นหลักประกันต่อประชาชนว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ตุลาการและอัยการ อันเป็นหลักสากล
ดังนั้น หากตามข่าวลือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีว่า ได้นำรายชื่ออัยการที่หัวหน้า คสช. มีคำสั่งโยกย้ายโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของ ก.อ. แล้ว
การกระทำดังกล่าว จึงเป็นการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ และพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ อันเป็นการแทรกแซงองค์กรอัยการซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม
อันเป็นการขัดต่อนโยบายที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อ สนช. ว่าจะจัดตั้งองค์กรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากการแทรกแซงของรัฐ และเป็นการไม่ปฏิรูปการเมืองให้มีระบบธรรมาภิบาล และไม่เป็นไปตามหลักจริยธรรมในฐานะฝ่ายบริหารที่จะไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม
ซึ่งผมหวังอย่างยิ่งว่าข่าวลือนั้น จะไม่เป็นความจริง แต่ถ้าหากเป็นความจริง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป
ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีจะต้องสร้างวัฒนธรรมและจริยธรรมทางการเมือง โดยรับผิดชอบต่อการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม โดยลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี ของสก๊อตแลนด์ ที่ลาออกโดยแสดงความรับผิดชอบต่อการเสนอให้สก๊อตแลนด์แยกตัวออกจากประเทศอังกฤษ อันจะทำให้การยึดอำนาจของท่านไม่เสียของ เช่น การปฏิวัติในปี ๒๕๔๙ ท่านจะได้รับการสรรเสริญว่าได้วางหลักจริยธรรมแก่ฝ่ายการเมืองตลอดไป
ถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ โดยปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๒ ความว่า “ ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุข เรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมความดีให้คนดีปกครองบ้านเมืองและคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”
จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องรับผิดชอบต่อสังคมให้มากขึ้น และยอมรับในสิ่งที่ได้กระทำไป ทั้งต้องเปลี่ยนค่านิยม ยกย่องคนดี อย่านับถือคนเพราะเขามีอำนาจหรือร่ำรวย แต่ต้องนับถือเพราะเขาเป็นคนดี มีศีลธรรม ยึดถือคำสัตย์ อันเป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป
องค์กรอัยการได้บริหารงานบุคคลโดย ก.อ. ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๐๒ เพราะเป็นหลักประกันต่อการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการให้เป็นอิสระปราศจากการแทรกแซง จากฝ่ายบริหาร และตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นมา องค์กรอัยการบริหารงานบุคคลโดย ก.อ. จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าสถานการณ์จะปกครองโดยประชาธิปไตยหรือการปฏิวัติ ก็ไม่เคยมีผู้มีอำนาจบริหารท่านใด ที่จะเข้ามาแทรกแซงองค์กรอัยการ
เพราะเขาทราบถึงหลักการบริหารราชการแผ่นดินว่า ฝ่ายบริหารจะไม่ แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นหลักสากล ผมจึงได้ประกาศไว้ทุกข์ให้องค์กรอัยการโดยแต่งดำตั้งแต่วันที่หัวหน้า คสช. มีคำสั่งโยกย้ายอัยการโดยไม่ผ่าน ก.อ. อันถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ในองค์กรอัยการ
และนับตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป (๒๓ กันยายน ๒๕๕๗) ผมใคร่ขอเชิญชวนข้าราชการฝ่ายอัยการทุกท่าน นักกฎหมาย และประชาชน ที่ต้องการเห็นกระบวนการยุติธรรมต้องปลอดจากการแทรกแซงไม่ว่าเป็นรูปแบบใดๆ ก็ตาม และเพื่อเป็นหลักประกันต่อการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการ ได้โปรดแต่งกายไว้ทุกข์ในชุดดำหรือชุดขาวดำเพื่อส่งสัญญาณไปยังองค์กรต่าง ๆ ที่คิดจะแทรกแซงองค์กรอัยการให้หยุดการกระทำดังกล่าว
และเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีให้ป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในฐานะ ที่ท่านเป็นฝ่ายบริหารซึ่งจะต้องบริหารประเทศให้ประชาชนมั่นใจว่ากระบวนการยุติธรรมจะไม่ถูกแทรกแซง
สมชาย เก้านพรัตน์
๒๑ กันยายน ๒๕๕๗
หมายเหตุ :ภาพประกอบเรื่องจาก news.mthai.com