ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มองความอยุติธรรม ผ่าน 'เทียนไข หลังคาบ้าน เก้าอี้ เหรียญกล้าหาญ'
"ความอยุติธรรมทางสังคมใส่หน้ากาก ถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดา ธรรมชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้คนก็ไม่ตั้งคำถาม ยอมรับความไม่เป็นธรรมทางสังคม ว่าเป็นความเป็นธรรม ความอยุติธรรมทางสังคมสามารถหลับซ่อนอยู่ในหน้ากากหลายชนิด"
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกองทัพเรือ จัดการประชุมวิชาการประเพณี 4 สถาบัน ครั้งที่ 17 หัวข้อเรื่อง “ความเป็นธรรมในสังคม:เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ หอประชุมศรีบูรพา มธ.ท่าพระจันทร์
ภายในงาน ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวปาฐกถา เรื่อง “ความเป็นธรรมในสังคม:เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยเน้นเรื่องความอยุติธรรมทางสังคม
“แทบไม่ต้องกล่าวเลยว่า ความอยุติธรรม เป็นเรื่องยากเพียงใด เพราะยากทั้งระดับความเข้าใจ มโนทัศน์ และการนำไปปฏิบัติ การศึกษาเรื่องยากๆ อย่างเรื่องความอยุติธรรมในสังคม คงเป็นเช่นที่หลายคนสรุปว่า ไม่มีศาสตร์ใดจะอ้างความชอบธรรมในการเป็นผู้ประเมินตัดสินความถูกต้องได้ เพราะความถูกต้องอย่างความอยุติธรรม แท้จริงแล้วเป็นเรื่องของการตีความจากจุดยืน มุมมองของกลุ่มต่างๆ ดังนั้นการกำหนดว่า สิ่งใดคือความถูกต้อง ความยุติธรรม ความชอบ หรือความเป็นธรรมทางสังคม จึงเป็นการช่วงชิงความหมายที่มีเรื่องของผลประโยชน์ อคติ และความสัมพันธ์ทางอำนาจ มาเกี่ยวข้อง” ...
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องความอยุติธรรม เป็นเรื่องง่ายกว่าจะพูดถึง เพราะสังคมไทยทุกวันนี้ เอ่ยถึงความอยุติธรรมไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีตัวอย่างให้คิดในสมองมากมายเต็มไปหมด แต่ผู้คนก็ยังสงสัย ความอยุติธรรมหน้าตาเป็นอย่างไร ทำไมผู้คนในสังคมไทยถึงทนอยู่กับความอยุติธรรม และความไม่เป็นธรรมในสังคมได้อย่างไร
จากนั้น ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ยกกรณีศึกษาที่เกิดในสังคมมนุษย์ ทั้งในเมืองไทย และในที่อื่นๆ 4 กรณี คือ “เทียนไข หลังคาบ้าน เก้าอี้ และเหรียญกล้าหาญ”
เทียนไข
21 พฤษภาคม 2556 เกิดไฟไหม้บ้านเลขที่ 334 หมู่ 11 ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ทำให้เด็กชาย และเด็กหญิง ถูกไฟคลอกเสียชีวิต ระหว่างเกิดเหตุแม่ของเด็กพยายามช่วยลูกทั้งสองจนได้รับบาดเจ็บ ตำรวจคาดว่าเด็กทั้งสองอาจจุดเทียนไขไว้ในห้องนอน ก่อนจะลุกลามไปติดตัวบ้าน หลังเกิดเหตุมีข่าวว่า ในหลวงพระราชทานถุงยังชีพให้ครอบครัวนี้ ขณะที่อบต.หัวรอ สร้างบ้านหลังใหม่ให้อยู่
ข่าวเช่นนี้เป็นข่าวอุบัติภัยที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่คนเข้าใจข่าวอย่างนี้อย่างไร เพียงรับทราบเป็นอุบัติภัยเท่านั้น หรือใคร่ครวญหาคำอธิบายให้ไปไกลกว่าที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์
คำอธิบายทางสังคมศาสตร์ อาจเริ่มจากคำถามว่า เด็ก หรือแม่เด็กจุดเทียนไขไว้ทำไม ระหว่างเกิดเหตุ แม่ไปไหนทำไมไม่อยู่บ้านดูลูก ข้อมูลคำตอบที่ได้จากคำถามเหล่านี้ เมื่อนำมาประมวลกับแนวคิดสังคมศาสตร์ อาจช่วยให้เข้าใจสิ่งที่เกิดและสังคม ที่แวดล้อมได้ดีขึ้น
ที่เด็กจุดเทียนไข เพราะเด็กต้องการอ่านหนังสือ ทำการบ้าน ที่ไม่เปิดไฟเพราะบ้านนี้ถูกตัดไฟ ที่ถูกตัดไฟ เพราะค้างค่าไฟ 400 บาท แม่ไม่มีเงินจ่ายค่าไฟ เธอต้องเลี้ยงดูลูกลำพัง และทำงานที่ตลาดหัวรอ ได้เงินเดือนละ 5 พันบาท
คงต้องถามว่า โศกนาฎกรรมเช่นนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะไม่มีเงินเสียค่าไฟ 400 บาทเช่นนั้นหรือ
ผมต้องสรุปว่า ในสังคมไทยมีคนยากจนอยู่ไม่น้อย หรือแม้กระทั่งจะกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ วันละ 300 บาท แต่ผู้เป็นแม่ไม่ได้รับค่าจ้างเช่นนั้น ในอีกเรามีองค์กรอย่างการไฟฟ้า ที่ทำงานของตนอย่างมีประสิทธิภาพ จัดบริการไฟฟ้าให้คนในประเทศ ใครไม่จ่าย ก็ถูกตัดไฟ
ผู้บริหารองค์กรอย่างการไฟฟ้าคงเชื่อว่า เหตุที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม หรือความเป็นธรรมของสังคม เพราะตนไม่มีหน้าที่ถามว่า “เพราะอะไรคนที่ถูกตัดไฟ จึงไม่มีเงินจ่ายค่าไฟ”
ต้องตั้งข้อสังเกตด้วยว่า องค์การอนามัยโลกพบว่า แม้สังคมที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ เด็กจากครอบครัวยากไร้ ก็มีโอกาสตายจากไฟไหม้บ้าน มากกว่าเด็กในครอบครัวร่ำรวยถึง 16 เท่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะปัจจัยหลายประการ เช่นลักษณะบ้าน การอยู่อาศัย อาชีพพ่อแม่ การเดินทางในสภาพที่ไม่ปลอดภัย ฯลฯ
“เด็กที่ตายที่พิษณุโลกและที่อังกฤษ เป็นอาการอย่างหนึ่งของความอยุติธรรมในสังคมหรือไม่”
หลังคาบ้าน
เมื่อพายุเฮอริเคนชาลีพัดผ่านอ่าวเม็กซิโก ถล่มรัฐฟลอริด้า เมื่อปี 2547 มีคนเสียชีวิต 22 คน ก่อความเสียหาย 11 ล้านเหรียญฯ ผลทันทีของพายุนี้คือ ราคาสินค้าในเมืองออแลนโด้ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว น้ำแข็งเคยราคา 2 เหรียญฯ ก็ราคา 10 เหรียญฯ โรงแรมชั่วคราวที่เคยให้เช่าห้องราคาคืนละ 40 เหรียญฯ ก็กลายเป็น 160 เหรียญฯ
พายุได้พัดต้นไม้ล้มลงมาก บ้านหลายหลังถูกต้นไม้ล้มทับ เจ้าของบ้านหลังหนึ่งติดต่อผู้รับเหมาขอให้ดำเนินการยกต้นไม้ 2 ต้น ผู้รับเหมาคิดราคายกต้นไม้ 2 ต้นจากหลังคาบ้าน 23,000 เหรียญฯ (ประมาณ 4 แสนบาท) ขณะที่ชาวเมืองอีกคนหนึ่งต้องจ่ายค่าจ้างยกต้นไม้ทับหลังคาบ้าน 10,500 เหรียญฯ (ประมาณ 3.2 แสนบาท)
เจ้าของบ้านมองว่า ทำอย่างนี้ไม่ถูกที่คนจะฉวยโอกาสจากความเดือดร้อนและความทุกข์ยากของคนอื่น
อัยการรัฐฟลอริดาเห็นด้วย และกล่าวว่า
“ผมตกตะลึงมากกับระดับความโลภที่ฝังลึกในวิญญาณของบางคนจนสามารถแสวงหาผลประโยชน์ จากผู้ตกทุกข์ได้ยากจากพายุเฮอริเคน”
สำนักงานอัยการรัฐได้รับเรื่องร้องเรียนกว่า 2 พันเรื่อง ในที่สุดรัฐฟลอริด้าก็ออกกฎหมายใหม่ เพื่อป้องกันการโก่งราคา
เรื่องนี้ได้นำไปสู่คำถามมากมาย เช่น ผิดด้วยหรือ ผู้ขายและให้บริการจะฉวยโอกาสจากภัยธรรมชาติ รัฐควรออกกฎหมายห้ามค้ากำไรเกินควร หรือไม่ เพราะเป็นการแทรกแซงเสรีภาพของผู้ซื้อ และผู้ขายในการตกลงทำธุรกรรมระหว่างกัน
ถ้าเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้น คือการฉวยโอกาส และเก็งกำไร หรือค้ากำไรเกินควร ก็หมายความว่า ความอยุติธรรมในสังคมเกิดขึ้นแล้ว แต่เรื่องนี้ไม่เพียงเกี่ยวกับปัญหาปัจเจกชนควรปฏิบัติต่อกันอย่างไร แต่ยังเกี่ยวด้วยว่า กฎหมายควรมีหน้าตาอย่างไร และผู้คนในสังคมควรจัดระเบียบสังคมอย่างไร
ทั้งหมดนี้หมายความว่า ความไม่เป็นธรรมทางสังคมนำไปสู่การก่อร่างสร้างคำถามและสถาบันเกี่ยวกับความยุติธรรมทางสังคมได้อย่างน่าสนใจ
แต่หากจะตอบคำถามว่า การค้ากำไรเกินควรผิดทุกกรณีหรือไม่ หรือในกรณีเผชิญภัยร้ายจากธรรมชาติเท่านั้นจึงจะถือว่าผิด รัฐเองมีสิทธิแทรกแซงตลาดหรือไม่ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เกี่ยวพันกับประเด็นอื่นๆ อย่างน้อย 3 เรื่อง คือ “สวัสดิการ เสรีภาพ และเรื่องคุณธรรม”…
|
เก้าอี้
ที่ทำงานแทบทุกแห่งในโลก รวมทั้งประเทศไทย มีโต๊ะและเก้าอี้ สถานที่ราชการเช่นอำเภอหรือสถานีตำรวจก็เช่นกัน ซึ่งแบ่งเก้าอี้ได้ 2 ประเภท คือเก้าอี้ของผู้มาติดต่อ (เหมือนกันหมด) และของราชการ (ไม่เหมือนกัน เพราะมีลำดับชั้น)
ฉะนั้นหากข้าราชการคนใดจะเอาเก้าอี้มาจากบ้านก็เป็นปัญหา ดังเรื่องต่อไปนี้
หนังสือของสำนักงานสรรพากรที่ 1 ปี 2553 เจ้าหน้าที่เขียนจดหมายถาม...
“เรียนสรรพากรพื้นที่สาขา...ข้าพเจ้าตำแหน่งนักสรรพากรชำนาญการได้ย้ายมาปฏิบัติราชการยังสำนักงานสรรพากรพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายนแล้ว และได้นำเก้าอี้ส่วนตัวมานั่งปฏิบัติราชการ เพราะเก้าอี้ของสำนักงานที่ข้าพเจ้านั่ง นั่งแล้วไม่สบาย ทำให้การปฏิบัติงานไม่คล่องตัว เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นโรคปวดหลัง จึงนำเก้าอี้ส่วนตัวมานั่ง แล้วข้าพเจ้านั้นย้ายไปปฏิบัติงานที่ใดก็นำเก้าอี้ส่วนตัวไปนั่งตลอด ซึ่งไม่เคยมีหัวหน้าคนใดแจ้งข้าพเจ้าว่า ทำไม่ได้
จนวันนี้เวลา 15:30 น. มีโทรศัพท์จากสรรพากรอำเภอแจ้งว่า ผู้ช่วยบอกให้ข้าพเจ้านำเก้าอี้ส่วนตัวกลับบ้าน เพราะมันไม่เหมาะกับตำแหน่งของข้าพเจ้า...ข้าพเจ้ารับทราบแต่จะยังไม่นำเก้าอี้กลับบ้าน และขอปฏิบัติงานในพื้นที่สาขาต่อไป ข้าพเจ้าของดูระเบียบปฏิบัติงานพื้นที่สาขาด้วย ที่ใช้ระเบียบใดห้ามนำเก้าอี้ส่วนตัวมานั่งระหว่างปฏิบัติราชการ”
นอกจากจดหมายนี้น่าสนใจ คำตอบก็ยังน่าสนใจ
“เก้าอี้ตัวนี้ไม่เหมาะสมสำหรับคุณ เนื่องจากมองดูแล้วมันเทียบเสมอสรรพากรอำเภอ ผู้เสียภาษีหรือประชาชนผู้มาติดต่องานมองดูแล้วสับสน ไม่ทราบว่าใครเป็นหัวหน้าหน่วยงาน ส่วนเรื่องปวดหลัง ให้ไปหาหมอ”
สำหรับนักวิชาการสรรพากรชำนาญการ การมีเก้าอี้ที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของเธอ คือสิ่งถูกต้อง การที่หัวหน้าสั่งให้นำเก้าอี้กลับบ้าน จึงเป็นความอยุติธรรมต่อเธอ และหลังของเธอเป็นอย่างยิ่ง จนเธอปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่ไม่เป็นธรรม จนกว่าผู้บังคับบัญชาจะสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร และชี้แจงให้เห็นว่า คำสั่งนำเก้าอี้กลับบ้านมีระเบียบอะไรรองรับ
ในทางกลับกัน ผู้บังคับบัญชาเห็นว่า สิ่งที่เธอทำไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้มาติดต่อราชการ เพราะเขาต้องการความแน่นนอนในเชิงลำดับชั้นว่า ใครอยู่ตรงไหน จะได้รู้ว่า จะเดินเรื่องอย่างไร
เรื่องนี้จึงเกี่ยวกับความเป็นธรรม เพราะเศรษฐกิจของเวลา ก็เป็นเงื่อนไขของความยุติธรรมเช่นกัน การเดินเรื่องกลับไปกลับมา เชื่องช้า ติดขัด ก็เป็นความอยุติธรรมกับประชาชน โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำ... ดังนั้น สายการบังคับบัญชาจึงดำรงอยู่เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการปฎิบัติงาน ...
เหรียญกล้าหาญ
กองทัพอเมริกามอบเหรียญกล้าหาญให้ทหารที่ตายด้วยมือศัตรู มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในศตวรรษที่ 21 เมื่อสหรัฐฯเข้าสู่สงครามในอิรัก และแอฟกานิสถาน ซึ่งทหารผ่านศึกทั้ง 2 ครั้งป่วยเป็นโรคเครียดจากภาวะหวาดผวามาก เช่น ฝันร้ายซ้ำซาก หดหู่รุนแรง และฆ่าตัวตาย มีทหารที่ป่วยเพราะโรคนี้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนนาย
นักรณรงค์เพื่อทหารผ่านศึกบางคน เสนอว่า คนเหล่านี้สมควรได้รับ เหรียญกล้าหาญ เพราะบาดแผลทางจิตใจก็ทำร้ายชีวิตคนได้พอๆ กับบาดแผลทางกาย
ปี 2552 กระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ ประกาศว่า เหรียญกล้าหาญ มีไว้ให้เฉพาะทหารที่บาดเจ็บมีแผลทางกายเท่านั้น แม้ทหารผ่านศึกที่มาอาการทางจิตจะมีสิทธิรับการรักษาพยาบาล และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล แต่พวกเขาไม่มีสิทธิรับเหรียญกล้าหาญ เพราะโรคเครียดจากภาวะหวาดผวา ไม่ได้เกิดจากความจงใจของศัตรู และเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก
ฝ่ายที่สนับสนุนการตัดสินใจของกระทรวงกลาโหม เห็นว่า การให้เหรียญกล้าหาญแก่ทหารผ่านศึกที่ได้รับบาดแผลทางจิตใจ จะทำให้รางวัลนี้เสื่อมเสีย พวกเขาเห็นว่าการเสียเลือดเนื้อควรเป็นเกณฑ์สำคัญ
ฝ่ายทหารผ่านศึกที่รณรงค์คัดค้านเห็นว่า กระทรวงกลาโหม และฝ่ายสนับสนุน เป็นทัศนคติที่ฝังลึกของกองทัพที่มองโรคทางจิตใจอย่างโรคเครียด จากภาวะหวาดผวาว่า เป็นเครื่องบ่งชี้ “ความอ่อนแอ”
ปัญหาเรื่อง เหรียญกล้าหาญ เป็นความขัดแย้งของแนวคิดที่ต่างกันว่าด้วยลักษณะของคุณธรรม และความห้าวหาญของทหาร
จากแง่คิดนักปรัชญาอย่าง อริสโตเติล ทำให้ไม่อาจตัดสินได้ว่า ใครคู่ควรกับเหรียญกล้าหาญ หรือเหรียญแห่งเกียรติยศเช่นนี้ ถ้าไม่ตั้งคำถาม ว่า “เหรียญนั้นเชิดชูคุณธรรมอะไร” หมายความว่า ต้องประเมินแนวคิดเรื่องคุณธรรม และการเสียสละ ต่างกันมาก
อันที่จริงก่อนศตวรรษที่ 20 เชื่อว่า ทหารที่เจ็บป่วยทางจิตใจในการรบ เกิดจากความขี้ขลาด หลายประเทศจึงมีนโยบายฆ่าทหารที่ไม่มีกำลังใจจะรบ ทหารตายเพราะเหตุนี้ประมาณร้อยละ 10
พอต้นศตวรรษที่ 20 ก็เริ่มพบ ปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถของทหารที่จะทนทานต่อความเครียดจากการรบ คือ ปัจจัยทางชีวภาพ สังคม และจิตใจ โดยปัจจัยที่เอื้อให้เกิดความเจ็บป่วยทางจิตเวช และเป็นตัวกระตุ้น คือการตายของเพื่อนทหารในหมู่ หมายความว่า การเจ็บป่วยทางจิตของทหาร เป็นเรื่องเกิดขึ้นจากสภาวะการรบในสงคราม จึงต้องถือ ภาวการณ์ป่วยทางจิต
แต่ว่า แม้จะตระหนักเช่นนี้ กองทัพสหรัฐฯ ในระยะแรก ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีการกำหนดให้วินิจฉัยว่า ทหารที่ป่วยทางจิตเวชในแนวหน้าทุกราย ป่วยเพราะ “ไร้เรี่ยวแรง” เพื่อให้เข้าใจว่าการไร้เรี่ยวแรงเป็นความผิดปกติทางจิตใจที่น้อยที่สุด
“ผมเห็นว่า ทหารที่บาดเจ็บทางจิตใจจากสงครามจะไม่ได้เหรียญกล้าหาญ เป็นความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง และคำอธิบายว่า ที่พวกเขาเจ็บป่วยไม่ได้เกิดจากความจงใจของศัตรู และวินิจฉัยได้ยากนั้น เป็นการชี้ว่า ความไม่เป็นธรรมทางสังคม...
การตัดสินให้ผู้บาดเจ็บทางกายเท่านั้นคู่ควรแก่เหรียญกล้าหาญ ก็อาจขยายขอบเขตแห่งเกียรติยศไม่สู่ปริมณฑลทางจิตใจ จะส่งผลอย่างไรต่อคุณค่าที่เขาต้องเสียสละ เพราะทหารหลายคนเสียแขน ขา หรือดวงตาไป เช่นนี้จะเป็นธรรมกับเขาหรือไม่
ที่น่าสนใจ แม้แต่ในโลกของการเจ็บป่วยทางกายที่เห็นได้ชัด ก็ใช่ว่า อวัยวะต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างมนุษย์ จะเสมอกัน”
จากการพิจารณาสิทธิของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันอธิปไตยและรักษาความสงบเรียบร้อยของชาติ พบว่า ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจะมีสิทธิไม่เท่ากัน
ค่าทดแทนอวัยวะต่างๆ ไม่เท่ากัน เช่น
- หูหนวกข้างหนึ่ง ได้รับค่าทดแทน 4 เท่าครึ่งของเงินเดือน
- ตาบอดข้างหนึ่ง ได้รับค่าทดแทน 21 เท่าครึ่งของเงินเดือน
- มือขาดข้างหนึ่ง ได้รับค่าทดแทน 18 เท่าครึ่งของเงินเดือน
-เท้าขาดข้างหนึ่ง ได้รับค่าทดแทน 15 เท่าครึ่งของเงินเดือน...
ที่น่าสนใจยิ่ง หากทุพพลภาพได้รับค่าชดเชย 30 เท่าของเงินเดือน แต่หากเสียชีวิตได้รับค่าทดแทนเพียง 25 เท่าของเงินเดือน หรือเท่ากับสูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์
....ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยบำเหน็จความชอบ แก้ไขเพิ่มเติม 2534
ปัญหาสำคัญคือเกณฑ์แบบนี้มาอย่างไร ?...
ทั้งหมดนี้เป็นการประเมินคุณค่าส่วนประกอบของร่างกายมนุษย์แยกออกเป็นชิ้นๆ และคาดว่า แต่ละชิ้นทำงานอย่างไร กำหนดความสำคัญแต่ละชิ้นต่อร่างกายมนุษย์คิดเป็นมูลค่า เป็นเงิน
“การตัดสินระหว่างการมีชีวิตอยู่ กับทุพพลภาพ อย่างหลังเป็นทุกข์ยิ่งกว่า และตัดสินไปด้วยว่า อวัยวะสืบพันธุ์สำคัญยิ่งกว่าการเสียดวงตา 2 ข้าง เป็นไปได้หรือไม่ เกณฑ์เช่นนี้ซ่อนความอยุติธรรมทางสังคมไว้อย่างละเมียดละไม”
เมื่อพิจารณา “เทียนไข หลังคาบ้าน เก้าอี้ และเหรียญกล้าหาญ” ในฐานะตัวอย่างความอยุติธรรมแล้ว ก็ยังไม่อาจแลเห็นหน้าตาความอยุติธรรมอยู่ดี...
จากนั้น ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ฉายภาพวาด เพื่อให้เห็นหน้าตาความยุติธรรม และความอยุติธรรม
สุดท้ายเขาอธิบายว่า ทำไมมนุษย์ทนอยู่กับความอยุติธรรมได้นานาชนิด …
“ความอยุติธรรมทางสังคมใส่หน้ากาก ถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดา ธรรมชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้คนก็ไม่ตั้งคำถาม ยอมรับความไม่เป็นธรรมทางสังคม ว่าเป็นความเป็นธรรม ความอยุติธรรมทางสังคมสามารถหลับซ่อนอยู่ในหน้ากากหลายชนิด...ฉะนั้นจึงยากที่ความอยุติธรรมทางสังคม หรือความเป็นธรรมทางสังคมจะชนะ เพราะความอยุติธรรมสิงซ่อนอยู่ ในกระบวนการต่อสู้เพื่อค้นหาความยุติธรรมเพื่อทุกคน ”