4 มุมมอง : สนช. ควรมีอำนาจถอดถอนหรือไม่
"จริงอยู่ รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่า สนช. มีอำนาจในการถอดถอน แต่บอกว่า ให้ สนช. ทำหน้าที่แทนวุฒิสภา แทนสภาผู้แทนราษฎร และทำหน้าที่แทนรัฐสภา ในการตีความของผม ผมก็ตีความตามนัยนี้ แต่ถึงที่สุดแล้ว ถ้าสงสัย ก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็เท่านั้นเอง..."
ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงทั้งในหมู่มวลสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และผู้ที่ติดตามสถานการณ์ทางการเมือง เกี่ยวกับข้อบังคับ สนช. ในหมวดอำนาจการถอดถอน ที่คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สนช.ภายในสัปดาห์หน้า โดยฝ่ายที่เห็นด้วยกับข้อบังคับ มีจำนวนไม่น้อยเห็นตรงกันว่ามีความจำเป็นต้องมีข้อบังคับหมวดถอดถอน เพราะเมื่อ สนช. มีอำนาจในการแต่งตั้ง ก็ย่อมต้องมีอำนาจถอดถอนด้วย ตามมาตรา 6 และมาตรา 13 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ขณะที่บางส่วนในสังคมก็มองว่า จะเป็นการก้าวล่วงระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สัมภาษณ์ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ , ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์และ สนช. ทั้ง 2 รายอย่าง ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว และนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ถึงข้อถกเถียงเรื่องอำนาจในการถอดถอนของ สนช. ที่แต่ละคนมีทั้งเห็นด้วยและเห็นต่างในแง่มุมของกฎหมาย แง่มุมของหลักการถ่วงดุลและแบ่งแยกอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ รวมถึงประเด็นเรื่องอำนาจหน้าที่ตามนัยของการตีความตามรัฐธรรมนูญเทียบเคียงกับบทบาทวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ดังความเห็นต่อไปนี้
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
@ สนช.ควรมีอำนาจถอดถอนหรือไม่ ?
ผศ.ดร.ศรีสมภพ : ผมคิดว่ากฎหมายหรือระเบียบต่างๆ ที่มีอยู่ก็ใช้ได้ครอบคลุมอยู่แล้ว ทั้งกฎหมาย ป.ป.ช. ( สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ) หรือการพิจารณาของศาลอาญา หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีอยู่ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ไม่น่าจะให้ สนช. เข้ามายุ่ง เพราะ สนช. ก็มีอำนาจชั่วคราวไม่น่าจะให้เขามาแทรกแซง ผมมองว่ากฎหมายที่มีอยู่ก็ครอบคลุมแล้ว
หาก สนช. มีอำนาจถอดถอนด้วยผมว่ามันจะทำให้ยุ่ง เพราะระบบ สนช. จะทำหน้าที่ทางด้านนิติบัญญัติ ไม่ควรไปยุ่งอำนาจของฝ่ายบริหาร ผมเกรงว่าจะยุ่งหากเรื่องระเบียบหลักเกณฑ์นี้อาจกลายเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป ว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะไปยุ่งกับฝ่ายบริหารในการแต่งตั้ง โยกย้าย อาจทำให้เกิดความสับสนในทางบริหาร ตามหลักหลักสากลแล้ว อำนาจนิติบัญญัติก็จะไม่ไปยุ่งขนาดนั้น แต่ยกเว้นกรณีตำแหน่งสูงๆ ที่วุฒิสภาต้องรับรอง หรือผู้ดำรงตำแหน่งสูงๆ ที่สภาต้องรับรอง กรณีนี้ สนช.ก็ปฏิบัติได้ แต่ถ้าระดับปลัดกระทรวง รัฐมนตรี หรือทหาร ตำรวจ ก็ไม่น่าเข้าไปยุ่ง เพราะถ้าไปยุ่งแล้วกลายเป็นหลักปฏิบัติต่อไปอาจทำให้การบริหารราชการสับสน
ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์
@ สนช. ควรมีอำนาจถอดถอนหรือไม่ ?
ศ.ดร.สมบัติ : ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้ ว่า ให้ สนช. ทำหน้าที่เป็นสภาผู้แทนราษฎร เป็นวุฒิสภา และเป็นรัฐสภา เพราะฉะนั้น หน้าที่ของทั้ง 3 องค์กรที่ว่ามานี้ สนช. ก็ทำได้หมด และเมื่ออำนาจถอดถอนเป็นหน้าที่ของ สว. เมื่อมีการดำเนินการส่งเรื่องให้ สว. ถอดถอน สนช. ก็สามารถทำหน้าที่แทน สว.ได้ หรือเมื่อมีการสรรหากรรมการองค์กรอิสระที่ สว. ต้องให้ความเห็นชอบ ก็ต้องส่งให้ สนช. ดังเช่นที่ เมื่อเร็วๆ นี้ สนช. ก็ให้ความเห็นชอบกรรมการป.ป.ช. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากมองตามนัยนี้ สนช. ก็ย่อมต้องมีอำนาจถอดถอน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จริงอยู่ รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่า สนช. มีอำนาจในการถอดถอน แต่บอกว่าให้ สนช. ทำหน้าที่แทนวุฒิสภา แทนสภาผู้แทนราษฎร และทำหน้าที่แทนรัฐสภา ในการตีความของผม ผมก็ตีความตามนัยนี้ แต่ถึงที่สุดแล้ว ถ้าสงสัยก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็เท่านั้นเอง
ยกตัวอย่างเช่น หาก ป.ป.ช. ส่งเรื่องมาให้ สนช. ทำหน้าที่ถอดถอนในฐานะ สว. แต่ถ้าผู้ที่ถูกถอดถอนไม่เห็นด้วย เขาก็อาจจะขอให้ สนช. ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
แต่ทั้งนี้ การที่ สนช. จะมีอำนาจถอดถอนได้ ก็ต้องมีข้อบังคับเอาไว้ สนช.ต้องมีข้อบังคับถอดถอน เหมือนเช่นการประชุม สนช. จะประชุมได้ก็ต่อเมื่อต้องมีการกำหนดข้อบังคับการประชุม การถอดถอนก็เช่นกัน ก็ต้องมีการวางข้อบังคับ วางกติกา ข้อบังคับการถอดถอนจึงเป็นสิ่งที่ต้องมี เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะถ้าไม่มีข้อบังคับ จะไปดำเนินการถอดถอนได้อย่างไร เช่น ถ้าอ้างอิงอำนาจของ สว. ในการถอดถอน สนช. ก็อาจต้องกำหนดว่าให้มีมีมติ 3 ใน 5 เหมือน กรณี สว.
ข้อบังคับว่าด้วยการถอดถอนจึงถือว่าสำคัญที่สุด ไม่ต่างจากทุกภารกิจของ สนช. ที่ต้องมีข้อบังคับ ถ้าไม่มีก็ทำไม่ได้
ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว
@ สนช. ควรมีอำนาจถอดถอนหรือไม่ ?
ศ.ดร.สนิท : ว่ากันตามจริงนะ เราก็มีอำนาจแต่งตั้ง เช่นที่เราก็แต่งตั้งนายกฯ ไปครั้งหนึ่งแล้ว คือเมื่อเรามีอำนาจแต่งตั้ง เราก็ย่อมมีอำนาจถอดถอน แต่การมีอำนาจถอดถอนนี้เราก็ไม่ได้ตั้งธงไว้ว่ามุ่งจะไปทำลายใคร เพียงแต่เมื่อมีอำนาจแต่งตั้งแล้วก็ย่อมมีอำนาจถอดถอนด้วย ผมว่านี่คือหลักคิดที่ตรงไปตรงมานะ
หากถามว่า สนช.มีอำนาจถอดถอนไหม ก็เราเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อะไรที่ควรต้องมีกฎเกณฑ์ ก็ต้องดำเนินไปตามนั้น ตามหลักของกระบวนการยุติธรรม เช่นเมื่อแต่งตั้งแล้วหากมีใครไปทำไม่ดี ทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้ง ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ไม่เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ เราก็ต้องมีหน้าที่ถอดถอน ไม่เช่นนั้นจะให้ใครทำหน้าที่นี้
แต่การถอดถอนของเราก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ เพราะต้องมีกระบวนการ มีขั้นตอน ต้องมีคนเสนอมายังประธาน สนช. แต่ผมก็เห็นว่า หากยังก้ำกึ่ง มองต่างกันอยู่อย่างนี้ ก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความกันไปก็เป็นอีกทางหนึ่ง ส่วนเรื่องข้อบังคับที่กำหนดไว้นี่ก็เป็นเพียงระเบียบ กติกา ให้มีอยู่ในสนช.ไว้
เรื่องข้อบังคับการถอดถอน สนช.ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย มี สนช. บางคนเท่านั้นที่เห็นว่าควรจะพิจารณาให้รอบคอบ
ส่วนจะมีอำนาจถอดถอนใครบ้างนั้น ส่วนข้าราชการคงไม่เกี่ยว การถอดถอนคงจะเกี่ยวกับเฉพาะด้านการเมือง ครม.หรือ สนช.ด้วยกันเอง
วัลลภ ตังคณานุรักษ์
@ สนช.ควรมีอำนาจถอดถอนหรือไม่ ?
วัลลภ : อย่าลืมว่าบทบาทการถอดถอนของ สนช. มีทั้งถอดถอนข้าราชการระดับสูง นักการเมือง และถอดถอน สนช. ด้วยกันเองนะ เพราะฉะนั้น ถ้าใครไปร้อง ป.ป.ช. เรื่อง สนช. รายใดร่ำรวยผิดปกติ เรื่องก็ต้องมาถึงเรา เพราะฉะนั้น ข้อบังคับเรื่องอำนาจในการถอดถอน ผมเห็นว่าร่างไว้ก่อนก็ไม่เสียหลาย
มีหลายหน่วยงาน ที่ต้องเสนอเรื่องมาที่เรา ไม่ว่า ป.ป.ช. หรือ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ดังนั้น เราเตรียมข้อบังคับไว้ก็ไม่เสียหลาย แต่เตรียมไว้แล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะได้ใช้เสมอไป จะได้ใช้หรือเปล่าก็ยังไม่รู้ แต่เรื่องข้อบังคับนี้ ที่จะเข้ามติที่ประชุมในสัปดาห์หน้านี้ ในความเห็นของผม เรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
...
คือบางความเห็นที่สะท้อนต่อขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ สนช. ว่านอกจากมีอำนาจในการแต่งตั้งแล้ว ควรจะควบรวมอำนาจถอดถอนไว้ในมือด้วยหรือไม่ สังคมคงจะได้คำตอบในอีกไม่นานเกินรอ!
ภาพประกอบ : www.google.co.th