“ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ” : ทุจริตไม่ลด ประเทศไทยลำบาก
"...ไม่มี ก็ว่าไปตามข้อเท็จจริง ตามกฎหมายต่างๆ มีหลายเรื่องที่เราดูแล้วไม่มีอะไรก็ยกไป แต่อะไรที่มีข้อมูลหรือมีอะไร เราก็ทำไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่ไม่มีธงทางการเมือง..."
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในยุคที่มี “ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ” เป็นประธาน มีทั้งเสียงชื่นชมและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ได้รับทั้งดอกไม้และก้อนหิน โดยเฉพาะคดีทางการเมืองที่ได้รับความสนใจจากสังคมและสื่อมวลชน
แต่ที่สุด ประธานปานเทพ บอกกับนักข่าวว่า ไม่ได้กดดันอะไร เพราะป.ป.ช.ทุกท่านทำงานหนัก ให้ความยุติธรรมกับทุกคน และทำงานเข้าขากันดี(ครับ)
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา “สำนักข่าวอิศรา” สนทนากับ “ปานเทพ” ถึงวาระงานสำคัญในมือป.ป.ช.หลายเรื่องที่น่าสนใจ ดังนี้
@ผลงานของ ป.ป.ช. ในยุคที่เป็นประธาน เกิดมรรคผลมากน้อยขนาดไหน
เราทำงานมาตลอด ยิ่งในระยะนี้มี คสช. มีรัฐบาลในรูปแบบนี้ขึ้นมา ก็ประสานงานกับ คสช. และรัฐบาล เพราะคสช. ให้ความสำคัญกับเรื่องทุจริตเป็นนโยบายสำคัญที่จะปฏิรูปในการปฏิรูป 11 ด้าน คสช.ได้ประกาศให้ พ.ร.บ. ป.ป.ช. บังคับใช้ต่อไป หมายความว่า ป.ป.ช. ทำหน้าที่ต่อไปได้เหมือนกับองค์กรอิสระอื่นๆ
อีกอย่างคือ คสช. ให้ความเห็นชอบและให้ความสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เราเสนอไป และสนับสนุนให้ ป.ป.ช.ดำเนินงานได้ในหลายเรื่อง เช่น งบประมาณ เมื่อก่อนงบประมาณอาจไม่เพียงพอ เพราะต้องไปทำงานในส่วนของ ป.ป.ช.จังหวัดด้วย ฉะนั้นอาจจะไม่เพียงพอ ก็เพิ่มงบประมาณให้ เพิ่มกำลังคนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องดำเนินการ หลังได้รับการสนับสนุน
นอกจากนี้ยังให้ความเห็นชอบ ป.ป.ช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงบประมาณ เป็นหน่วยงานกลางในการกลั่นกรองงบประมาณในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทุจริต และ ป.ป.ช. จะต้องดูให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ซึ่งเราจะดูในปี 2558 นี่ก็เป็นบทบาทหนึ่งที่ให้ความสำคัญ
@งบประมาณเรื่องต้านการทุจริตมากน้อยแค่ไหน
เมื่อก่อนงบประมาณไม่ชัดเจน แต่ตอนนี้เป็นงบประมาณล่ำซำเลย เพราะคสช.ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมากโดยให้ ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารเรื่องนี้ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ลดทุจริตให้ลดน้อยลง ดัชนีความโปร่งใสต้องดีขึ้น ฉะนั้น ช่วงทำงานต่อไปนี้จนถึงยุทธศาสตร์ชาติอีก 3ปี เราจะผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ภายใต้การประสานงานกับรัฐบาล และ คสช.ตลอดเวลา
@ป.ป.ช. มีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลและคสช. จะปราบปรามลดทุจริตให้ดีขึ้นได้
เรื่องนั้นเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ของเรา ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลก็ไปไม่ได้ แต่จากนี้การดำเนินงานมีทิศทางชัดเจนขึ้น งบประมาณชัดเจน บุคลากรก็ชัดเจน เราหวังว่าจะผลักดันในกรอบยุทธศาสตร์ของเราให้ผ่านไปได้ถึงปี 2560
@แนวทางชัดเจนที่ว่ามีอะไรบ้าง
ขณะนี้กำลังคนเราได้รับเพิ่มจากกรอบของปีนี้อีกประมาณ 800จากที่มีอยู่กว่า 1,200 คน ล่าสุดก็มีประมาณ 2,000คน และเราก็ส่งไปยังต่างจังหวัด ครบทั้ง 76 จังหวัดแล้ว และขณะนี้ เราให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารงานคดี นำคดีมาเป็นตัวตั้ง ประมาณ 8,000 กว่าคดีที่ค้างอยู่ เมื่อไปดูส่วนใหญ่เป็นคดีที่อยู่ต่างจังหวัดเยอะ อยู่ในขั้นแสวงหาข้อเท็จจริงเยอะ ประมาณ 6,000 – 7,000 คดี ดังนั้นเพื่อให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม จะส่งเรื่องนี้ไปให้ต่างจังหวัดแสวงหาข้อเท็จจริงทั้งหมดเพราะจะสะดวก ร้องเรียนตรงนั้น เรียกมาดูตรงนั้นเลย
เมื่อใช้นโยบายแบบนี้ ปรากฏว่าเรื่องที่ร้องเรียนก็ทยอยหมดไปได้อย่างรวดเร็ว แต่เรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไต่สวนยังช้าอยู่ ก็ตามระเบียบและต้องใช้เวลาพอสมควรตามระเบียบและข้อบังคับต่างๆ และต้องให้ความยุติธรรม จึงต้องใช้เวลาพอสมควร ขณะเดียวกันก็ตั้งกรอบการทำงานไว้ว่าเรื่องต่างๆ หลังจากตั้งพนักงานไต่สวน ตั้งอนุกรรมการแล้ว ต้องชัดเจนว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไร และต้องประกาศให้สื่อมวลชนและสาธารณะรับทราบ
@ คดีที่ค้างจำนวนมากๆ มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
ตอนนี้ลดไปเยอะทีเดียว อย่างที่ว่า 6,000– 7,000 คดี เราส่งไปต่างจังหวัดหมดเลย เขาก็ตอบสนองมา แต่เรื่องส่วนกลางที่ยังเป็นเรื่องไต่สวนก็พยายามเร่งรัดทุกๆ เรื่อง พยายามที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องอายุความ เพราะต่อไปนี้อายุความจะต้องไม่มีปัญหา จะขาดไม่ได้ ถ้าอายุความขาด ถือว่าเป็นความผิดบกพร่อง
@ แสดงว่าที่ผ่านมามีคดีคดีสำคัญขาดอายุความ
ก็มี แต่ขาดอายุความในแง่ของเทคนิค(นะ) เนื่องจากก่อนหน้านี้อายุความในเรื่องคดีทุจริตมีอายุความและไปเรื่อยๆ ตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายให้อายุความสะดุดหยุดลง แต่ตอนนี้มีแล้ว แต่ยังไม่มีผลเท่าที่ควร เพราะบังคับใช้ย้อนหลังไม่ได้
@ หมายความว่าอย่างไร
หมายความว่า เมื่อก่อนมีเรื่องส่งมา ป.ป.ช. หลายเรื่อง บางเรื่องดำเนินการมานานพอสมควรกว่าจะถึงเรา เมื่อดำเนินการต่างๆ ตามกระบวนการ อายุความก็สั้น พอสั้นลง วิธีการคือเมื่อเราจะฟ้องไปยังอัยการสูงสุด อัยการก็จะใช้เวลาอีกพอสมควรในการพิจารณาข้อสมบูรณ์ เสร็จเรียบร้อยแล้ว อัยการก็จะฟ้องไปที่ศาล ศาลก็บอกว่าให้นำตัวผู้ถูกฟ้องไปศาล เป็นหน้าที่ ป.ป.ช. แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ แต่เขาไม่มา เพราะเขาทราบว่าอายุความจะหมดแล้ว เราก็ใช้วิธีส่งหมายให้ตำรวจ เขาก็โอเค ได้รับหมาย แต่ก็ไม่มา อายุความก็หมดลง พออายุความหมดลงก็ทำอะไรไม่ได้
แต่ตามกฎหมายใหม่ซึ่งบังคับใช้แล้ว ให้อายุความสะดุดหยุดลง เมื่อเราแจ้งไปที่เขา แต่เขาไม่มาอายุความจะหยุดลง จนกว่าเขาจะเข้ามาสู่กระบวนการ อายุความถึงจะเดินต่อไปได้ ซึ่งเรื่องนี้เราจะทำหนังสือไปถึง คสช. อีกครั้งหนึ่ง ให้เรื่องอายุความอยู่ในกฎหมาย เสนอกฎหมายไปที่ คสช. ปรับปรุงกฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของ ป.ป.ช.ในหลาย ๆ เรื่อง เช่น เรื่องการอนุวัติกฎหมายให้เป็นตามหลักสากล
@ แสดงว่าระยะอันใกล้นี้ จะมีกฎหมาย ป.ป.ช.เพิ่มเติม
ก็มีเรื่องอายุความให้สะดุดหยุดลง เรื่องนี้ทบทวนและเตรียมส่งให้คสช.ในกรณีว่าจะให้ไม่มีอายุความ หรือจะขยายอายุความ ซึ่งไม่มีอายุความ ผมพูดอยู่ทุกที่ว่าไม่เห็นด้วย เพราะว่าคดีต้องมีอายุความมิฉะนั้นจะไม่มีความยุติธรรมกับคนถูกฟ้อง แต่อายุความอาจจะขยายยืดออกไป เช่น มาตรา 157 อายุความ 15 ปี แต่กว่าจะมาถึง ป.ป.ช.นานมาก อาจจะขยายไปเป็น 30 ปี รวมไปถึงการอนุวัติกฎหมายให้เป็นไปตามระเบียบสากล
อีกเรื่องที่สำคัญมากคือการอายัดทรัพย์ ตามกฎหมายบอกว่า ถ้าเป็นการร่ำรวยผิดปกติและตั้งกระบวนการแล้ว และดำเนินการไต่สวน ในกฎหมายให้ ป.ป.ช. มีอำนาจในการอายัดทรัพย์ได้ สมมติเขามีท่าทีว่าจะโยกย้ายทรัพย์ แต่กฎหมายบอกว่า ป.ป.ช. สามารถอายัดทรัพย์ได้เพียงแค่1 ปีเท่านั้น หากเกินกำหนดก็ต้องปล่อยไป แต่เวลาขณะนั้นไม่พอ กว่าจะอายัดทรัพย์ เขาก็พยายามจะหมุนทุกอย่าง ฉะนั้นเราก็เลยเสนอเป็น 2 ปี
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการฟ้องคดีอาญาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อก่อนจะฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้องยาก ต้องฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมือง แต่ว่าฟ้องอนุกรรมการฯ และเจ้าหน้าที่ ฟ้องศาลชั้นต้นได้ ซึ่งอย่างนี้ลำบาก เราก็เลยอยากให้ฟ้องแค่ศาลฎีกาฯอย่างเดียว
@ ปัจจุบันมีคดีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง อยู่กี่คดีครับ
ก็มีหลายเรื่อง เช่น เรื่องการถอดถอน ส.ส. ส.ว. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. บางส่วนเราก็ส่งไปแล้ว แต่ในส่วนของ ส.ว. ยังไม่ได้ส่ง เพราะขณะนั้นไม่มีสภา เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของบ้านเมือง เขาก็บอกว่ายังไม่ต้องส่ง ที่ส่งไปแล้วคือกรณีฟ้องคุณสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ กับคุณนิคม ไวยรัชพานิช ส่วนที่ยังไม่ส่ง เราก็รอสัญญาณจากสนช.อยู่ว่าเมื่อไหร่ถึงจะส่งได้ เข้าใจว่ารอเรื่องของระเบียบการประชุมสนช. ให้นิ่งก่อน เพราะในระเบียบมีเรื่องการถอดถอนตามกฎหมายของ ป.ป.ช. ถ้านิ่งเราก็จะส่ง
หรือกระทั่งคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ที่มีคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งคดีดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ถอดถอนกับอาญา โดยเราจะทำในเรื่องของถอดถอนก่อน แต่ถอดถอนยังไม่ได้ส่ง คดีดังกล่าวอยู่ในกระบวนการ กำลังตรวจสอบอยู่
@ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ากระบวนการตรวจสอบคดีนี้เชื่องช้าเหลือเกิน
ดำเนินการไปพอสมควรแล้ว จริงๆเรื่องสลายการชุมนุมปี 2553 ส่งเข้ามาเยอะมาก และตกไปก็เยอะมาก เช่น ประกาศฉุกเฉินถูกต้องหรือไม่ ก็ถูกต้อง หรือเรื่องที่นำทหารไปที่สถานีโทรทัศน์พีทีวี เรื่องนั้นก็ทำตามหน้าที่ ก็ตกไป เหลือแค่เรื่องสั่งการชอบหรือไม่เท่านั้น ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่
@ แล้วมีคดีใดบ้างไหมที่สังคมจะได้เห็นผลเป็นรูปธรรม
หลายเรื่องเวลาได้แล้ว เช่น คดีจำนำข้าวของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ฟ้องไป ส่วนเรื่องคดีอาญาก็กำลังตั้งคณะทำงานร่วมกับอัยการในวันที่ 23 กันยายน จะประชุมร่วมกันที่สำนักงาน ป.ป.ช. ขณะนี้ก็ดูกรอบเรียบร้อยหมดแล้ว ก็จะคุยกับอัยการว่า ข้อมูลเป็นอย่างไร จะแก้ตรงไหน
อีกกรณีคือคุณบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ กับคุณภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ ในคดีระบายข้าว ขณะนี้แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว โดยมีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีดังกล่าวกว่า 100 คน มีทั้งภาคการเมือง ข้าราชการ เครือข่ายต่างประเทศด้วย และมีการกันบุคคลเป็นพยานหลายคนเหมือนกัน
ล่าสุดเร็ว ๆ นี้ได้แจ้งข้อกล่าวหา นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เลขาฯคุณบุญทรง ไปเรียบร้อยแล้วด้วย ซึ่งกรณีนี้ภายหลังสอบถามจากเจ้าหน้าที่เข้าใจว่าน่าจะสามารถสรุปคดีได้ภายในเดือนพฤศจิกายน ก่อนชงเข้าที่ประชุมใหญ่
@ คดีจำนำข้าว วันที่ 23 นี้ จะคุยกับคณะฝ่ายอัยการในประเด็นใดบ้าง
ประเด็นหลักคือเราตั้งประเด็นว่าละเว้น แต่เวลาเขียน มีเรื่องทุจริตด้วย และเรื่องอำนาจหน้าที่เพราะเป็นนโยบาย คุณยิ่งลักษณ์สามารถยับยั้งได้หรือไม่ นอกจากนั้นยังมีเรื่องของพยานต่างๆ ที่อัยการอยากให้เรียกมา เราก็จะมาดู เพราะก่อนหน้านี้เราเรียกมาบ้างแล้ว และคนไหนที่เราไม่เรียกแต่อัยการต้องการให้เรียก ก็จะเรียกมา เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือพยานที่เราเคยไม่เรียก คิดว่าไม่น่าจะนาน เพราะส่วนใหญ่ข้อมูลมีหมดแล้ว เพียงแต่ดูความสมบูรณ์
@ แล้วคดีประกันราคาข้าวในรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ล่ะครับ คืบหน้าบ้างไหม
เรื่องนี้ก็พูดกันเยอะ เราก็ดำเนินการ แต่ข้อมูลอาจยังได้ไม่สมบูรณ์ แต่เราก็เร่งเต็มที่ เพื่อนำข้อมูลมาจากองค์การคลังสินค้า และหน่วยงานต่าง ๆ คาดว่าคงใกล้แล้ว คณะอนุกรรมการเรื่องนี้ก็เร่งรัดอยู่ เพราะโดนว่าบ่อยว่าเรื่องนี้ทำไมถึงช้า
@ เพราะอย่างนี้หรือเปล่า จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไมบางคดีรวดเร็ว บางคดีเชื่อช้า ให้ความยุติธรรมเท่ากันหรือไม่
เราต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ต้องหาข้อมูลให้ชัดเจน ทั้งพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง บางอย่างข้อมูลเรายังไม่ได้แต่ก็พยายามอยู่ บางครั้งต้องใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อจะเรียกข้อมูล ส่วนหนึ่งอยู่ในความยากง่ายของคดีด้วย บางคดีก็สลับซับซ้อนหรือบางเรื่องก็นานแล้ว แต่ก็ไม่มีปัญหาครับ ตามกฎหมายเขาให้อำนาจ ป.ป.ช. เยอะในการเรียกข้อมูล
@ แต่ก็ยังถูกมองว่า ป.ป.ช. ตั้งธงทางการเมืองไว้ก่อนหรือเปล่า
ไม่มี ก็ว่าไปตามข้อเท็จจริง ตามกฎหมายต่างๆ มีหลายเรื่องที่เราดูแล้วไม่มีอะไรก็ยกไป แต่อะไรที่มีข้อมูลหรือมีอะไร เราก็ทำไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่ไม่มีธงทางการเมือง
@ นายกฯยิ่งลักษณ์ เคยแถลงตั้งข้อสงสัยว่าคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ให้ความยุติธรรมกับดิฉันเหมือนกับผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท่านอื่นๆ หรือไม่
เราก็บอกไปตลอดว่า เรามีการไต่สวนที่เป็นไปตามกระบวนการทั้งหมด และพยานหลักฐานที่ท่านขอมาเราก็ตัดไปเพราะพยานบางอย่างไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เรากล่าวหา ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างคณะทำงานร่วมฯ ถ้าเห็นว่าจำเป็น เราก็เรียกมา เราให้ความยุติธรรม
@ อึดอัดใจหรือกดดันบ้างไหมเวลาเจอข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับคดีการเมือง
ไม่(นะ) ยิ่งตอนนี้ก็ทำงานไปและได้รับความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ นโยบายจากรัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ นอกจากนั้นยังมีเครือข่าย โดยเฉพาะภาคประชาชนและภาคเอกชนจะพูดเรื่องการทุจริตกันเยอะ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ ทุกอย่างให้ความสำคัญหมด ก็ไม่ได้กดดันอะไร
@ การทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ภายใต้รัฐบาลคสช. กับรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ยากง่ายหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
อาจจะแตกต่างกันเรื่องความฉับไว เพราะตอนนี้อยู่ระหว่างการปฏิรูป และคสช. ให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริต ทุกอย่างก็เกลี่ยเข้ามาเรื่องนี้หมด ฉะนั้น ป.ป.ช. ก็ทำงานสอดคล้องกันไปได้ ยิ่งเรามียุทธศาสตร์เราด้วย คสช.ก็เห็นชอบ ก็ทำงานได้เร็วขึ้น ส่วนรัฐบาลชุดที่แล้ว เนื่องจากเป็นรัฐบาลในระบบประชาธิปไตย ก็มีขั้นตอนต่างๆ อะไรๆ ก็อาจยังไม่รวดเร็วและไม่ชัดเจน
@การลงโทษนักการเมืองทุจริตให้เห็นผลจริงๆ มีส่วนช่วยป้องกันการทุจริตได้มากน้อยแค่ไหน
ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ผมคิดว่าเป็นเพียงปลายทาง แต่ต้นทางคือให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศรู้ถึงบทบาทหน้าที่ว่าการทุจริตมันกระทบกับเขา ไม่ใช่ว่าเรื่องทุจริตเป็นเรื่องไกลตัว ต้องให้เขาทราบตรงนั้น และให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม เราก็พยายามเข้าไปตรงนั้นและอยู่ในยุทธศาสตร์ ให้ประชาชนที่ถูกผลกระทบทราบว่า งบประมาณต่างๆ ของการทุจริต ถ้าถูกทุจริตไปเขาก็สูญเสีย ซึ่งตอนนี้มีเสียงตอบรับดี ที่สำคัญในยุทธศาสตร์ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก ใช้มิติด้านการศึกษาเข้าไปร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ใส่ไปตามหลักสูตร และในมหาวิทยาลัย
บทลงโทษก็ว่าไปตามกฎหมาย แต่การที่จะให้ประชาชนเห็นว่าทุจริตเป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรให้เข้ามามีส่วนร่วมและดำเนินการไปพร้อมๆ กันกับเรา เรื่องการป้องกันและปราบปรามต้องไปด้วยกัน แต่งานป้องกันเป็นต้นทางที่สำคัญ ซึ่งตอนนี้สังคมตระหนักมากขึ้น ดีขึ้นมาก
@การทุจริตคอร์รัปชั่นจะหมดไปจากสังคมไทยได้จริงหรือ
การทุจริตสังคมไหนก็ไม่หมด แต่จะต้องทำให้ลดน้อยลงไปจนกระทั่งเราสามารถที่จะบอกต่างชาติได้ เพราะขณะนี้เราลำบาก เพราะต่างชาติยังเห็นว่าเรามีเรื่องอื่นมากมาย ที่ปรากฏชัดคือดัชนีชี้วัดด้านคอร์รัปชั่นยังไม่ดี ฉะนั้นเราต้องทำตรงนี้ให้ได้ ต้องบูรณาการทำงานภายในประเทศกับทุกภาคส่วน กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ มีศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการทุจริต
นอกจากนั้นต้องให้ต่างประเทศเห็นว่าเราให้ความสำคัญ เช่น อนุสัญญากับสหประชาชาติ เราก็ทำ พันธะกรณีต่างๆ เราก็ทำ ก่อนหน้านี้ช้ามาก ตอนนี้ก็ดีขึ้นแล้ว พยายามผลักดันเข้าไป ถือว่าทำทั้งสองด้าน รวมทั้งองค์กรอิสระทั้งหมดต้องร่วมมือกันเพราะงานมันเกี่ยวกันหมด ทั้งเรื่องมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรม การวัดค่าดัชนีความโปร่งใส ดัชนีจริยธรรมหน่วยงานต่างๆ เราก็ทำ แต่เราไม่ได้จับผิด(นะ) เราแค่อยากให้หน่วยงานวัดตัวเองว่ามีข้อบกพร่องอะไร เราก็ไปช่วยแก้ไข ก็ต้องทำหลายเรื่อง
@ป.ป.ช.จังหวัดจะช่วยป้องกันได้มากน้อยแค่ไหนครับ
ตอนแรกก็ปรับตัวลำบาก เพราะต้องส่งคนไปหมดเลย 76 จังหวัด ส่วนกลางก็ขาด ก็วุ่นวาย แต่ตอนนี้ปรับตัวได้แล้ว ทั้งในส่วนภูมิภาค เจ้าหน้าที่ส่วนกลาง รวมถึงกรรมการไปปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามการทุจริตในระดับจังหวัด แต่ยังกังวลว่าทำไปสักระยะการปราบปรามจริงๆ อาจจะลำบาก เพราะอยู่ในพื้นที่ ใครเป็นใครเราก็ไม่รู้ ค่อนข้างจะเสี่ยงเหมือนกัน เพราะเขาอยู่ในพื้นที่ เราจึงปรับเป็นงานป้องกันก็แล้วกัน ตามประกาศของ คสช.
วันนี้งานป้องกันก็เต็มที่ ส่วนสำนักงานก็ทำทั้ง 2 ด้านอยู่ คือทั้งการป้องกัน ละการแสวงหาข้อเท็จจริงด้วย ซึ่งก็ดี เพราะอยู่ในพื้นที่ ช่วยผ่อนคลายงานส่วนกลางได้เยอะทีเดียว อีกส่วนก็คือเวลาไต่สวน สมมติว่า สำนักงานจังหวัดอาจพูดเหมือนกันว่า ไต่สวนเรื่องแบบนี้อาจลำบาก ก็ส่งมาส่วนกลาง แต่หากเป็นเรื่องขั้นแสวงหาข้อเท็จจริงก็ให้เขาทำ ส่วนเรื่องไต่สวน หรือตั้งอนุกรรมการไต่สวน ส่วนกลางก็รับมาทำ
@ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันทำงานเข้าขากันดีอยู่ไหมครับ
ก็เข้าขากันดี ตอนนี้ก็มาครบหมด 9 คนแล้ว คุณสุภา(ปิยะจิตติ) มาใหม่ ท่านก็เก่งมาก ท่านเป็นนักบัญชี และก็จะเข้ามาช่วยงานหลายเรื่อง ได้ปรึกษากับท่านเรื่องงานตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ช่วยแก้แบบว่าการตรวจสอบทำอย่างไรจึงจะรวดเร็วขึ้น และตรวจสอบให้ลึกถึงว่า คนที่ไม่ยื่นบัญชี คือโดนฟ้องไปยังศาลฎีกาฯ ตัดสิทธิ์แค่ 5 ปี แต่บางทีไม่ยื่นเพราะอาจมีทรัพย์สินเยอะ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องทำเรื่องร่ำรวยผิดปกติด้วย เรื่องนี้กำลังจะปรับกันอยู่ นอกจากนี้ยังให้ท่านสุภาช่วยดูเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง เพราะท่านมาจากกรมบัญชีกลาง
@ แต่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ากรณีคุณสุภาจะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เพราะท่านเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในคดีจัดซื้อจัดจ้างโฆษณา ขสมก. ที่ขณะนี้อยู่ชั้นอนุกรรมการไต่สวน
ก็ไม่เป็นไร เราก็แยกเลย เพราะท่านโดนร้องเรียนก่อนมาเป็น ฉะนั้นท่านมาเป็น คดีก็ยังอยู่ ยังดูกันอยู่ ซึ่งได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว และเวลาพิจารณาคดีท่านก็ไม่ได้เข้ายุ่งด้วย เพราะเป็นเรื่องก่อนที่จะเข้ามา ก็ให้กรรมการท่านอื่นดูแทน
@ การตรวจสอบกรณีไมโครโฟนรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ (จันทร์โอชา)คืบหน้าอย่างไรบ้าง
มีคนร้องมาที่ ป.ป.ช. แล้ว ก็เข้ากระบวนการแสวงข้อเท็จจริง เราก็สอบถามไปที่ส่วนงานว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจัดซื้อจัดจ้างอย่างไร โดยมอบหมายให้คุณสรรเสริญ (พลเจียก)ดำเนินการสอบสวน ไต่ถามไป ก็คงจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก
@ ท่านนายกฯประยุทธ์ ได้เน้นย้ำเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ไม่ได้เน้นย้ำอะไร เพียงแต่เห็นในข่าวบอกว่าเป็นเรื่องที่ สตง. และ ป.ป.ช. ดำเนินการ ซึ่งก็ดำเนินการอยู่ ก็คงต้องเร่งเหมือนกัน เพราะว่าสังคมกำลังจับตาอยู่
@ 8 ปีในหน้าที่ประธานป.ป.ช.งานหนักขนาดไหนครับ
รู้สึกว่าตอนหลังๆ เวลาผ่านไปเร็วเพราะมีงานเยอะมาก ก็ไม่เป็นไร กรรมการชุดนี้ก็จะครบวาระทั้งหมดในปี 2558 ประธานอาจจะออกมาก่อนนิดหนึ่ง ส่วนกรรมการก็ต่อไปอีก 4 เดือน แต่กรรมการใหม่ก็ยังอยู่ ทำงานเต็มที่
@ หลังครบวาระแล้วจะไปทำอะไรต่อ
ยังไม่รู้เหมือนกัน (ยิ้ม) แต่ถ้าป.ป.ช.มีอะไรที่ช่วยเหลือได้ก็จะช่วย แต่ก็ดูสุขภาพด้วย เสาร์-อาทิตย์ ก็ได้พักเป็นส่วนตัวบ้าง แต่บางทีพวกน้องๆ นักข่าวก็โทรมา(หัวเราะ) หรือไม่ก็ไปต่างจังหวัด ผมก็ต้องไป โดยเฉพาะด้าน ป.ป.ช. จังหวัดก็ยังไปไม่ครบ เพราะมีตั้ง 76 จังหวัด ก็ไปสนับสนุนงานเขา อยากไปให้กำลังใจกรรมการ บางทีท่านก็งงว่าท่านจะอยู่อย่างไร (หัวเราะ)
@สังคมไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาเกิดวิกฤตความขัดแย้ง ท่านคิดเห็นอย่างไร
ความคิดก็ยังมีเป็นฝักฝ่าย แต่ผมคิดว่าปัจจุบันก็ดีแล้ว อยู่ในขั้นปฏิรูป และเป็นช่วงเวลาสำคัญ สถานการณ์ขัดแย้งต่างๆ ก็นิ่งอยู่ ฉะนั้นต้องใช้เวลาตรงนี้ทำเรื่องสำคัญ ป็นแนวทางที่วางพื้นฐานไปสู่รัฐบาลต่อๆไป โดยเฉพาะเรื่องการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ต้องเข้ามาอย่างถูกต้อง ส่วนปฏิรูปทางด้านเศรษฐกิจมีเรื่องท้าทาย ต้องให้กำลังใจเขา
@เป็นห่วงเรื่องใดเป็นพิเศษหรือเปล่า
ใกล้ตัวที่สุดก็เป็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ถ้าพ้นไปไม่ได้ประเทศก็จะลำบาก เรื่องของความไม่โปร่งใสเป็นเชื้อโรคเข้าสู่หลายเรื่อง เช่น เรื่องคุณธรรม ถ้าทุกอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ก็น่าจะแก้ปัญหาประเทศได้บ้าง แต่ถ้าผ่านไปไม่ได้ ประเทศไทยก็ลำบาก
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.จ่อสรุปคดีข้าว“บุญทรง-ภูมิ”พ.ย.นี้ ชงที่ประชุมใหญ่ทันที
สำรวจคดีดังในมือ ป.ป.ช.ฉบับ“ปานเทพ” เรื่องไหนคืบหน้าบ้าง ?