นักวิจัยเสนอโล๊ะร่างกม. อุ้มบุญ ชี้ไม่เป็นธรรมต่อเพศที่ 3
ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ห่วงร่างกฎหมายอุ้มบุญ ตามเทคโนโลยีไม่ทัน-ไม่เป็นธรรมต่อเพศทางเลือก เสนอยกเลิก และจัดให้ทำใหม่ นำบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายหารือร่วมกัน
วันที่ 19 กันยายน 2557 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย จัดเวทีสาธารณะ “กฎหมายอุ้มบุญ:เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์กับความเป็นธรรมทางเพศ” ณ ห้องประชุม 709 ชั้น 7 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กรุงเทพ
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยและประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกฎหมายอุ้มบุญว่า ประเทศไทยควรมีกฎหมายอุ้มบุญ แต่ต้องทำในลักษณะที่กว้างมากกว่าเรื่องอุ้มบุญหรือการอุ้มท้องแทน “เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์” ซึ่งจะต้องขยายสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์คนที่ต้องการมีลูกและต้องการท้องแทนอย่างเป็นธรรมมากกว่าการจำกัดอย่างเดียว
“ผู้หญิงต้องมีทางเลือกในการตัดสินใจจากข้อมูลรอบด้านที่สุดด้วยตัวเอง เพราะเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่ตามมา”รศ.ดร.กฤตยา กล่าว
สำหรับหน่วยงานที่ควรเข้ามามีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับการอุ้มบุญ รศ.ดร.กฤตยา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นโดยการออกนโยบายให้ชัดเจนและเป็นธรรม ทั้งกับผู้หญิงที่ภาวะมีบุตรยากและเพศวิถี อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ควรเข้ามาดูแลกำกับถึงเรื่องประโยชน์และสิทธิของแม่อุ้มบุญ รวมถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย
รศ.ดร.กฤตยา กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีอัตราเกิดต่ำกว่าระดับทดแทน และกำลังมีนโยบายกึ่งๆ ที่จะส่งเสริมที่จะกลับไปมีลูก แต่ไทยยังไม่มีมาตรการรองรับในการช่วยเหลือให้คนท้องมั่นใจว่า เมื่อคลอดออกมามีจะมีคุณภาพ
“ในประเทศเกาหลีใต้เกิดปัญหาอัตราการเกิดน้อยเช่นเดียวกับไทย แต่แตกต่างตรงที่ว่าเกาหลีรัฐบาลมีนโยบายรองรับและคุ้มครองสิทธิ เมื่อเด็กคลอดออกมาจะคลอดออกมาอย่างมีคุณภาพและมีกระบวนการสนับสนุนให้มีลูกต่อ ซึ่งการได้รับสิทธินั้นไม่ว่าจะท้องในรูปแบบไหนก็สามารถได้รับสิทธิ” นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดลกล่าว พร้อมเสนอให้ยกเลิกกฎหมายอุ้มบุญที่กำลังร่างอยู่ในขณะนี้ และจัดให้ทำกฎหมายอุ้มบุญขึ้นใหม่ โดยวิธีการนำบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายหารือกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์มากที่สุด
ด้าน ผศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวถึงความพยายามผลักดันร่างกฎหมายอุ้มบุญ พ.ศ.....ว่า ผลกระทบของการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ช่วงที่ผ่านมา ทำให้เห็นความก้าวหน้าและแพร่หลายของธุรกิจให้บริการเทคโนโลยีนี้ในไทย ส่วนหนึ่งเกิดจากช่องว่างทางกฎหมาย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจึงพยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.... ออกมาบังคับใช้โดยเร็ว แต่เมื่อพิจารณาชื่อและเนื้อหาร่าง พ.ร.บ. โดยละเอียด พบว่า มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ อาทิ กำหนดสถานะความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ควบคุมไม่ให้มีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องในทางที่ไม่ถูกต้อง ให้น้ำหนักกับการห้ามและลงโทษบริการเทคโนโลยีนี้เพื่อผลตอบแทนทางธุรกิจ ผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ต้องเป็น “สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย” เท่านั้น
นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า ขอบเขตเนื้อร่างกฎหมายมีความจำกัด สังคมยังคงมีการคำถามถึงการห้ามไม่ให้มีบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ดำเนินการในรูปธุรกิจ สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด และอาจจะผลักให้บริการนี้หลบเลี่ยง อยู่นอกเหนือการควบคุมของกฎหมาย นำไปสู่สถานการณ์ที่ผู้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนโดยมีค่าตอบแทน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม ถูกละเลย ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพ กลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย และต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่
“การที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจำกัดผู้มีสิทธิใช้เทคโนโลยีนี้ไว้เฉพาะคู่สามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลกลุ่มอื่นที่ต้องการมีบุตรหรือไม่ อาทิ คู่ชีวิตที่เป็นคนรักเพศเดียวกัน หรือหญิงหรือชายที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย”ผศ.ดร.สุชาดา กล่าว