องคมนตรี ชี้รูปแบบรายการข่าวยิ่งมากช่อง "ยิ่งเละ" เหมือนกันหมด ขาดเอกลักษณ์
นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี แนะหน้าที่สื่อสารมวลชน ไม่ควรไปเพิ่มความเชื่อไสยศาสตร์ แต่ควรให้คนไทยคิดอย่างมีเหตุมีผล ยันเรื่องใดทำให้ปชช. "หลงทาง"ก็ไม่ควรนำมาสื่อสาร
วันที่ 19 กันยายน 2557 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานปาฐวาที 50 ปี นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ชุด "นิเทศศาสตร์แห่งอนาคต" ครั้งที่1 เรื่อง "นิเทศศาสตร์แห่งอนาคต:ความท้าทายและพันธกิจต่อสังคม" โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นองค์ปาฐก ณ หอประวัติ ชั้น 4 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.นพ.เกษม กล่าวตอนหนึ่งว่า ในศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่สื่อสารมวลชนจะต้องมีความรับผิดชอบและมีบทบาทเพิ่มขึ้น ซึ่งโดยธรรมชาติของโลกใบนี้เราจะนิ่งเฉยไม่ได้จะต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวเองตลอดเวลา ยิ่งในยุคปัจจุบันเป็นยุคที่อัตราการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่างๆ มีความรวดเร็วเป็นอย่างมาก ทำให้เราต้องเรียนรู้ คิด วิเคราะห์ ไม่ใช่ตัดสินใจกันด้วยอารมณ์ หรือตัดสินกันด้วยความเชื่อทางไสยศาสตร์
"แต่สิ่งที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้เสมือนว่า สื่อมวลชนเองไปเพิ่มความเชื่อในเรื่องโหราศาสตร์ไสยศาสตร์ให้กับคนไทยแทนที่จะสื่อสารและเพิ่มให้คนไทยคิดอย่างมีเหตุมีผลมากกว่า" องคมนตรี กล่าว และว่า ธรรมชาติของโลกในวันนี้ไม่มีใครที่อยู่โดยไม่เกี่ยวข้องหรือไม่สุงสิงกับผู้อื่น เพราะโลกในวันนี้เป็นโลกของวันนี้และวันพรุ่งนี้สื่อมวลชนจะรู้แต่เรื่องของตัวเองไม่ได้ สื่อมวลชนต้องรู้แม้กระทั่งเอเชียแปซิฟิกมีอะไร อาเซียนเป็นอย่างไร นอกจากนี้รูปแบบรายการข่าวในบ้านเรายิ่งมีมากช่องกลับ "ยิ่งเละ" ขึ้นทุกวัน โดยรูปแบบรายการข่าวเหมือนกันเกือบทุกช่อง ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ให้มองในฐานะของคนดูเหมือนเห็นอะไรซ้ำๆเดิมๆไม่มีความแตกต่าง
ศ.นพ.เกษม กล่าวอีกว่า โจทย์ในวันนี้คือเราจะผลิตนักนิเทศศาสตร์ให้เป็นคนที่รู้ครอบคลุมทุกอย่างได้อย่างไร ให้เป็นคนที่มีองค์ความรู้ รู้เท่าทันสถานการณ์ มนุษย์เป็นผู้มีความรู้แต่ไม่ร่วมใจแก้ปัญหาเพราะเห็นแก่ตัว ดังนั้นเราต้องสร้างนักสื่อสารมวลชนให้เป็นคนยึดถือประโยชน์ส่วนใหญ่ของคนในสังคมให้ได้
ทั้งนี้ องคมนตรี กล่าวถึงหน้าที่ของสื่อสารมวลชน คือการเชื่อมต่อจากแหล่งหนึ่งหรือไปยังกลุ่มชนจำนวนมากเพื่อรับส่งข่าวสาร สาระความรู้ ความบันเทิงที่เกี่ยวข้องให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและการเรียนรู้ ฉะนั้นเรื่องใดก็ตามที่นำเสนอแล้วประชาชนจะ "หลงทาง" สื่อก็ไม่ควรนำมาสื่อสาร ในขณะที่ตัวผู้รับสารเองไม่ได้รับข่าวสารข้อมูลโดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำในการรับรู้ เนื่องจากนโยบายด้านการศึกษาของไทย ไม่ได้เรื่อง ล้มเหลว ทำให้เกิดปัญหาด้านการคิดวิเคราะห์ ฉะนั้น ผู้ผลิตนักสื่อสารมวลชนจึงควรสอนการทำวิจัยแนวสืบสวนสอบสวนด้วยว่าจะสามารถเอาความจริงออกมาได้อย่างไร เนื่องจากในปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่า สื่อมีอิทธิพลในการสร้างความเชื่อและค่านิยมในสังคม ไม่ว่าจะทางดีหรือทางร้าย
"ความรับผิดชอบของสื่อมวลชนคือจะต้องเป็นสื่อที่สร้างสรรค์ ด้วยการยึดมั่นในความดี ความจริง ความงาม ผดุงคุณธรรมขจัดความชั่วร้าย ช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการมุ่งเป้าไปที่คนยากจน เด็กเยาวชน ผู้พิการและผู้สูงวัย และในกรณีที่เกิดปัญหาเจ้าของสื่อ องค์กรวิชาชีพ และนักสื่อสารมวลชนย่อมต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม"