"ผลประโยชน์"อ้างหลักศาสนา สารพัดปัญหาของผู้แสวงบุญฮัจญ์
ข่าวคราวเงียบหายไประยะหนึ่งแล้ว สำหรับการเดินทางของผู้แสวงบุญ หรือ "ฮุจญาต" เพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์ ในเทศกาลฮัจญ์ประจำปี 2557 หรือ ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) 1435 ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย
โดยผู้แสวงบุญชุดแรกๆ เดินทางไปตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีพิธีส่งกันอย่างใหญ่โตที่ท่าอากาศยานนราธิวาส โดย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นตัวแทน คสช.ไปส่งด้วยตัวเอง มีสื่อมวลชนที่ลงไปจากกรุงเทพฯรายงานข่าวกันอย่างเอิกเกริก ก่อนที่ทุกอย่างจะเงียบหายไป
ทว่าความเงียบไม่ได้แปลว่าเรียบร้อยหรือไร้ปัญหา เพราะการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ของพี่น้องมุสลิมไทย (จำนวนมากจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ซึ่งได้โควตาจากประเทศซาอุดิอาระเบียมาจำนวน 10,400 คน กลับต้องเจอปัญหามากมายไม่ต่างจากปีอื่นๆ แม้จะเป็นยุค คสช.ก็ตาม
ปัญหาแรก คือ วีซ่าไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นผู้แสวงบุญทั่วไปที่จ่ายเงินผ่านบริษัทผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า "แซะห์" และผู้แสวงบุญในโครงการส่งเสริมคนดีมีคุณธรรมไปประกอบพิธีฮัจญ์ ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จำนวน 200 คน
เมื่อวีซ่าจากทางการซาอุฯไม่ออกให้ตามกำหนด ทำให้ผู้แสวงบุญต้องไปนอนรอกันที่สนามบิน ส่งผลให้มีผู้แสวงบุญตกค้าง เมื่อรอนานเข้าๆ บางรายต้องไปรอถึงกรุงเทพฯ ทำให้ "แซะห์" ขอเก็บเงินเพิ่มอีกคนละ 20,000-40,000 บาท บางคนไม่มีจ่ายก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพิ่มเติม
เพราะผู้แสวงบุญแต่ละราย นอกเหนือจากโครงการของ ศอ.บต.แล้ว ต้องจ่ายให้แซะห์รายละ 180,000-200,000 บาท!
ผู้แสวงบุญรายหนึ่งจาก จ.ยะลา ที่ไปติดค้างอยู่ที่กรุงเทพฯช่วงก่อนหน้านี้ เล่าว่า แซะห์มาขอเงินเพิ่มอีกคนละ 20,000 บาท อ้างว่าต้องพักที่กรุงเทพฯหลายวัน รวมแล้วทั้งตัวเองและภรรยาต้องจ่ายเพิ่มอีก 40,000 บาท ทั้งที่ก่อนหน้านี้จ่ายไปแล้ว 380,000 บาท (คนละ 190,000 บาท)
"ผมรู้สึกแย่มากๆ ทางบริษัทบอกว่าไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เป็นเพราะซาอุฯมีปัญหากับรัฐบาลไทย (กรณีคดีอุ้มฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี) แล้วมาลงกับพี่น้องผู้แสวงบุญจนต้องมีรายจ่ายเพิ่ม เราเป็นชาวบ้านก็เชื่อนะ หนำซ้ำตอนนี้เป็นยุครัฐบาล คสช.ด้วย ปัญหาที่ไม่เคยเกิดก็อาจจะต้องเกิดขึ้น"
ผู้แสวงบุญรายนี้บอกว่า สุดท้ายก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มให้บริษัท โดยโทรศัพท์บอกทางบ้านหาเงินส่งให้ก่อน เพื่อจะไปแสวงบุญให้ได้ เพราะถ้ารอโควตาใหม่ก็คงอีกหลายปี จริงๆ ตนเองและภรรยาจ่ายเงินให้บริษัทตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะตั้งใจจะไปปีที่แล้ว แต่ไม่ได้โควตา ก็ต้องรอ กระทั่งได้ในปีนี้ ฉะนั้นจึงต้องไปให้ได้ตามที่ตั้งใจ
สาเหตุที่ "ฮัจญ์" มีความสำคัญกับพี่น้องมุสลิมขนาดนี้ เพราะตามหลักศาสนาแล้วถือเป็นข้อปฏิบัติข้อ 5 ที่มุสลิมต้องปฏิบัติเมื่อมีความพร้อม (ทั้งสภาพร่างกาย จิตใจ และทรัพย์) ด้วยการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ์
ข้อปฏิบัติทั้ง 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.กล่าวกลีเมาะ ลาอีลาฮาอีลลาลลอฮ์ 2.ละหมาด 3.ปอซอ (ถือศีลอด) 4.ซากาต 5.ฮัจญี
ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.ย. สำนักงานกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทยระบุว่า ยังมีผู้แสวงบุญตกค้างไม่ได้รับวีซ่าอีก 800 ราย แม้ขณะนี้อาจได้รับวีซ่าและเดินทางไปหมดแล้ว แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความล่าช้า และที่ผ่านมาเคยมีปัญหาผู้ประกอบการทิ้งผู้แสวงบุญที่ไม่ได้วีซ่ามาแล้ว!
ส่วนปัญหาอื่นๆ จะปรากฏเมื่อผู้แสวงบุญเดินทางไปถึงซาอุดิอาระเบีย และต้องพำนักอยู่ที่นั่นประมาณ 1 เดือนเพื่อประกอบพิธีต่างๆ (วันที่ทำพิธีใหญ่ ณ นครมักกะฮ์ คือ วันที่ 10 ของเดือนซุลฮิจญะห์ หรือ 100 วันนับจากวันฮารีรายอหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน)
เริ่มจากเรื่องอาหาร บางมื้อไม่เพียงพอ เพราะบริษัทผู้ประกอบการบางรายเตรียมอาหารไปน้อยกว่าจำนวนผู้แสวงบุญ แซะห์บางบริษัทเลือกที่อยู่ที่คับแคบและห่างจากมัสยิดเกือบ 5 กิโลเมตร ผู้แสวงบุญต้องเดินเท้าไปกลับเพื่อประกอบพิธีละหมาด คนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์ส่วนใหญ่อายุมากแล้ว บางคนอายุถึง 80 ปี จึงเดินช้า เดินไม่ทันเวลาละหมาด
นอกจากนั้นยังมีปัญหาผู้ประกอบการไม่จ่ายค่าที่พักที่เช่าไว้ให้ผู้แสวงบุญ ทำให้เจ้าของห้องพักต้องตัดน้ำตัดไฟเพื่อกดดันให้ผู้ประกอบการจ่ายเงิน อีกปัญหาที่พบ คือ การเจ็บป่วยที่อาจต้องส่งผู้แสวงบุญกลับไทยก่อนกำหนด บางรายยังไม่ทันเข้าพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ คำถามคือได้คืนค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยเหล่านี้บ้างหรือไม่
ที่ร้ายไปกว่านั้น คือ ผู้แสวงบุญบางคนถูกทิ้งไว้ที่สนามบิน และต้องหาทางกลับบ้านเอง ปัญหานี้เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา ชายชาวปัตตานีวัย 60 ปีถูกทิ้งอยู่ที่สนามบินนานถึง 3 วันกว่าลูกหลานจะไปรับกลับภูมิลำเนา!
ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นมานาน แม้กระทั่งในปีนี้ จนกลายเป็นการแสวงหาผลประโยชน์บนหลักการศาสนา จนชาวบ้านพูดกันว่า "แซะห์ทำงาน 1 เดือน กินได้ทั้งปี"
นางรอแมะ (สงวนนามสกุล) อายุ 80 ปี ชาวบ้านปัตตานีที่เคยเดินทางไปแสวงบุญ เล่าว่า ปัญหาหลักของคนสามจังหวัดคือไม่มีความรู้ ไม่รู้ภาษา ไม่เคยไปไหนนอกพื้นที่ จึงต้องเชื่อฟังผู้นำทาง หรือแซะห์ ฉะนั้นช่วงที่อยู่ซาอุฯ เมื่อเจอปัญหาหรืออุปสรรคอะไรก็ตาม ก็ต้องพึ่งพาอาศัยแซะห์ ไม่ว่าแซะห์จะพูดหรือทำอะไรก็ต้องถือว่าดีและถูกต้องไปหมด
"เหตุนี้ทำให้แซะห์หลายคนจากสามจังหวัดเอง ถือโอกาสเอาเปรียบผู้แสวงบุญ แซะห์จะคิดเหมาราคา 180,000-200,000 บาท แต่เราไม่เคยได้ทราบเลยว่า การเดินทางไปแสวงบุญครั้งหนึ่งๆ ต้องมีค่าใช้จ่ายตามจริงเท่าไรบ้าง แซะห์บางรายเก็บเงินไปแล้วช่วงก่อนเดินทาง เมื่อไปถึงที่ซาอุฯ ยังมาขอเก็บเงินเพิ่มอีก อ้างเป็นค่าใช้จ่ายสารพัด สภาพความเป็นอยู่ก็ต้องอยู่ในห้องแคบๆ อัดเข้าไป 10 กว่าคน เมื่อโวยวาย แซะห์ก็จะบอกว่าเป็นบททดสอบของอัลลอฮ์"
"ที่สำคัญแซะห์ยังบอกด้วยว่าความยากลำบากที่เจอในขณะที่อยู่ซาอุฯ ต้องไม่นำกลับไปพูดที่บ้านให้ลูกหลานฟัง เพราะจะส่งผลต่อการทำฮัจญ์ ทำให้ฮัจญ์ไม่สมบูรณ์ ทั้งที่ความจริงแซะห์กลัวเรากลับไปพูดกับคนที่บ้านแล้วจะไม่มีใครกล้าร่วมเดินทางไปแสวงบุญในปีถัดไป"
ปัญหาทั้งหมดนี้ มีเสียงสะท้อนจากผู้แสวงบุญว่าแม้เวลาจะผ่านไปปีแล้วปีเล่า แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่เดินทางไปตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ ก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาเท่าที่ควร
แม้กระทั่งปีนี้ ผู้แสวงบุญที่เดินทางไปกับโครงการของรัฐเองก็ยังสะท้อนปัญหาหลายประการ...
"ค่าใช้จ่ายคนละแสนแปด รัฐจ่ายให้ทั้งหมด แซะห์ได้ประกาศในที่ประชุมก่อนเดินทางว่าค่าใช้จ่ายตลอดการเดินทางไม่มีอีกแล้ว ผู้แสวงบุญเพียงนำเสื้อผ้าและข้าวของที่จำเป็นส่วนตัวไปเท่านั้น เราจะอยู่โรงแรมตลอดการเดินทาง แต่ปรากฏว่าแค่สัปดาห์แรกที่ไปถึงและพักที่เมืองมาดีนะห์ แซะห์เตรียมอาหารสำหรับ 50 คน ทั้งที่มีจำนวนผู้แสวงบุญในโครงการถึง 200 คน หลายวันผ่านไปปัญหาจึงไปถึงหูของเจ้าหน้าที่ทหารที่รับผิดชอบ แซะห์ถึงได้หาอาหารมาเพิ่มให้เพียงพอกับจำนวนคน"
"ส่วนที่มักกะฮ์ ที่พักคับแคบมาก ซ้ำยังต้องเดินเท้าวันละ 5 กิโลเมตร แซะห์บอกว่าทุกคนต้องอดทน ทุกอย่างคือความประสงค์ของอัลลอฮ์ แต่เราคิดว่าไม่ใช่ ปัญหาข้าวไม่พอ ที่พักไกล คับแคบ เป็นความประสงค์ของแซะห์ที่จัดมาไม่ดีมากกว่า"
ขณะที่ผู้แสวงบุญอีกรายหนึ่งที่เดินทางไปทำฮัจญ์เมื่อ 2 ปีก่อน เล่าว่า โดนแซะห์ไม่จ่ายค่าเช่าห้อง ทำให้พวกเขาต้องทนอยู่ในห้องมืดไม่มีไฟใช้ 3 วัน แซะห์หนีไปไหนก็ไม่มีใครรู้ โชคดีมีบริษัทอื่นสงสารมาช่วยจัดการปัญหาให้ จนถึงวันนี้กลับมาบ้านแล้วหลายปี ก็ยังเห็นแซะห์รายเดิมพาผู้แสวงบุญไปทำฮัจญ์อยู่ เพียงแต่เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ แสดงว่าปัญหานี้ไม่ถูกแก้ไขเลย
"พวกเราไม่ขออะไรมาก ตลอดการเดินทางขอให้มีที่พักใกล้มัสยิด มีอาหารกินอิ่มทุกมื้อตามที่จ่ายเงินเกือบ 2 แสนบาทก็พอ อย่าเอาเปรียบคนในศาสนาเดียวกันแบบนี้เลย"
ด้านผู้ประกอบการฮัจญ์ (แซะห์) รายหนึ่งจาก จ.ปัตตานี บอกว่า เขาทำอาชีพนี้มาตั้งแต่รุ่นบิดา เป็นบริษัทของครอบครัว ก็รับทราบปัญหาที่แซะห์บางรายเอาเปรียบผู้แสวงบุญมาตลอด หลายครั้งเคยยื่นมือเข้าไปช่วย แต่ก็ช่วยได้แค่ปลายเหตุ
"ถ้าทำกันอย่างตรงไปตรงมา อย่างของผมเก็บคนละ 185,000 บาท ผมจะเช่าโรงแรมให้อยู่ ไม่ได้เช่าอพาร์ทเมนท์ ผมยังได้กำไรต่อหัวหลายหมื่นบาท กินอาหารครบทุกคน ทุกมื้อ บางมื้อกินอาหารโรงแรม เขาจ่ายเกือบสองแสนบาท เขาย่อมที่จะได้รับการบริการที่เหมาะสมกับเงินที่เสียไป แต่แซะห์บางคนเอาเปรียบผู้แสวงบุญ เช่าอพาร์ทเมนท์เก่าๆ อยู่ห่างจากมัสยิดมากๆ แซะห์พวกนี้จะได้กำไรต่อคนไม่ต่ำกว่า 60,000-80,000 บาท"
เขาเสนอให้ "คณะอะมีรุ้ลฮัจญ์" (ผู้นำสูงสุดในกิจการฮัจญ์ มีหน้าที่อำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับฮัจญ์) ทำหน้าที่ตรวจสอบทั้งกระบวนการให้มากกว่านี้
ขณะที่ นายอับดุลฮาลิม มินซาร์ ผู้อำนวยการกองฮัจญ์ ศอ.บต.กล่าวว่า แต่ละปีผู้แสวงบุญมักเจอปัญหาต่างๆ กัน ซึ่ง ศอ.บต.ก็พยายามพัฒนาและแก้ไขปัญหา กระทั่งปีนี้ถือว่าดีขึ้นระดับหนึ่งแล้ว
"อย่างเรื่องวีซ่า คนสมัยก่อนมักไม่ทราบวันเดือนปีเกิดที่ครบถ้วน ทราบเฉพาะปีที่เกิด แต่ไม่รู้วันกับเดือน เมื่อกรอกข้อมูลไม่ครบ ระบบก็ไม่ทำงาน เมื่อระบบไม่ทำงานก็ไม่ได้วีซ่า เครื่องก็ตีกลับ แต่เมื่อเราเจอปัญหา เราก็ได้ผนึกกำลังร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อแก้ไข ไปปลดล็อคที่ต้นทาง เช่น ให้อธิบดีกรมการศาสนาเดินทางไปรับวีซ่าด้วยตัวเอง แล้วนำพาสปอร์ตไปที่สนามบิน จนสามารถทำให้ผู้แสวงบุญกลุ่มท้ายๆ ในโครงการ ศอ.บต.ได้เดินทางตอน 4 ทุ่มครึ่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากการบินไทยด้วย" นายอับดุลฮาลิม กล่าว
ช่วงเวลากว่าจะถึงวันประกอบพิธีฮัจญ์ใหญ่ยังเหลืออีกหลายวัน หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาจริงจัง ปัญหาของผู้แสวงบุญน่าจะน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่!