นักวิชาการชี้ผลิตละครเนื้อหารุนแรงซ้ำเป็นอันตรายต่อเด็ก แนะให้แทรกแนวคิดเชิงบวก
นักวิชาการชี้ผลิตละครเนื้อหารุนแรงซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นอันตรายต่อเด็ก แนะผู้ผลิตละครสอดแทรกเนื้อหาเชิงบวก สร้างการจดจำที่ดีต่อเด็ก
วันที่ 18 กันยายน 2557 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประชุมเสวนาเรื่อง "ภาพสะท้อนของเด็กและสตรีในละครโทรทัศน์ไทย" ทั้งนี้ภายในงานยังมีเสวนาในห้อข้อเรื่อง "ผลกระทบและอิทธิพลของโทรทัศน์ต่อสิทธิเด็กและสตรี" ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ
นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธุ์ ผู้จัดแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) กล่าวถึงกระบวนการผลิตละครในยุคปัจจุบันว่า ละครในยุคนี้มีการผลิตเนื้อหาที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางด้านจิตใจ วัตถุ หรือทางด้านความคิดออกมาซ้ำๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการปลูกฝังและตอกย้ำให้เด็กเรียนรู้และเกิดการจดจำและนำไปสู่ปัญหาสังคมในอนาคต ซึ่งผู้ผลิตละครสามารถหลีกเลี่ยงหรือทดแทนการผลิตได้ คือ การเสนอมุมมองอื่นที่มีความเหมาะสม ไม่สร้างเนื้อหาที่มีความรุนแรงในละคร โดยสอดแทรกจุดเล็กๆ ให้เห็นคุณค่าของตัวละครลงไปในเนื้อหา โดยศึกษาจากภาคประชาสังคม คนใกล้ชิด หรือการนำวรรณกรรมมาตีความให้มีเนื้อหาที่มีคุณค่าต่อสังคม
“เราควรจะใช้อิทธิพลในเชิงบวก มาช่วยในการมองหากลไก สิ่งหนึ่งที่สังคมมอง คือ เรื่องของกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งนักจิตวิทยา และนักเขียนบทต้องมาทำงานร่วมกัน” นางเข็มพร กล่าว พร้อมเสนอว่า การผลักดันพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สามารถช่วยสร้างสื่อที่ดีให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของครอบครัว และสังคมได้
ด้านนางวิสา เบ็ญจะมโน ประธานคณะอนุกรรมการการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านเด็กและสตรี และความเสมอภาคของบุคคล กล่าวว่า สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อถ่ายทอดเพียงทางเดียว(one-way communication) ซึ่งหากเด็กได้รับจากสื่อเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีผู้ใหญ่คอยแนะนำในสิ่งเหมาะสมจะเป็นอันตราย เพราะเด็กอยู่ในช่วงของการจดจำข้อมูล และอาจจะนำไปสู่การเลียนแบบ หากสื่อเป็นสื่อเชิงบวกก็จะสร้างพื้นฐานและการจดจำที่ดีต่อเด็ก แต่หากสื่อเป็นการสื่อสารเชิงลบก็เป็นการสร้างการจดจำในแง่ลบ สุดท้ายเด็กจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบจนนำไปสู่ปัญหาสังคม
“การผลิตละครซ้ำๆ เดิมๆ สร้างความจดจำให้กับเด็ก ละครบางเรื่องนำมาสร้างหลายรอบ จนเกิดพฤติกรรมเรียนรู้ จดจำและเลียนแบบ ส่วนเรื่องความคิดเห็นของเด็กก็จะขึ้นอยู่กับการรับรู้ที่เป็นรูปธรรมและนำไปสู่การพัฒนาความรู้สึกความรับผิดชอบชั่วดีและทัศนคติ” นางวิสา กล่าว
นางวิสา กล่าวด้วยว่า ในเรื่องของการลดทอนความเป็นคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น ในละครของไทยมักจะให้ผู้หญิงแสดงบทบาทที่ถือว่าเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป้นมนุษย์ เช่น แสดงเป็นผู้หญิงของผู้มีอิทธิพล บทบาทผู้หญิงที่ดูต่ำต้อย ความไม่เสมอภาคระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย และถูกสร้างขึ้นให้เป็นเมียน้อย เป็นต้น การสร้างตัวละครเช่นนี้จึงเป็นการชี้นำและถูกบิดเบือนแบบแผนในการประพฤติที่ดีงามนำไปสู่การละเมิดทางด้านร่างกายในอนาคตหากเด็กเรียนรู้และจดจำพฤติกรรมดังกล่าวไป