ผู้บริหารที่เห็นการกระทำผิดแล้วแก้ไขคือผู้นำชั้นยอด
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำคนหนึ่งที่เห็นข้อบกพร่องแล้วแก้ไข หากผู้นำทุกองค์กรเป็นเช่นนี้ผมรับรองว่าประเทศไทยจะเจริญรุ่งเรืองอย่างแน่นอน
ทำไมผมจึงพูดเช่นนั้น เพราะการที่ พลเอก ประยุทธ์ฯ เข้ามายึดอำนาจแล้วมีการโยกย้ายข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ข้าราชการรัฐสภา และข้าราชการอัยการ การย้ายข้าราชการดังกล่าวก็อาจเนื่องจากเห็นว่าข้าราชการเหล่านั้นอาจเป็นอุปสรรคต่อการปกครองหรือนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.) จึงต้องทำการโยกย้ายสับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม แต่การโยกย้ายสับเปลี่ยนดังกล่าวก็ต้องกระทำตามกฎหมายภายในของเรื่องนั้นๆ เพราะ คสช. มิได้ยกเลิกหรือระงับกฎหมายภายในฉบับใด ๆ เลย
การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทระดับสูง ได้แก่ หัวหน้าระดับกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ เมื่อพิจารณาอนุมัติแล้ว ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นผู้สั่งบรรจุ และให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๕๗๑
ข้าราชการรัฐสภาสามัญประเภทบริหารระดับสูง ให้ประธาน (รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา) นำเสนอคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก ก.ร. แล้ว ให้ประธาน (รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา) เป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๔๒๒
และการโยกย้ายข้าราชการอัยการจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ก่อน เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว จึงนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติข้าราชการฝ่ายอัยการ มาตรา ๓๘๓, มาตรา ๔๐, มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๒
สำหรับการแต่งตั้งและการให้อัยการสูงสุดพ้นจากตำแหน่งต้องเป็นไปตามมติ ก.อ. และได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา และให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งอัยการสูงสุด
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ายึดอำนาจในทางบริหารและได้มีคำสั่ง คสช. ที่ฉบับที่ ๑๖/๒๕๕๗ เรื่อง ให้ปลัดกระทรวงปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว๔ ได้มีการโยกย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการรัฐสภาสามัญ และข้าราชการอัยการ โดยมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายเหล่านั้น ทั้งที่มิได้มีการยกเลิก หรือระงับกฎหมายเหล่านั้น
กล่าวคือ การเสนอย้ายข้าราชการพลเรือนบางราย มิได้เสนอโดยรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัด แต่ปรากฏว่าปลัดกระทรวงเสนอย้ายข้าราชการต่อหัวหน้า คสช. โดยมิได้ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง แต่ประการใด และ คสช. ก็มิได้เรียกประชุมผู้ทำหน้าที่รัฐมนตรีเข้าประชุมให้ความเห็นชอบ
แต่หัวหน้า คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งและโยกย้ายทันที จึงไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ และในฐานะฝ่ายรัฐสภาหัวหน้า คสช. ได้มีคำย้ายข้าราชการระดับผู้บริหารของรัฐสภา ซึ่งจะต้องเสนอ ก.ร. ให้ความเห็นชอบก่อนอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ อีกเช่นกัน รวมถึงการย้ายอัยการสูงสุด การปลดอัยการสูงสุด และการแต่งตั้งอัยการสูงสุด ซึ่งต้องเป็นไปตามมติ ก.อ. และได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ และพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อีกทั้งการย้ายอัยการสูงสุดให้ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนซึ่งข้าราชการพลเรือนจะรับราชการเพียงอายุ ๖๐ ปี แต่นายอรรถพล ใหญ่สว่าง มีอายุ ๖๓ ปีเศษ จึงขาดคุณสมบัติการเป็นข้าราชการพลเรือน ทั้งการย้ายก็เป็นอำนาจของ ก.อ. เท่านั้น ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓๕
อีกทั้งตำแหน่งอัยการสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในองค์กรอัยการ จึงไม่มีตำแหน่งมาเทียบเท่าได้ ดังนั้น การย้ายอัยการสูงสุดให้ไปดำรงตำแหน่งใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าตำแหน่งนั้นจะกำหนดขึ้นมาให้เป็นข้าราชการอัยการชั้น ๘ ก็ไม่สามารถทำได้เพราะตำแหน่งนั้นเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของอัยการสูงสุด ซึ่งต่างกับข้าราชการพลเรือนเมื่อย้ายปลัดกระทรวง หรืออธิบดี ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง หรือย้ายกระทรวง หรือย้ายกรม หรือไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี ข้าราชการเหล่านั้นจึงมิได้อยู่ในบังคับบัญชาของปลัดกระทรวงหรืออธิบดี ในกระทรวงหรือกรมเดิมที่ตนอยู่แต่อย่างใด จึงไม่เป็นการลดตำแหน่ง (เช่นการย้ายอัยการสูงสุด) แต่ข้าราชการผู้นั้นย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ใหม่เท่านั้น จึงมิได้ตกเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ใต้บังคับบัญชาของข้าราชการผู้ถูกย้าย อีกทั้งการย้ายข้าราชการพลเรือนดังกล่าวเป็นการย้ายเพื่อความเหมาะสมและมิได้ลดตำแหน่งแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนตำแหน่งที่เท่าเทียบกันและเปลี่ยนลักษณะงาน ซึ่งแตกต่างกับ อัยการสูงสุดโดยสิ้นเชิง การที่ คสช. ย้ายไปอัยการสูงสุดให้ประจำสำนักนายกซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ
โดยอัยการสูงสุด มิได้ยินยอมและไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของ ก.อ. กับการปลดอัยการสูงสุดออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุด โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของ ก.อ. และแต่งตั้งอัยการสูงสุดคนใหม่ โดยมิได้ผ่านความเห็นชอบของ ก.อ. จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการขัดกับหลักธรรมาภิบาล หลักนิติรัฐ และหลักนิติธรรมโดยสิ้นเชิง
ต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ และในมาตรา ๒๔ บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่าผู้พิพากษาและ ตุลาการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และข้าราชการฝ่ายอื่น ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นตำแหน่งเพราะความตาย”
จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) ดังกล่าว จึงส่งผลให้การแต่งตั้งข้าราชการ การโยกย้าย และการปลดออก ที่ยังดำเนินการไม่เรียบร้อย กรณีที่ยังมิได้เสนอ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โยกย้าย และปลดออกนั้นก็จะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้นๆ
ส่วนใดที่ทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วก็ให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งหรือให้พ้นจากตำแหน่งต่อไป แต่หากการแต่งตั้ง โยกย้าย หรือพ้นจากตำแหน่งรายใดกระทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อการกระทำนั้นยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้น การดำเนินการนั้นควรได้รับการแก้ไข เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เพราะ คสช. ต้องการปกครองประเทศและบริหารราชการแผ่นดินด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ทุกฝ่ายและกฎหมายเท่านั้นที่จะทำให้ทุกคนยินดีให้ความร่วมมือกับ คสช. อย่างเต็มใจเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองให้สำเร็จตามเป้าหมาย แม้จะมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ(ฉบับชั่วคราว) ในมาตรา ๔๗ และมาตรา ๔๘๖ ได้ประกาศรับรองการกระทำของ คสช. ว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นการนิรโทษกรรมการกระทำที่ คสช. คิดว่าอาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายเท่านั้น จึงให้ถือว่าการกระทำนั้นชอบด้วยกฎหมายและถึงที่สุด ซึ่งมีผลทางกฎหมายทำให้ คสช. และบุคคลที่ปฏิบัติตามการกระทำเหล่านั้นไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย ไม่ว่าทางแพ่งและทางอาญา เพื่อมิให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายเหล่านั้นมาฟ้องให้ต้องรับผิดได้เท่านั้น แต่ผลของการกระทำมิได้ถูกลบล้างไปด้วย
กล่าวคือ การกระทำใดที่เป็นการผิดกฎหมายการกระทำนั้นก็ยังคงผิดกฎหมายอยู่ดี ดังจะอธิบายให้เห็น เช่น นาย ก. ฆ่าคนตาย การกระทำของนาย ก. คงถือว่าเป็นคนร้ายฆ่าคนตาย แม้ต่อมาจะมีกฎหมาย นิรโทษกรรมให้แล้ว ผลทางกฎหมายเป็นแต่เพียงทำให้นาย ก. ไม่ต้องรับโทษอีกต่อไปเท่านั้น แต่การกระทำมิได้ถูกลบล้างว่าการที่นาย ก. ฆ่าคนตายนั้นไม่เป็นความผิด ทั้งการกำหนดให้การกระทำหลังจากที่ใช้รัฐธรรมนูญแล้วหากเป็นการผิดกฎหมายก็ยังให้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายอีก กรณีที่ออกกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ถือว่าขัดต่อหลักนิติธรรมและไม่มีผลใช้บังคับในทางกฎหมาย เพราะหลักนิติธรรม คือ การออกกฎหมาย (นิติรัฐ) นั้น เขามีเจตจำนงให้ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง
แต่กฎหมายที่ออกมายุยงให้คนกระทำผิดในอนาคตโดยไม่ผิดกฎหมาย จึงเป็นกฎหมายที่อัปยศและไม่มีผลบังคับใช้ เพราะนิติรัฐ (กฎหมาย) นั้นขัดต่อหลักนิติธรรม (กฎหมายออกมาเพื่อบังคับใช้มิใช่ยุยงให้ละเมิดกฎหมาย)
ดังนั้น การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม หากยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น จึงควรได้รับการแก้ไข มิใช่ดันทุรังดำเนินการให้เสร็จสิ้นแต่อย่างใด และการกระทำนั้นจึงไม่มีผลตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
การที่ พลเอก ประยุทธ์ฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับผิดชอบต่อการแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการพลเรือนสามัญ คงจะทราบถึงการกระทำในการโยก ย้าย แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญที่ผ่านมานั้นขัดต่อกฎหมายอันเป็นหลักนิติรัฐ ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล และขัดต่อหลักนิติธรรม เมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มีคำสั่งให้ชะลอการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ๗ โดยให้รอคณะรัฐมนตรีประชุมกำหนดนโยบายเสียก่อน และให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดไปพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป อันเป็นการปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ จึงเป็นที่น่ายกย่อง พลเอก ประยุทธ์ฯ เป็นอย่างยิ่งที่พยายามที่จะปกครองประเทศให้เป็นไปตามหลักนิติรัฐ (กฎหมาย) หลักธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม โดยเมื่อเห็นข้อผิดพลาดก็รีบแก้ไขทันที และที่นายกรัฐมนตรีระบุเพียงข้าราชการพลเรือนสามัญเท่านั้น ก็เพราะตามกฎหมายนายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจดำเนินการกับข้าราชการฝ่ายอื่น
ดังจะเห็นว่าเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมประชุมเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เพื่อแต่งตั้ง ผบ.ตร. ในการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ๒๕๕๗ และ ก.ต.ช. ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ แต่งตั้ง พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็น ผบ.ตร. คนใหม่ อันเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้าราชการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗๘
ดังนั้น ถึงเวลาหรือยังที่ คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) และคณะกรมการอัยการ (ก.อ.) จะได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังเช่น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการรัฐสภาสามัญ เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ และให้การแต่งตั้ง การให้พ้นจากตำแหน่งข้าราชการอัยการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓
อนึ่ง การปลดอัยการสูงสุดโดยไม่มีการกล่าวหาว่ากระทำความวินัยอย่างร้ายแรง แล้วย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งที่ต่ำกว่านั้น เป็นการปกครองโดยไม่ใช้หลักนิติรัฐ หลักธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม ดังนั้น กระผมจึงเรียกร้องให้คณะกรรมการอัยการได้ทำการตรวจสอบว่า การแต่งตั้งอัยการสูงสุด และการแต่งตั้งที่ปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุดนั้นถูกต้องหรือไม่ ผมไม่ได้สนใจว่าใครจะเป็นอัยการสูงสุด เพราะอัยการสูงสุดท่านผ่านมาแล้วก็ท่านผ่านไปตามวาระ และทุกคนเป็นคนดี มีความรู้ความสามารถทุกท่าน เป็นอัยการรุ่นพี่ที่ผมเคารพรักทุกคน
แต่ที่ผมเรียกร้องนี้ก็เพื่อจะรักษาองค์กรอัยการ ซึ่งเป็นองค์กรบังคับใช้กฎหมาย มีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมทางอาญา มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ส่วนราชการทั้งหลาย และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งหากองค์กรอัยการไม่ตรวจสอบการแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังเช่นนายรัฐมนตรีปฏิบัติ แล้วองค์กรอัยการจะเป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ประชาชนได้อย่างไร จึงจำเป็นอัยการทุกท่านและ ก.อ. จะต้องช่วยกันรักษาองค์กรให้คงอยู่อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีเป็นที่เชื่อถือแก่ประชาชนและจากองค์กรส่วนราชการอื่นๆ
๑ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑
มาตรา ๕๗ การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๕๓
มาตรา ๕๕ มาตรา ๕๖ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ และมาตรา ๖๖ ให้ผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้ เป็นผู้สั่งบรรจุและแต่งตั้ง
(๑) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นผู้สั่งบรรจุ และให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ฯลฯ
๒ พระราชบัญญัติข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔
มาตรา ๔๒ การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการรัฐสภาสามัญ และการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ให้ผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้ เป็นผู้สั่งบรรจุและแต่งตั้ง
(๑) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ให้ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี นำเสนอ ก.ร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก ก.ร. แล้ว ให้ประธานรัฐสภาประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ฯลฯ
๓ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓
มาตรา ๓๘ การแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งนอกจากตำแหน่งอัยการผู้ช่วย ตำแหน่งอัยการอาวุโส ตำแหน่งรองอัยการสูงสุด และตำแหน่งอัยการสูงสุด ให้ประธาน ก.อ. เสนอ ก.อ. โดยคำนึงถึงความรู้ความสามารถ วามรับผิดชอบ ประวัติการปฏิบัติราชการ และพฤติกรรทางจริยธรรมของบุคคลนั้นเทียบกับงานในตำแหน่งข้าราชการอัยการที่จะได้รับตำแหน่งนั้นๆ เพื่อให้ความเห็นชอบก่อน เมื่อได้รับความเห็นอบแล้ว จึงนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
ในกรณีที่ ก.อ. ไม่ให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลใดตามที่ประธาน ก.อ. เสนอตามวรรคหนึ่งให้ประธาน ก.อ. หรือกรรมการอัยการคนหนึ่งคนใด เสนอชื่อบุคคลอื่นเพื่อให้ ก.อ. ให้ความเห็นชอบได้ และในกรณีที่มีการเสนอบุคคลหลายคนให้ดำรงตำแหน่งเดียวกัน ให้ ก.อ. พิจารณาผู้ได้รับการเสนอชื่อเรียงรายบุคคลตามลำอาวุโสเพื่อให้ความเห็นชอบ
ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งใด ถ้าเป็นกรรมการอัยการด้วย ให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อออกจากที่ประชุมในระหว่างการพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบ แต่ให้นับเป็นองค์ประชุมด้วย
มาตรา ๔๐ การแต่งตั้งข้าราชการอัยการไปดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโสให้อัยการสูงสุดเสนอรายชื่อผู้ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งต่อ ก.อ. เพื่อให้ความเห็นชอบ เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจึงนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า แต่งตั้งต่อไป
ข้าราชการอัยการผู้ใดไปดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโสแล้วจะกลับไปดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๓๒ อีกไม่ได้
มาตรา ๔๑ การแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งรองอัยการสูงสุด ให้ประธาน ก.อ. เสนอ ก.อ. เพื่อให้ความเห็นชอบ เมื่อ ก.อ. ให้ความเห็นชอบแล้วจึงนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๒ วรรคสองและวรรคสาม และมาตรา ๓๘ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๔๒ การแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ
ในการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดเพื่อขอความเห็นชอบจาก ก.อ. ให้ประธาน ก.อ. เป็นผู้เสนอ โดยคำนึงถึงอาวุโส ความรู้ความสามารถ ความรับผิดชอบ ประวัติ การปฏิบัติราชการ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลนั้น
ในกรณีที่ ก.อ. ไม่ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลตามที่ประธาน ก.อ. เสนอตามวรรคสอง ให้ประธาน ก.อ. เสนอชื่อบุคคลอื่น โดยเรียงตามลำดับอาวุโส และให้ ก.อ. พิจารณาตามหลักเกณฑ์ตามวรรคสอง
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๘ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓
มาตรา ๑๐ การแต่งตั้งและการให้อัยการสูงสุดพ้นจากตำแหน่งต้องเป็นไปตามมติ ก.อ. และได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา และให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งอัยการสูงสุด
การแต่งตั้งพนักงานอัยการอื่นและการให้พนักงานอัยการพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ
๔ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๖/๒๕๕๗ เรื่อง ให้ปลัดกระทรวงปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม๒๕๕๗
๕ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓
มาตรา ๔๔ การโอนข้าราชการอัยการไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการธุรการโดยให้ได้รับเงินเดือนไม่สูงกว่าในขณะที่โอน ให้อัยการสูงสุดสั่งได้เมื่อข้าราชการอัยการผู้นั้นยินยอมและ ก.อ. เห็นชอบ
การโอนข้าราชการอัยการไปเป็นข้าราชการพลเรือน หรือข้าราชการฝ่ายอื่นให้อัยการสูงสุดสั่งได้เมื่อข้าราชการอัยการผู้นั้นยินยอมและ ก.อ. เห็นชอบ
๖ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗
มาตรา ๔๗ บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ได้ประกาศหรือสั่งในระหว่างวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าประกาศหรือคำสั่งให้มีผลบังคับทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เป็นประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด และให้ประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก
ในกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีคำสั่งให้บุคคลใดพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่งใดที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๔ ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งให้บุคคลนั้นดำรงตำแหน่งนั้นหรือทรงให้บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งด้วย
มาตรา ๔๘ บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องจากการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ แลไม่ว่าจะกระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
๗ หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๕๐๖/ว ๘๐ ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๗ เรื่อง ชะลอการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เรียน กระทรวง กรม อ้างถึง หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๕๐๖/ว ๗๘ ความว่า "ตามที่ได้แจ้งเรื่อง การชะลอการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาเพื่อทราบและพิจารณาดำเนินการ ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในขั้นตอนการปฏิบัติ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติม ดังนี้
๑. ให้ชะลอการแต่งตั้งโยกย้ายเฉพาะกรณีที่อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า
๒. ให้ชะลอการแต่งตั้งโยกย้ายเฉพาะข้าราชการพลเรือนสามัญเท่านั้น
๓. การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการและการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง (แรกบรรจุ) ให้สามารถดำเนินการได้
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณาดำเนินการ
๘ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗
มาตรา ๕๓ การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๔๔(๑)(๒)(๓)และ(๔) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๔๔(๑) ให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจ แล้วเสนอ ก.ต.ช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
(๒) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๔๔(๒)(๓)และ(๔) ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
หมายเหตุ : ขอบคุณภาพประกอบจาก www.aecnews.co.th/politic/read/6561