เเรงสั่นไหวสำรวจปิโตรเลียมทำบ้านร้าว 'ชาวบุรีรัมย์' เดินสายร้องภาครัฐเร่งซ่อมใน 90 วัน
ชาวบุรีรัมย์ร้องนายกฯ-รมว.พลังงาน-อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เร่งสั่งระงับ ‘ซ่านซี เหยียนฉางฯ’ ระเบิดสำรวจปิโตรเลียม หลังพบบ้านร้าวจากแรงสั่นไหว จี้ต้องซ่อมแซมบ้านภายใน 90 วัน ตั้งคณะนักวิชาการ-วิศวกร 7 ฝ่าย ตรวจสอบ
วันที่ 18 กันยายน 2557 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางกาญจนา เส็งดี ในฐานะผู้เสียหายและผู้รับมอบอำนาจจากนางกรรธิมา ฤกษ์บุบผาเเละนางจำปี บึงไกล ต.ดอนมนต์ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่อง ขอให้ระงับเหตุและแก้ปัญหาผลกระทบจากการใช้วัตถุระเบิดสำรวจปิโตรเลียมด้วยคลื่นไหวสะเทือนของบริษัท ซ่านซี เหยียนฉาง ปิโตรเลียม (กรุ๊ป) จำกัด โดยมีเจ้าหน้าที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ เป็นผู้รับมอบหนังสือ
นางกาญจนา กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า บริษัท ซ่านซี เหยียนฉางฯ ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 6/2553/108 ในแปลงสำรวจบนบกหมายเลข L31/50 จากกรมเชื้อเพลิงพลังงาน กระทรวงพลังงาน ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจ.มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และบุรีรัมย์
โดยใน ต.ดอนมนต์ หนึ่งในพื้นที่สำรวจนั้น บริษัท ซ่านซี เหยียนฉางฯ ไม่ได้แจ้งชัดเจนว่าจะฝังระเบิดในที่นาด้วย แต่กลับมาแจ้งภายหลังดำเนินการเสร็จ และสามารถนำท่อมาต่อเพื่อใช้น้ำบาดาลได้ จึงหลงเชื่อและยอมรับค่าเสียหายดังกล่าว
นางกาญจนา กล่าวต่อว่า เพียงไม่นาน เมื่อมีการระเบิดสำรวจฯ ขึ้น กลับส่งผลกระทบให้บ้านเกิดรอยร้าวหลายจุด ซึ่งมีระยะห่างจากจุดระเบิดเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ทำให้ปัจจุบันนี้ตัวเองและครอบครัวต้องออกมาอาศัยอยู่นอกบ้าน เพราะหวั่นว่าบ้านจะพังลงมา ยกเว้นเข้าไปอาบน้ำ แต่งตัว เท่านั้น
ทั้งนี้ ผู้เสียหายทั้ง 3 ราย ได้เเจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธร อ.สตึก เเล้ว เเละร้องเรียนไปยังนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลดอนมนต์ เเต่ยังไม่ได้รับการเยียวยาเท่าที่ควร นอกจาการได้รับเงิน 10,000 บาท เป็นค่าบ้านร้าว เท่านั้น
“มีการลักลอบฝังระเบิดในที่นาของชาวบ้านโดยไม่ได้แจ้งด้วย เช่น กรณีนางจำปี บึงไกล จนบ้านเกิดรอยร้าว สกรูน๊อตที่ยึดแผ่นกระเบื้องหลังคากับไม้แปถอนออกจากกัน” นางกาญจนา กล่าว และว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เคยมีหนังสือถึง คสช. โดยระบุว่า ...การดำเนินการของบริษัท ซ่านซี เหยียนฉางฯ เข้าข่ายกระทำละเมิดต่อกรรมสิทธิ์ที่ดินของประชาชน...
ท้ายที่สุด ชาวบ้านมีข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1.ขอให้แก้ไขเยียวยาสุขภาพจิตใจนางคูณ แซ่อึง มารดาของนางกรรธิมา ฤกษ์บุปผา และนางกาญจนา เส็งดี ซึ่งได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ เสียขวัญจากแรงสั่นสะเทือนของการระเบิดสำรวจปิโตรเลียม และต้องอาศัยอยู่นอกบ้าน จนเกิดความวิตกกังวล เครียด นอนหลับยาก ร่างกายมีน้ำหนักลดลง
2.ขอให้แต่งตั้งคณะนักวิชาการอิสระร่วมกับวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจาก 7 ภาคส่วน ประกอบด้วย วิศกรผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทผู้รับสัมปทาน, วิศวกรผู้เชี่ยวชาญของหน่วยราชการเกี่ยวข้อง, ผู้เสียหาย, วิศวกรผู้เชี่ยวชาญที่ผู้เสียหายแต่งตั้ง, นักวิชาการที่ผู้เสียหายแต่งตั้ง, ตัวแทนคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน กสม., ตัวแทน คสช.ในพื้นที่ ผบ.จทบ.บร. เพื่อร่วมตรวจสอบพิสูจน์ความจริงจากผลกระทบดังกล่าว โดยค่าใช้จ่ายการดำเนินงานทั้งหมดให้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของบริษัทผู้รับสัมปทาน
3.ขอให้ดำเนินการทุกวิถีทางทำให้บ้านเลขที่ 1 หมู่ 2 และบ้านเลขที่ 67 หมู่ 2 กลับมาอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงภายใน 90 วัน นับตั้งแต่ได้รับหนังสือ หากจำเป็นต้องสร้างขึ้นใหม่ ให้บริษัท ซ่านซี เหยียนฉางฯ รับผิดชอบทั้งหมด
4.ขอให้ คสช. ร่วมกับนักวิชาการอิสระและวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจาก 7 ภาคส่วน จัดให้มีการประชุมประชาคมเปิดรับฟังความเดือดร้อนประชาชนทุกชุมชน และตรวจสอบบ้านทุกหลังที่ได้รับผลกระทบ รอบจุดระเบิดสำรวจปิโตรเลียม อ.สตึก อ.คูเมือง อ.แคนดง และอ.บ้านด่าน
5.หากพิสูจน์ทราบการดำเนินธุรกิจของผู้รับสัมปทานไม่เป็นไปตามหลักการถูกต้อง ขอให้ยกเลิกสัมปทานปิโตรเลียมทันที
6.ให้หยุดกระบวนการสร้างความแตกแยก อันเกิดจากการเข้ามาดำเนินการของกลุ่มทุนข้ามชาติ ทำให้ข้าราชการ ผู้นำในท้องถิ่น และประชาชน เกิดความสับสนในข้อมูล และเกิดการถกเถียงกันเอง อย่างไม่เคยมีมาก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันเดียวกัน นางกาญจนา ยังไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ณ กระทรวงพลังงาน เพื่อให้เร่งรัดติดตาม ดำเนินการกรณีดังกล่าวอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ ผู้เสียหายยังมีกำหนดการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายอำเภอสตึก นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลดอนมนต์ กำนันตำบลดอนมนต์ เเละผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลดอนมนต์ อีกครั้งหนึ่งด้วย .
|