เปิดละเอียดคำชี้แจงตุลาการ ยื่นปธ.สนช. คัดค้านร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปค.
“…คณะตุลาการศาลปกครองยังมีความเห็นว่า บทบัญญัติบางมาตรา ที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง ( ฉบับที่ … ) พ.ศ. … มีเนื้อหาที่ขัดต่อหลักการ… และจะก่อให้เกิดความเสียหายและความแตกแยกอย่างรุนแรงในองค์กรศาลปกครองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยบทบัญญัติในมาตรา 12 ,13 และ 14 ของร่างดังกล่าวจะมีผลเป็นการยุบเลิกคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ( ก.ศป.) ที่มีสถานภาพโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วในขณะนี้ ให้หมดสิ้นสภาพไปโดยอำเภอใจ…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นข้อความโดยละเอียดในหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร ที่ตัวแทนตุลาการยื่นต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่ 1 ในฐานะประธานกรรมาธิการเพื่อนำเสนอต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้พิจารณา ภายหลังเสร็จสิ้นการเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการประสานงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา
( อ่านประกอบ : เบื้องหลัง! มติวิป สนช.ฉบับเต็ม เข็นร่างกม.จัดตั้งศาลปค. เข้าวาระ 7 วันที่ 18 ก.ย.นี้ )
หนังสือ ที่ ศป 0004.2/พิเศษ
ศาลปกครอง
17 กันยายน 2557
เรื่อง คัดค้านร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ( ฉบับที่…) พ.ศ. …
กราบเรียน ฯพณฯ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
อ้างถึง หนังสือสำนักงานศาลปกครอง ที่ ศป 0004.2/ ลงวันที่ 9 กันยายน 2557
ตามที่ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ( ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อให้สภานิติบัญญติแห่งชาติพิจารณา ซึ่งคณะตุลาการศาลปกครองเกือบทั้งหมดอาจไม่เห็นพ้องด้วยกับผลเสียหายที่จะเกิดจากการมีกฎหมายดังกล่าวออกใช้บังคับ จึงได้มีหนังสือที่อ้างถึง กราบเรียนข้อเท็จจริง และความเห็นคัดค้าน การเสนอร่างพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ( ฉบับที่…) พ.ศ. … มาครั้งหนึ่งแล้ว
อย่างไรก็ดี กรณีปรากฏข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชนบางส่วนว่า ผู้บริหารศาลปกครองจัดให้มีการชี้แจงต่อตุลาการศาลปกครองชั้นต้น และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานศาลปกครองและมีความเข้าใจหรือมีข้อสรุปร่วมกันแล้ว ซึ่งเป็นข่าวที่คลาดเคลื่อนและขัดแย้งต่อข้อเท็จจริง
คณะตุลาการศาลปกครองตามที่ได้ร่วมเข้าชื่อกันและที่ได้ร่วมลงชื่อคัดค้านเพิ่มเติม ดังมีรายชื่อแนบท้ายหนังสือนี้ เห็นว่า เพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้กรุณารับทราบข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะตุลาการศาลปกครองโดยตรง จึงขอกราบเรียนความเห็นและข้อเท็จจริง เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง ( ฉบับที่…) พ.ศ. … ดังนี้
1.คณะตุลาการศาลปกครองเห็นว่า คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ( ก.ศป. ) ที่มีอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ยังคงมีสถานภาพเป็นคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ( ก.ศป.) โดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อย่างต่อเนื่อง และตามปกติ กล่าวคือ
1.1 คณะตุลาการศาลปกครองเห็นว่า การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีความจำเป็นเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง และได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะให้การดำเนินงานต่างๆ ของศาลรวมทั้งการบริหารงานบุคคลในองค์กรศาลต้องประสบข้อขัดข้องหรือต้องถูกยุบเลิกไปตามการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่ประการใด
1.2 การถือว่า คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ( ก.ศป.) ที่มีอยู่ตามปกติและต่อเนื่องกันต้องเป็นอันหมดสิ้นสถานะไป เพราะเหตุที่ได้มีการยกเลิกกกฎหมายหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ นั้น เป็นการขัดแย้งต่อแบบแผนและประเพณีทางการปกครองและทางการนิติบัญญัติของไทยที่ยึดถือ กันมาอย่างมั่นคง ดังจะเห็นได้จาก
1.2.1 เมื่อครั้งที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549 กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ส่งผลใช้บังคับ นั้น ก็ได้กำหนด ให้ศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามกฎหมายและตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต่อมา เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งมีผลให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช2550 สิ้นผลใช้บังคับ ก็ได้กำหนดให้ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมายและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต่อไปเช่นกัน
1.2.2 ในครั้งที่มีการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ( ฉบับชั่วคราว ) พุทธศักราช 2549 ซึ่งมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ก็ปรากฏว่า ในการประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 12/2549 เมื่อวันพุธที่ 13 ธันวาคม 2549 ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อและตรวจสอบประวัติและความประพฤติของบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามความในมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ.2542 อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ในขณะนั้น ที่ได้ยอมรับการยังคงสถานภาพของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ( ก.ศป.) ว่ายังคงมีอยู่ต่อไป โดยมิได้มีข้อขัดข้องหรือผลกระทบจากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสิ้งผลบังคับใช้ลงไป
และในขณะนั้น คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ( ก.ศป.) ที่มีอยู่ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและต่อเนื่องกันจนครบวาระ ดังนั้น โดยนัยแห่งการใช้และการตีความกฎหมายที่สอดคล้องกัน เมื่อมีประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งมีการใช้ถ้อยคำดุจเดียวกัน คณะตุลาการศาลปกครอง ( ก.ศป.) ที่มีอยู่ในขณะนี้จึงย่อมมีสถานภาพโดยชอบด้วยกฎหมายต่อไป หาได้มีสิ่งใดมาล้มล้างไม่ ซึ่งความเห็นในแนวทางนี้ คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ( ก.ศป.) ที่ดำรงตำแหน่งจนถึงขณะนี้ และคณะตุลาการศาลปกครอง จำนวนเกือบทั้งหมด ได้เห็นพ้องต้องกันมาโดยตลอด
2.เนื่องจาก ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนใดๆ ที่ต้องแก้ไขปรับปรุง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ.2542 ในส่วนของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ( ก.ศป.) ตามร่างที่เสนอในครั้งนี้แล้ว คณะตุลาการศาลปกครองยังมีความเห็นว่า บทบัญญัติบางมาตรา ที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง ( ฉบับที่ … ) พ.ศ. … มีเนื้อหาที่ขัดต่อหลักการตามที่กล่าว ในข้อ 1 และจะก่อให้เกิดความเสียหาย และความแตกแยก อย่างรุนแรงในองค์กรศาลปกครองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยบทบัญญัติในมาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 14 ของร่างดังกล่าว จะมีผลเป็นการยุบเลิกคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ( ก.ศป.) ที่มีสถานภาพโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วในขณะนี้ ให้หมดสิ้นสภาพไปโดยอำเภอใจ
อีกทั้งยังให้องค์กรอื่น ซึ่งได้แก่ ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสุงสุด ตามาตรา 68 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ.2542 มาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ( ก.ศป.) ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ( ก.ศป.) ตามร่างพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ( ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่งคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ( ก.ศป.) เป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคล ที่มีไว้เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของตุลาการศาลปกครองในการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลปกครอง โดยประกอบด้วยบุคคลผู้ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของตุลาการศาลปกครอง ในขณะที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเป็นองค์กรที่มีไว้เพื่อทำหน้าที่ในด้านการพิจารณาพิพากษาคดี และมิได้ประกอบด้วยบุคคลผู้ที่ได้รับเลือกจากตุลาการศาลปกครองให้เป็นตัวแทนแต่อย่างใด
คณะตุลาการศาลปกครองจึงเห็นควรที่จะได้กราบเรียนเสนอความเห็นต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้โปรดพิจารณารับฟังความเห็นคัดค้านร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง ( ฉบับที่ …) พ.ศ. … ของคณะตุลาการศาลปกครอง และได้โปรดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ( ฉบับที่ … ) พ.ศ. … เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งความเป็นเอกภาพในศาลปกครองและความเชื่อมั่นนการปฏิบัติหน้าที่อำนวยความยุติธรรมของเหล่าตุลาการศาลปกครองต่อไป
จึงกราบเรียนมาเพื่อพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
คณะตุลาการศาลปกครอง