มองสก็อตแลนด์-อังกฤษแยกปท.มุม“ดร.สมเกียรติ”:บทเรียนที่ไทยควรรู้
”…สำหรับผม และคนไทย ให้มองเชิงโครงสร้างเปลี่ยนแปลงสังคม คือ เขาใช้วิธีโหวต ไม่ยิงกัน ไม่ส่งทหารเข้าไปแบบยูเครน-รัสเซีย เขาโหวตอย่างเดียว ไม่มีในรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ความรู้สึกนั้นถือว่าถูกต้อง…”
หมายเหตุ www.isranews.org : เป็นคำให้สัมภาษณ์ของ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ผ่านรายการ “ตอบโจทย์ประเทศไทย” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถึงกรณีการลงประชามติแบ่งแยกประเทศระหว่าง สก็อตแลนด์ และอังกฤษ
----
“ผมฟังสุนทรพจน์ของนายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร ที่เปิดเผยว่า หากคนสก็อตแลนด์เลือกโหวตโน จะมีอะไรให้ เช่น พวกสวัสดิการต่าง ๆ มีเงื่อนไขมากขึ้น และรัฐบาลกลางของสหราชอาณาจักร จะช่วยเหลือสก็อตแลนด์อย่างเต็มที่ ฉะนั้นจึงถูกหลายฝ่ายกล่าวหาว่า เป็นการข่มขู่ หรือมีของมาล่อ”
“ส่วนฝ่ายนักการเมืองสก็อตแลนด์ พรรคเนชั่นแนลลิสต์สก็อตแลนด์ เขาต้องการโหวตเยส แยกตัว เพราะถือว่าเราส่งส่วยมานาน ช่วยเหลือกันมานาน แยกเป็นอิสระมีของดีเยอะแยะ ลองไปหาอ่านดูได้ในสมุดปกขาว หนากว่า 500 หน้า ซึ่งเขาเปิดให้คนอื่น ๆ เข้าไปดาวน์โหลดในเว็บไซต์”
“นี่คือความพะวงของคนอังกฤษ กับสก็อตแลนด์ว่า พรุ่งนี้ (18/09/2557) สหราชอาณาจักรจะหายไปเกือบ 1 ใน 3 หรือไม่ ประชากรอาจจะแค่ 5.3 ล้านคน ถือว่าไม่มากนั แต่มากพอจะตั้งเป็นประเทศได้ เช่น สิงคโปร์ ก็มีคนใกล้เคียงเท่านี้ หรือแม้แต่บรูไน ที่มีประชากรแค่ 5 แสนคน ก็ตั้งเป็นประเทศได้”
“ประเด็นอยู่ที่เมื่อแยกแล้วจะไม่ได้กลับมาอีก คิดผิดก็คิดใหม่ไม่ได้ ผมได้ดูสุนทรพจน์ของนายเดวิด ระบุว่า การโหวตในวันพรุ่งนี้ มันไม่ใช่การทดลองแยกกันอยู่ และกลับมาอยู่ด้วยกันได้อีก ไม่เหมือนคนแต่งงานที่หย่าแล้ว กลับมาคบกันใหม่ แต่งงานกันใหม่ได้ แต่พรุ่งนี้มันหย่า และไม่มีวันกลับมาแต่งงานกันอีก ส่วนสกุลเงินจะไม่ใช้ปอนด์อีกแล้ว ธนาคารใหญ่ ๆ ของสก็อตแลนด์ก็ต้องระวัง เพราะส่วนใหญ่มาตั้งสาขาที่อังกฤษ”
“ด้านสวัสดิการก็ต้องพิจารณาอนาคตกันเอง กองทัพก็ต้องว่ากันใหม่ เพราะนี่ใช้กองทัพรัฐบาลกลางอยู่ เรื่องพรมแดน การอยู่ร่วมกับสหภาพยุโรปจะทำอย่างไร จะไปใช้สถานทูตอังกฤษก็ไม่ได้แล้ว รวมไปถึงพวกทรัพยากรที่เคยร่วมกันใช้ด้วย”
“ผมคิดว่า นี่เป็นปัญหาของสก็อตแลนด์ กับอังกฤษ สำหรับผม และคนไทย ให้มองเชิงโครงสร้างเปลี่ยนแปลงสังคม คือ เขาใช้วิธีโหวต ไม่ยิงกัน ไม่ส่งทหารเข้าไปแบบยูเครน-รัสเซีย เขาโหวตอย่างเดียว ไม่มีในรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ความรู้สึกนั้นถือว่าถูกต้อง หากสก็อตแลนด์แยกตัวเป็นประเทศ พรรคเนชั่นแนลลิสต์สก็อตแลนด์ จะเขียนรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร ดูสิ เขาไม่ต้องเขียนในรัฐธรรมนูญ เขาคิดว่าอะไรควรไม่ควร และต้องใช้กฎหมาย”
“ประเด็นที่ใหญ่กว่านั้นที่สังเกต ถ้าการโหวตพรุ่งนี้เป็นเยส สก็อตแลนด์แยกประเทศ จะสร้างตัวอย่างให้ชาติอื่นเอาตามบ้าง เช่น แคว้นคาตาโลเนีย ของสเปน ที่เรียกร้องให้โหวตแยกประเทศ นอกจากนี้ในการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก จะแข่งขันกันอย่างไร ต่อไปจะมีโอลิมปิกที่บราซิล ใครจะไป”
“ผมเคยไปเรียนที่อินเดีย พบว่า ในทางรัฐศาสตร์ อินเดียพร้อมแยกเป็นประเทศเกือบ 30 แห่ง รัฐต่าง ๆ ในอินเดีย คือแคว้นมหาราชาในอดีตทั้งสิ้น บวกลบกว่า 30 รัฐ ที่อาจแยกเป็นประเทศ เช่น แคว้นปัญจาบ แคว้นแคชเมียร์ เป็นต้น อันนี้ทางรัฐศาสตร์ถือว่าจะสร้างแบบอย่างให้โลกมึนว่าจะเอาอย่างไร
“ผมเห็นแก่ความสงบชั่วคราว หวังว่าโหวตโนจะชนะแบบเชือดเฉือน ไม่ห่างกันมากนัก น่าจะต่างกันประมาณร้อยละ 51 ต่อ 49”
ทั้งหมดนี้คือการวิเคราะห์หน้าประวัติศาสตร์โลกสำคัญบทใหม่อย่างกรณีการลงประชามติแบ่งแยกประเทศสก็อตแลนด์ และอังกฤษ ในมุมมองของ ดร.สมเกียรติ
แต่ท้ายสุด สก็อตแลนด์จะได้แยกประเทศหรือไม่ ต้องติดตามผลลงประชามติวันพรุ่งนี้ อย่างใกล้ชิด!