นักวิชาการชี้ พ่อค้า-ขรก. ตัวบ่อนทำลายป่าไม้ แนะรัฐฯ วางระบบป้องกัน
‘รศ.ดร.ณรงค์’ ชี้ พ่อค้าและข้าราชการตัวบ่อนทำลายผืนป่า แนะรัฐฯวางระบบป้องกันไม่ให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างสองฝ่าย
ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 เรื่อง หยุดยั้งการบุกรุกการทำลายทรัพยากรป่าไม้ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557 จากนั้นมีการอนุมัติแผ่นแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายป่า การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์ของแผนแม่บทฯ ดังกล่าว ได้กำหนดให้มีระยะเวลาการหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า และทวงคืนผืนป่าให้ได้การภายใน 1 ปีนั้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พูดคุยกับ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้เห็นมุมมองต่อนโยบายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับยุทธ์ศาสตร์ในการทวงคืนป่าไม้
รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า การดำเนินการของรัฐในการทวงคืนผืนป่าภายใน 1 ปี เป็นมาตรการที่รัฐฯ ดำเนินการอย่างแน่นอน แต่ต้องศึกษาอย่างละเอียดก่อนว่า คนกลุ่มไหนที่ต้องจัดการในเรื่องของการทวงคืน และจะสามารถทวงคืนได้หมดหรือไม่
เมื่อถามถึงการทำงานของกรมป่าไม้ที่มีอายุยาวนานแต่การจัดการด้านป่าไม้ที่ยิ่งนับวันป่าไม้ยิ่งลดสวนทางกับนโยบายที่ต้องการให้มีป่าเพิ่มขึ้นนั้น รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ป่าไม้ลดลงคือ พ่อค้าและข้าราชการที่ละเลย รวมไปถึงชาวบ้านที่บุกรุกป่าเพื่อทำมาหากิน ทั้งนี้ส่วนตัวแล้วมองว่า หากพ่อค้าและข้าราชการหันกลับมาเอาใจใส่ในการทำงานเป็นการทำป่าแบบเศรษฐกิจมากกว่าที่จะมาทำลายป่า ประเทศไทยจะมีป่าเพิ่มขึ้นและลดการทำลายป่าลงได้
“ชาวบ้านจริงเกรงกลัวอำนาจรัฐอยู่แล้ว คนที่ไม่กลัวอำนาจรัฐคือพ่อค้าหรือนายทุน เพราะว่าเงินของพ่อค้าสามารถซื้ออำนาจรัฐได้ การจัดการกับชาวบ้านบุกรุกจึงไม่ยาก ฐานะของชาวบ้านคือผู้รับใช้ของนายทุนอีกทีหนึ่งเพียงเท่านั้น” รศ.ดร.ณรงค์กล่าว พร้อมยืนยันว่า การทำลายป่าหรือการตัดไม้เถื่อนถ้าไม่มีการร่วมมือของข้าราชการบางคน และพ่อค้าบางคนก็ไม่สามารถทำได้ ตัวสำคัญที่จะทำให้ป่าอยู่ได้คือ ข้าราชการกับพ่อค้า พร้อมกับแนะรัฐควรวางระบบป้องกันอย่าให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันทำลาย
และเมื่อถามว่า ไทยควรส่งเสริมให้ให้ชาวบ้านหันมาปลูกป่าเศรษฐกิจเพื่อป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าหรือไม่ รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า การปลูกป่าเศรษฐกิจนั้นสามารถทำได้ในพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรส่งเสริมให้ชาวบ้านร่วมมือกันในชุมชนดูแลภายใต้การกำกับของรัฐบาลคงจะดีกว่า
ภาพประกอบ: www.tcijthai.com