“สรรเสริญ”หนุนป.ป.ช.แก้กฎหมายฟ้องคดีเอง เหตุอสส.ทำงานล่าช้า
”สรรเสริญ” หนุน ป.ป.ช. ควรแก้ไขกฎหมายให้ฟ้องเองได้ เหตุ อสส. ฟ้องคดีช้า แนะตั้งอัยการประจำเพื่อฟ้องคดี ชี้ลงโทษเร็วเพิ่มต้นทุนการทุจริต เผยได้งบน้อยทำให้การปราบปรามไม่มีประสิทธิภาพ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เผยแพร่โครงการวิจัยการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ และสำนักงาน ป.ป.ช. ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และการส่งเสริมคุธรรมจริยธรรมของประชาชนในประเทศ
โดยในโครงการวิจัยบทที่ 5 เรื่องประสิทธิภาพของการทำงานในภาพรวมและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขจากสภาพปัญหา และอุปสรรคในการทำงานด้านการปราบปรามการทุจริต นายสรรเสริญ ระบุว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ควรปรับปรุงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประเด็นทางกฎหมายในการดำเนินคดีอาญาระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับอัยการสูงสุด ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาอัยการสูงสุดไม่ได้ฟ้องคดีให้กับ ป.ป.ช. โดยเร็ว ในการดำเนินคดีทุจริตผู้กระทำความผิดสมควรที่จะได้รับการลงโทษด้วยความรวดเร็วเพื่อเพิ่มต้นทุนให้ผู้ที่คิดกระทำการทุจริต
“จึงเห็นสมควรที่จะปรับแก้กฎหมายให้ ป.ป.ช. ฟ้องคดีเองได้ มีอัยการประจำ ป.ป.ช. เพื่อฟ้องคดี รองรับการดำเนินคดีของศาลที่ใช้ระบบไต่สวนจะทำให้การดำเนินคดีทุจริตเป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้น” นายสรรเสริญ ระบุ
นายสรรเสริญ ระบุอีกว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ควรปรับเพิ่มงบประมาณในด้านการไต่สวนข้อเท็จจริง นอกจากงบบริหารจัดการแล้ว สำนักงาน ป.ป.ช. จัดสรรงบประมาณให้กับงานทางด้านการป้องกันการทุจริตเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ด้านปราบปรามการทุจริตได้รับจัดสรรงบประมาณน้อย ดังนั้นควรจัดสรรงบประมาณในด้านนี้เพิ่ม
นายสรรเสริญ ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตั้งคำขอเฉลี่ยปีงบประมาณละ 1,935 ล้านบาท และได้รับการจัดสรรเฉลี่ยเป็นเงิน 1,068 ล้านบาท คิดเป็น 55.19 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณคำขอ เป็นที่น่าสังเกตว่าสำนักงาน ป.ป.ช. มักได้รับการจัดสรรงบประมาณเกิน 50 เปอร์เซ็นต์เพียงเล็กน้อย จึงจำเป็นที่สำนักงาน ป.ป.ช. ต้องทบทวนอย่างจริงจังเพื่อให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ ระยะที่ 2 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพว่า สาเหตุใดงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจึงน้อยกว่าคำขอค่อนข้างมาก ซึ่งสาเหตุสำคัญอาจเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์คำขอของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ผลกระทบจากการดำเนินโครงการตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอมีผลต่อภาพรวมไม่มากเท่าที่ควร หรือการดำเนินโครงการปราศจากทิศทางที่แน่นอน ส่งผลให้ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลเท่าที่ควร
“การวิเคราะห์คำของบประมาณของสำนักงาน ป.ป.ช. ยังขาดประสิทธิภาพและคุณภาพเท่าที่ควร สำนักงาน ป.ป.ช. ควรบูรณาการการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี และกำหนดตัวชี้วัดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ควรให้ความตระหนักและใส่ใจการวิเคราะห์คำของบประมาณ โดยคำนึงถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ยุทธศาสตร์ชาติฯ ระยะที่ 2 และแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน ป.ป.ช. ให้เกิดการบูรณาการดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อตอบสนองความต้องการของสาธารณชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายสรรเสริญ ระบุ
อ่านประกอบ :
ผลวิจัยฯชี้ ป.ป.ช.มีอิสระทางการเมือง แต่ปราบโกง-ลงโทษล่าช้า
พลิกแฟ้มวิจัย “ศ.เมธี”เทียบแนวทางปราบทุจริตในเอเชีย-ป.ป.ช.