ปชป.-แรงงาน จวก รบ.พลิ้วไม่บรรจุค่าแรง 300 บาทในนโยบาย
“เฉลิมชัย” เย้ยนโยบายค่าจ้าง 300 บาทเขียนแบบเลี่ยงบาลี ทำไม่ได้เพราะไม่ได้ศึกษาข้อมูล กรรมกรผิดหวังรัฐบาลเล่นคำจาก “ค่าจ้างเป็นรายได้รายวัน” แจงปัจจุบันรายได้เดือนละ 5.5 พัน-รายจ่าย 6.8 พัน ไม่ทำโอทีไม่รอด ทีดีอาร์ไอ แนะ กทม.-ปริมณฑล เริ่มปรับ 300 ได้ก่อน เพราะธุรกิจมีกำลังจ่าย
วันที่ 24 ส.ค.54 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) วิจารณ์คำแถลงนโยบายด้านแรงงานของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี และคำชี้แจงของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ และรมว.พาณิชย์ เป็นที่ชัดเจนว่านโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ที่บอกว่าจะทำทันทีทั่วประเทศ ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะทำได้จริง ทั้งนี้ตนเข้าใจว่าขณะหาเสียง ไม่ได้มีการศึกษาข้อมูลมาก่อน เห็นได้จากรัฐบาลไม่มีคำตอบว่าจะขึ้นค่าจ้าง 300 บาทได้เมื่อไรและมีวิธีการอย่างไร รวมทั้งการแก้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
“ผมไม่รู้ว่ารองนายกฯด้านเศรษฐกิจเข้าใจเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทหรือไม่ เพราะการไปเขียนว่ามีรายได้วันละไม่ต่ำกว่า 300 บาทตามทักษะฝีมือและความสามารถ ซึ่งการแถลงเช่นนี้เท่ากับนโยบายเดิมของรัฐบาลอภิสิทธิ์เรื่องค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลใหม่สามารถสานต่อได้ทันทีไม่จำเป็นต้องประกาศเป็นนโยบาย”
นายเฉลิมชัย ยังกล่าวว่าหากดูในรายละเอียดนโยบายด้านแรงงาน ก็ไม่ได้บรรจุเรื่องขึ้นค่าจ้าง 300 บาทไว้ ประกอบกับที่ผ่านมาภาคเอกชนได้เสนอผลกระทบต่างๆ ตนมองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจจะไม่บรรจุนโยบายเรื่องนี้ไว้ ให้ชัดเจน ส่วนนโยบายแรงงานด้านอื่นๆ เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม การดูแลแรงงานต่างด้าว คำแถลงนโยบายก็ไม่ระบุรายละเอียดในแนวทางปฏิบัติไว้
ด้าน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลไม่ตรงกับที่หาเสียงไว้ใน โดยเปลี่ยนถ้อยคำจากค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาท เมื่อตีความหมายรายได้ก็คือค่าจ้างบวกกับค่าสวัสดิการและค่าโอที ทำให้แรงงานรู้สึกว่ารัฐบาลบิดพลิ้ว ทั้งนี้หากพูดถึงรายได้ภาพรวมปัจจุบันทั้งเรื่องของเงินเดือนและสวัสดิการ ลูกจ้างได้มากกว่า 300 บาทต่อวันอยู่แล้ว แต่ถ้าได้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท จะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพราะไม่ต้องทำโอที ทั้งนี้สัปดาห์หน้าสภาองค์การลูกจ้างฯจะขอเข้าพบนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อทวงถามความชัดเจนเรื่องนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท
“หากจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันรัฐบาลสามารถทำได้โดยแก้ไขมาตรา 87 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เรื่องการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากในปัจจุบันราคาสินค้ามีการขยับนำหน้าค่าจ้างไปก่อนแล้ว”
นายมนัส กล่าวด้วยว่า จากการสำรวจรายได้แรงงานที่ จ.สมุทรปราการ ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 215 บาทต่อวัน หากคิดในเวลา 26 วันจะได้เดือนละ 5,590 บาท เมื่อดูภาพรายจ่ายพบว่าต้องจ่ายค่าประกันสังคม 279 บาท ค่ารถ 780 บาท ค่าอาหาร 3,000 บาท ค่าเช่าบ้าน 2,000 บาท ค่าเครื่องใช้อุปโภคบริโภค 800 บาท เมื่อรวมรายจ่ายทั้งหมด 6,859 บาทต่อเดือนเท่ากับติดลบอยู่ที่ 1,269 บาท ทุกวันนี้แรงงานอยู่ได้ด้วยการทำโอที แต่หากได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท จะมีรายได้ 7,800 บาทต่อเดือน เมื่อมาลบรายจ่าย 6,859 บาท จะมีเงินเหลือ 941 บาท ทำให้แรงงานไม่ต้องทำโอทีหรือทำโอทีน้อยลงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามหากจะให้แรงงานและครอบครัวอยู่ได้ควรได้รับค่าจ้างวันละ 421 บาท
ส่วน รศ.ดร.ยง ยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านแรงงานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าจากการศึกษาพบว่าพื้นทีที่มีโอกาสได้ปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทก่อนคือ กทม.และปริมณฑล และภาคใต้ เนื่องจากมีธุรกิจขนาดใหญ่กระจายตัวอยู่มากและมีแรงงานที่มีประสิทธิภาพศักยภาพสูง ขณะที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ จะค่อยๆทยอยปรับค่าจ้าง เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่มีแต่ธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งมีต้นทุนต่ำทำให้ปรับค่าจ้างได้ยาก อีกทั้งผลิตชิ้นงานได้น้อย
"สิ่งที่รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานต้องเร่งดำเนินการจากนี้ คือสนับสนุนให้แรงงานมีทักษะฝีมือเพิ่มขึ้นและสถานประกอบการมีศักยภาพในการผลิตสินค้ามากขึ้น เช่น มาตรการการสนับสนุนให้นำเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาใช้โดยอาศัย พ.ร.บ.ส่งเสริมฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ช่วยให้ภาคธุรกิจได้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี 2 เท่าจากการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานและซื้อเครื่องจักร รวมทั้งใช้เงินกองทุนส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงานมาช่วยยกระดับฝีมือแรงงาน"
ดร.ยงยุทธ กล่าวอีกว่าส่วนระยะยาวรัฐบาลต้องสนับสนุนให้สถานประกอบการลดการใช้กำลังแรง งานลงและหันไปใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันไทยใช้แรงงานอย่างเข้มข้นรวมทั้งเร่งยกระดับฝีมือแรงงานและพัฒนาทักษะอื่นๆ เช่น ภาษาต่างประเทศเพื่อรองรับประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2558 .
ที่มาภาพ : http://www.posttoday.com/ธุรกิจ-ตลาด/99222/สภาอุตฯค้านรัฐขึ้นค่าแรง300