20 องค์กรผนึกตั้ง"สภาประชาสังคมชายแดนใต้" ดันนโยบายปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ
องค์กรภาคประชาสังคมชายแดนใต้ 20 องค์กรร่วมประชุมและแถลงข่าวการจัดตั้ง “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” หรือ Dewan Masyarakat Madani Selatan Thai หรือที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Civil Society Council of Southernmost Thailand เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อ.เมืองปัตตานี
วัตถุประสงค์ของการตั้ง “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” ก็คือให้เป็นพื้นที่ในการระดมความคิดเห็นจากภาคประชาชนในเรื่องการเพิ่มศักยภาพและพลังอำนาจของภาคประชาชน, กำหนดทิศทางในการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน, แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสานงานและสนับสนุนกันระหว่างรัฐและเอกชน รวมทั้งสื่อสารและสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์สังคม
20 องค์กรเริ่มต้นที่ร่วมจัดตั้งสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ประกอบด้วย
1.สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้
2.มูลนิธิฮิลาลอะห์มัร
3.ศูนย์ฟ้าใส เครือข่ายเยาวชน จ.ยะลา
4.โครงการวิจัยพื้นที่ชุ่มน้ำ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
5.สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.)
6.มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ เครือข่ายพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้
7.มูลนิธิบ้านเด็กกำพร้าปัญญาเลิศ
8.ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาล
9.กองทุนเกื้อหนุนครอบครัวคนทำงานเพื่อสังคม
10.สถาบันอัสสลาม มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
11.ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด “บ้านชีวิตใหม่”
12.ศูนย์อัลกุรอานและภาษา โรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ
13.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
14.เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
15.ศูนย์ประสานงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดปัตตานี
16.เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้
17.เครือข่ายชุมชนศรัทธา
18.สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ปัตตานี
19.ศูนย์ประชาสังคม จ.ยะลา
20.เครือข่ายวิทยุชุมชนมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้
เลือก “ครูประสิทธิ์” นั่งประธาน – ดัน 3 วาระด่วน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงมติเลือกประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ คือ นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี อาจารย์อลิสา หะสาเมาะ หัวหน้าสาขาวิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เป็นเลขาธิการ มีที่ปรึกษาจำนวน 10 คน และใช้สำนักงานชั่วคราวที่สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ปัตตานี ในการดำเนินงานช่วงหนึ่งปีนับจากนี้
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า สภาประชาสังคมชายแดนใต้เป็นสภาที่มาจากจิตอาสาของภาคประชาสังคมในพื้นที่ ถือเป็นพื้นที่เสรี ประเด็นที่ร่วมกันทำในนามของสภาฯเป็นกิจกรรมใหญ่ตามนโยบายหลัก เชื่อมด้วยเหตุผลและมนุษยธรรม รวมถึงวิสัยทัศน์ที่มุ่งแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมีวาระเร่งด่วน 3 เรื่องคือ
1.ร่วมมือกับสมัชชาปฏิรูปการเมือง 2.ร่วมมือกับเครือข่ายผู้ชมของทีวีไทยในการสื่อสารสู่สังคม และ 3.แสดงจุดยืนและทัศนะต่อเรื่องโมเดลปัตตานีมหานคร (องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่เสนอโดยเครือข่ายพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้)
“หลังจากนี้ต้องมีการจัดการฐานข้อมูลเพื่อบูรณาการกันให้เป็นข้อมูลที่ทรงพลัง ก้าวหน้าอย่างตกผลึก และเดินหน้าไปได้ ดูว่าประเด็นไหนสำคัญควรทำก่อน มีทั้งข้อมูลและทฤษฎี หัวใจของสิ่งที่กำลังร่วมกันทำหากเราเริ่มถูกทางจะแก้ได้โดยอัตโนมัติ การให้องค์ความรู้กับสังคมทุกฝ่ายเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใส่ใจอย่างจริงจัง” นายประสิทธิ์ อธิบายถึงหลักการและบทบาทของสภาประชาสังคมชายแดนใต้
เคลื่อน 4 ยุทธศาสตร์-10 นโยบาย
สำหรับงานที่จะเดินหน้าทำในรอบปีแรก นายประสิทธิ์ บอกว่า จะดำเนินงานในยุทธศาสตร์ 4 ประการ คือ ยุทธศาสตร์ขยายประชาธิปไตย, ยุทธศาสตร์การดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม, ยุทธศาสตร์การพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และยุทธศาสตร์ส่งเสริมและสนับสนุนด้านอัตลักษณ์ ศาสนา และวัฒนธรรมแก่ประชาชนทุกชุมชน
ขณะเดียวกันก็จะผลักดันนโยบาย 10 ข้อโดยสันติวิธี คือ
1.สนับสนุนให้องค์กรชุมชน องค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายมีความเข้มแข็ง
2.สนับสนุนให้มีเครือข่าย กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กรครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ชายแดนใต้
3.สนับสนุนให้มีการจัดตั้งมูลนิธิกองทุนชุมชน
4.จัดทำฐานข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับชายแดนใต้ให้เป็นปัจจุบัน
5.สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดช่องทางการสื่อสารทั้งในระดับพื้นที่ นอกพื้นที่ และสากล
6.จัดให้มีสถาบันพัฒนาบุคลากรทางการเมืองของจังหวัดชายแดนใต้ ให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพในการรับใช้ประชาชนและสังคมเพื่อเป็นแบบอย่างแก่นักการเมืองทั่วประเทศ
7.ส่งเสริมการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับระบบงานยุติธรรม
8.สนับสนุนและส่งเสริมการแก้ปัญหา พัฒนาชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยยึดหลักชุมชนเป็นศูนย์กลาง เป็นฐาน และเป็นแกนขับเคลื่อน
9.ส่งเสริมวิถีชีวิตชุมชนตามอัตลักษณ์ ศาสนา และวัฒนธรรม
10.ร่วมกันดำเนินการผลักดันให้มีระบบการบริการจัดการพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นรูปแบบการปกครองพิเศษที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและบริหารจัดการตนเองได้จริง และมีสิ่งเพิ่มเติมได้อีกในอนาคต
เปิดปฏิญญาก่อตั้งสภาประชาสังคมฯ
ก่อนการแถลงข่าวได้มีการประชุมและร่วมลงนามปฏิญญาก่อตั้งสภาประชาสังคมชายแดนใต้เพื่อการขับเคลื่อนข่ายงาน โดยมีสาระดังนี้
ด้วยตระหนักว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปะทุเป็นวิกฤติความรุนแรงอย่างเรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันล้วนมีรากลึกมาจากความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างระหว่างอำนาจรัฐรวมศูนย์ที่ส่วนกลางกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมมานานกว่าร้อยปีแล้ว นอกจากนั้นยังมีประเด็นปัญหายาเสพติด สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นภาวะแทรกซ้อนจนทำให้ยากแก่การแก้ไข
ที่ผ่านมาทิศทางนโยบายในการแก้ปัญหาไฟใต้ล้วนผูกขาดอยู่กับฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานราชการ ในขณะที่ฝ่ายขบวนการฯเองไม่ยอมรับและไม่ยอมจำนนโดยง่าย ส่วนประชาชนและชุมชนท้องถิ่นทุกหมู่เหล่าล้วนเป็นเพียงผู้รับผลกระทบอันน่าขื่นขมจากการต่อสู้เพื่อเอาชนะกันด้วยอาวุธและมาตรการความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย และต้องทนอยู่กับสภาพดังกล่าวอย่างไม่มีทางเลี่ยง
พวกเราข่ายงานประชาสังคมชายแดนใต้ อันประกอบด้วยองค์กรชุมชน, องค์กรประชาสังคม และองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีถิ่นฐานที่ตั้งและภารกิจงานส่งเสริมและพัฒนาสังคมชายแดนภาคใต้อย่างถาวร มีความเห็นพ้องต้องกันว่าถึงเวลาที่องค์กรภาคประชาชนทั้งมวลในพื้นที่จะต้องรวมตัวผนึกกำลังกันเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมกันในการกำหนดทิศทางและมาตรการในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยใช้พลังแห่งสันติวิธี พลังความรู้และสติปัญญา และพลังแห่งคุณธรรมความดีเป็นธงนำ จึงมีมติร่วมกันเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2554 ก่อตั้งสภาประชาสังคมชายแดนใต้ โดยให้คำปฏิญญาต่อกันไว้ ณ ดินแดนปัตตานี แห่งนี้ว่า
ข้อ 1 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและเพิ่มพลังอำนาจของภาคประชาชน ทั้งในภารกิจการพัฒนาแบบพึ่งตนเอง การร่วมกระบวนนโยบายสาธารณะและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ พวกเราทั้ง 20 องค์กรขอประกาศก่อตั้ง “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” ให้เป็นองค์กรประสานงานกลางของเครือข่ายในการขับเคลื่อนภารกิจร่วมกัน
ข้อ 2 เราจักขอมีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นให้ภาครัฐ หน่วยราชการ และฝ่ายความมั่นคงที่รับผิดชอบอย่างตรงไปตรงมา และขอมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายการแก้ปัญหาไฟใต้ เรายินดีร่วมคิดร่วมทำกับกลุ่มต่างๆ ทุกภาคีทั้งในและนอกพื้นที่ โดยมีเป้าหมายคือการอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในระยะยาว ทั้งนี้บนพื้นฐานของการเคารพในความแตกต่างหลากหลายระหว่างกัน
ข้อ 3 เราจักส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสานสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่ม องค์กร และเครือข่ายภาคประชาชน สร้างพื้นที่สาธารณะและการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงสังคมชายแดนใต้อย่างจริงจัง
ข้อ 4 ไม่ว่าจะเผชิญปัญหาอุปสรรคใด พวกเราทั้ง 20 องค์กรในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง จักให้การสนับสนุนการดำเนินงานของสภาประชาสังคมชายแดนใต้อย่างมั่นคง ทั้งในด้านวิชาการ ทุนทางสังคม และทุนทรัพยากรต่างๆ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปีนับจากนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อให้สภาประชาสังคมฯมีความเข้มแข็งและแสดงบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสังคมชายแดนใต้สู่สันติภาพและความรุ่งเรื่องไพบูลย์ สำหรับลูกหลานสืบไป
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บรรยากาศช่วงที่ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ร่วมลงนามในปญิญญาก่อตั้งสภาประชาสังคมชายแดนใต้
2 ถ่ายภาพร่วมกัน
3 ตราสัญลักษณ์ (ภาพทั้งหมดโดย เลขา เกลี้ยงเกลา)