นักวิชาการชี้ปี 2578 ไทยเสี่ยงนำเข้าน้ำมันสูง 100% แนะเร่งหาแหล่งพลังงานใหม่
นักวิชาการชี้อีก 10 ปีข้างหน้า ไทยเสี่ยงนำเข้าน้ำมัน 100% ก๊าซธรรมชาติ 90% หากยังไม่หาแหล่งพลังงานใหม่ ‘ดร.เดือนเด่น’ เผยเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ทำได้ แต่ชาติต้องได้ประโยชน์สูงสุด ระบุระบบแบ่งปันผลผลิต หากทำไม่ดีก็เน่า แนะปชช.มีส่วนร่วมตรวจสอบ
วันที่ 16 กันยายน 2557 ชมรมนักข่าวอาเซียน จัดกิจกรรมบรรยายสรุป ‘จังหวะก้าวพลังงานไทย จังหวะใหม่อาเซียน?’ ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายมนูญ ศิริวรรณ ประธานคณะกรรมการ บริษัท การจัดการธุรกิจ จำกัด ในฐานะนักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์พลังงานไทยว่า การผลิตพลังงานยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ จึงมีแนวโน้มนำเข้าพลังงานสุทธิเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีแนวโน้มหมดไปในอีก 15 ปีข้างหน้า ฉะนั้นการมีวิสัยทัศน์ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติจะต้องรณรงค์ให้ใช้อย่างคุ้มค่าและคำนึงถึงคนรุ่นหลัง
“ไทยเสียเงินจำนวนมหาศาลในการนำเข้าพลังงาน ปีละ 1-1.4 ล้านล้านบาท แต่กลับพบว่าประสิทธิภาพในการบริโภคพลังงานไทยไม่ดีพอ เกิดการใช้สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย ทั้งที่ประชากรอยู่ในอันดับ 4 และเมื่อดูสัดส่วนการบริโภคพลังงานของไทยต่อจีดีพีก็สูงกว่าทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนและสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกด้วย”
ความเสี่ยงด้านพลังงานไทยอีก 10 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไรนั้น นักวิชาการพลังงาน กล่าวว่า ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศประเมิน ไทยมีความเสี่ยงสูงที่สุดในอาเซียน เพราะต้องพึ่งพาพลังงานจากภายนอกมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยคาดการณ์ในปี 2578 ไทยจะใช้เพิ่มขึ้นถึง 80% มีการนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 85% เป็น 100% มูลค่าสูง 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ/ปี หรือ 2.2 ล้านล้านบาท เช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติต้องเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 90% หากยังไม่สามารถหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมได้
“ไทยต้องนำเข้าในรูปก๊าซธรรมชาติอัดเหลว (LNG) 1.5 ล้านตัน/ปี ในปี 2556 และจะเพิ่มเป็น 30.2 ล้านตัน/ปี ในปี 2573” นายมนูญ กล่าว และว่านำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มจาก 3% เป็น 21% ในปี 2573 ซึ่งกรณีดังกล่าวจะทำให้ไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงานรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน
จากสถานการณ์จึงทำให้การแสวงหาพลังงานเพิ่มเติมเป็นภารกิจเร่งด่วน โดยการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 21 แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ผ่านนโยบายการต่างประเทศ หรือเลือกจะสำรวจพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา จะต้องเร่งสรุปให้ได้และเดินหน้าเร็วที่สุด เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ
นักวิชาการพลังงาน กล่าวด้วยว่า ทางออกที่ถือเป็นมิติใหม่ คือ การพัฒนาพลังงานทดแทน ซึ่งไทยมีศักยภาพสูงและเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะโซลาเซลล์ หากมีการพัฒนาเทคโนโลยีไปเป็นระบบโซลารูฟได้ ส่วนการสร้างแหล่งพลังงานนิวเคลียร์นั้น คนไทยยังไม่ยอมรับ ผิดกับประเทศอื่นในอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่มีการศึกษาและก่อสร้างแล้ว ซึ่งหากไทยไม่ยอมรับแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ อนาคตจะอยู่ในสถานะผู้ซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
ด้านดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวเห็นด้วยให้มีการขึ้นราคาพลังงานตามความเป็นจริง ซึ่งทุกคนต้องจ่ายในราคาเดียวกัน คือ ราคานำเข้า ยกเว้นผู้มีรายได้น้อยเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงราคาถูกได้ โดยไม่มีความจำเป็นต้องอุ้มปิโตรเคมี ทั้งนี้ หากราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น เชื่อว่าความต้องการจะลดลง และสุดท้ายอาจไม่ต้องนำเข้าก็ได้
“การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ รอบที่ 21 โดยเปลี่ยนมาใช้ระบบแบ่งปันผลประโยชน์นั้น ต้องทำอย่างไรให้รัฐได้ประโยชน์มากที่สุด” นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่าหากยังไม่รู้ปริมาณพลังงานใต้ดินที่แท้จริง อาจถูกกดราคาต่ำได้ ฉะนั้นหากเรามีข้อมูลมากเท่าไหร่ ความเสี่ยงจะน้อย และได้ราคาดี
ทั้งนี้ การเปิดประมูลต้องชัดเจนและโปร่งใส หากใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต แต่กลับปิดประตูคุยกันเอง ระบบดังกล่าวก็เน่าได้ หากไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของคนไทย ฉะนั้น จึงควรให้สาธารณชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ส่วนประเด็นกระทรวงพลังงานขาดประสิทธิภาพนั้น บางทีอาจไม่เป็นอย่างที่คิดก็ได้ เพียงแต่ประชาชนส่วนใหญ่ค่อนข้างขาดศรัทธาเท่านั้น
ดร.เดือนเด่น ยังกล่าวถึงความร่วมมือด้านพลังงานของอาเซียนว่า มักให้ความสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคง โดยเน้นสร้างเครือข่ายพลังงานภายในกันเอง ไม่ต้องนำเข้าจากกลุ่มภายนอก รวมถึงต้องการให้ประเทศสมาชิกตกลงช่วยเหลือกันเองในภาวะฉุกเฉินด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีเครือข่าย
ขณะที่ดร.นพ สัตยาศัย ประธานชมรมวิศวจุฬาฯ ร่วมปฏิรูปประเทศไทย (วศ.รปปท.) กล่าวถึงระบบการใช้พลังงานของไทยว่า ควรเปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นระบบการแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียม เพราะเป็นระบบที่สร้างผลประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อีกทั้งระบบดังกล่าวยังสร้างความมั่นคงและความโปร่งใสในการตรวจสอบได้มากกว่าระบบสัมปทาน ดังนั้นจึงต้องอาศัยการประมูลเพื่อการสำรวจแหล่งพลังงานที่ประเทศไทยมีเป็นอันดับแรกก่อน
“ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ รอบที่ 21 เพราะเขตสัมปทานเดิมเนื้อที่ราว 2 แสนตร.กม. ยังขุดสำรวจไปเพียง 1 หมื่นตร.กม.เท่านั้น ผลประโยชน์ของประเทศยังได้ไม่เต็มที่เลย ที่สำคัญการไม่ทราบข้อมูลปริมาณพลังงานที่แน่นอน จะส่งผลให้เกิดการประมูลอย่างโปร่งใสและตัดสินใจเดินหน้าอย่างยั่งยืนได้อย่างไร”
ประธาน วศ.รปปท. กล่าวด้วยว่า ไทยจะต้องเตรียมเรื่องพลังงานทดแทนส่วนที่กำลังหมดไป เช่น ปลูกต้นกระถิ่นยักษ์ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และกลั่นแก๊สจากต้นไม้ โดยหากปลูกได้ 50% จะสามารถทำรายได้ 1.5 หมื่นล้านบาท/ไร่/ปี ซึ่งจะต้องทำในทุก ๆ 25 ปี ทั้งนี้ ต้องทำอย่างจริงจัง .
ภาพประกอบ:www.energy-scholarship.jpg