สุรพงษ์ กองจันทึก จากเด็กค่ายอาสา สู่นักพัฒนาเพื่อสิทธิ
เขียนวันที่
วันพุธ ที่ 24 สิงหาคม 2554 เวลา 17:04 น.
เขียนโดย
ธิดามนต์ พิมพาชัย ศูนย์ข่าวชุมชน
หมวดหมู่
"อุดมการณ์เพื่อสังคม" อาจเป็นความฝันลึกๆ ที่อยู่ในใจคนวัยหนุ่มสาวเกือบทุกยุคสมัย แต่เมื่อวันเวลาผ่านเลยไปอาจมีเงื่อนไขอื่นๆ เข้ามาจนทำให้ทางเดินชีวิตเปลี่ยน ดังคำกล่าวที่ว่า อุดมการณ์และความฝันมักหล่นหายไปตามกาลเวลา
แต่คงไม่ใช่สำหรับ "สุรพงษ์ กองจันทึก" อดีตเด็กค่ายอาสาในรั้วมหาวิทยาลัย สู่นักพัฒนาผู้ก่อตั้ง "ศูนย์ศึกษากระเหรี่ยงและการพัฒนา" และ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ผู้มีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายหลายประการเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย เช่น กะเหรี่ยง ลาหู่ อุรักลาโว้ย มอแกน ทั้งเรื่องการศึกษา และพัฒนาคุณภาพชีวิต
โลกแห่งการอ่าน-โลกแห่งกิจกรรม ปูทางสู่นักพัฒนาเพื่อสังคม
สุรพงษ์ เล่าถึงที่มาของการทำงานเพื่อสังคมว่า เกิดจากความโชคดีหลายประการ โดยเฉพาะการที่ครอบครัวปลูกฝังให้เป็นคนรักการอ่านตั้งแต่วัยเยาว์ ทั้งวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และพุทธศาสนา ทำให้ได้รู้ได้เห็นในหลายๆ เรื่อง และเมื่อเข้าสู่วัยนักศึกษา ก็ได้ทำกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งชุมนุมพุทธศาสตร์และประเพณี พรรคนักศึกษา และทำค่ายอาสาพัฒนา ที่ทำให้มีโอกาสเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ เช่น ทุ่งกุลาร้องไห้ทางอีสาน หรือหุบเขาสูงที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ ทางภาคเหนือทำให้รู้และเห็นปัญหามากมายที่ซุกซ่อนอยู่ในสังคมไทย
สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาเรียนรู้ว่า วัยหนุ่มสาวเป็นวัยที่มีไฟ และมีพลังมหาศาล แต่ไม่มีทุน และเครือข่าย เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีสถานภาพทางสังคม มีหน้าที่การงานดีขึ้น มีเครือข่ายมากมาย แต่กลับมีแรงใฝ่ฝันที่จะทำอะไรเพื่อสังคมน้อยลง
"เลยคิดว่า ทำอย่างไร เราถึงจะยังได้ทำอะไรเพื่อสังคมอยู่ ไม่จำกัดอยู่ที่วัยนักศึกษาเท่านั้น เลยมาทำงานทางด้านนี้" ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงฯ กล่าวอย่างอารมณ์ดี
กลุ่มชาติพันธุ์ ปัญหาเรื้อรังในสังคมไทย
ในปี 2524 สุรพงษ์ในวัยนักศึกษา ได้ออกค่ายอาสาฯ ที่หมู่บ้านแม่โต๋ จ.เชียงใหม่ จึงเกิดเข้าใจถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมกะเหรี่ยง ในขณะที่สังคมไทยมีความเข้าใจเรื่องดังกล่าวน้อยมาก ทำให้เกิดการแบ่งแยก และดูถูกเหยียดหยามกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นปัญหาสังคมจนถึงทุกวันนี้
สุรพงษ์ อธิบายถึงที่มาของปัญหาว่า ประการแรก สังคมไทยมีปัญหาเรื่องความเข้าใจตนเอง ทำให้ไม่สามารถเข้าใจคนอื่นได้ เรียกแทนตัวเองว่า "คนไทย" แต่ไม่มีใครบอกได้ว่า คำว่า "ไทย" แท้จริงแล้วแปลว่าอะไร ในขณะที่คำเรียกแทนชื่อคนในโลกใบนี้ ล้วนแปลว่า "คน" อย่างประเทศญี่ปุ่นเรียกตัวเองว่า "นิปปอน" คนกะเหรี่ยงเรียกตัวเองว่า "ปากะญอ" ทั้งหมดทั้งมวลมีความหมายเดียวกันคือ "คน" แต่ไทย แปลว่าอะไร ไม่มีใครรู้
"บางคนบอกว่า ‘ไทย’ น่าจะมาจาก ไท ที่แปลว่าอิสระ แล้ว ‘ย’ มาจากไหน แค่เติมเข้าไปให้ดูแปลกเท่านั้นเอง และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานบัญญัติไว้ว่า ไทย แปลว่า คนไทยที่อยู่ในประเทศไทย ส่วน ไท หมายถึงกลุ่มคนไทยที่อยู่นอกประเทศไทย ไทแดง ไทยดำ ไทยอะหม ไทใหญ่ แปลกดี” เขาตั้งข้อสังเกต และให้คนทั่วไปลองตั้งคำถามตัวเองว่า เราเป็นคนไทยแท้ไหม หรือเรามีเชื้อชาติอะไรผสมอยู่
ประการที่สอง คนไทยยังมีความเชื่อว่า "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย" รวมแต่เชื้อไทย แล้วไปดูถูกเชื้อชาติอื่น จริงๆ แล้วเราต้องรวมชาติเชื้ออื่นๆ ด้วย เพราะสังคมมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มาก
เรียกได้ว่า แม้แต่คนที่เรียกตนเองว่าไทยแท้ อันที่จริงก็มีเชื้อชาติอื่นปะปนทั้งนั้น ทั้งจีน ลาว หรือ คนพื้นเมืองอื่นๆ แต่เมื่อเรามองไม่เห็นความหลากหลายของเชื้อชาติอื่น รวมทั้งที่ปะปนอยู่ในตัวเรา แสดงว่าเราไม่มีความเข้าใจตนเอง ก็เป็นการยากที่เราจะเข้าใจคนอื่น และปฏิบัติต่อคนอื่นไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้สังคมไทยยังไม่ค่อยยอมรับความแตกต่าง เช่น ในอดีตจะเห็นว่า เราปฏิบัติต่อเจ้าเมืองที่เป็นเมืองขึ้นไม่เหมือนกัน เจ้าทางเหนือก็ปฏิบัติอย่างให้เกียรติเพราะ วัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน ส่วนเจ้าทางใต้ เราก็ปฏิบัติอีกอย่าง เพราะเรามีอคติ ไม่ยอมรับ และไม่เปิดใจต่อวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทั้งศาสนา และวิถีชีวิต พูดง่ายๆ ว่า ไม่เคยยอมให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ต่างจากชาติอื่นๆ อย่างอเมริกา หรือจีน ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ และภาษามาก
เราต่างก็เป็นชนกลุ่มน้อย
หากย้อนไปมองประวัติศาสตร์ จะพบว่าในอดีตมีการทำสงครามระหว่างเมือง หรือประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกันอยู่เนืองๆ ไม่ใช่การแย่งชิงดินแดน หากแต่เป็นแรงงาน หรือฐานทรัพยากรมนุษย์ เห็นได้จากถ้าประเทศใด หรือเมืองใดแพ้ ประชาชนจะตกเป็นเชลยศึกและถูกกวาดต้อนมายังประเทศที่ชนะ เพื่อเป็นแรงงานในประเทศนั้นๆ
“มันหมายถึงการมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นทำให้เมืองนั้นดูยิ่งใหญ่และเรืองอำนาจ” สุรพงษ์ เล่าถึงสาเหตุที่ทำให้ สังคมมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ และประเทศไทยในอดีต เมื่อชนะสงครามก็กวาดต้อนผู้คนจากประเทศต่างๆ มากมายเข้ามาโดยยินดีรับทุกชนชาติ หากใครเก่งและมีฝีมือก็ถูกแต่งตั้งให้เป็นหน้าปกครองคนอื่นๆ ด้วย เราเพิ่งมีพรมแดนประเทศในช่วงที่ อังกฤษและฝรั่งเศส เข้ามาล่าอาณานิคม
ในระยะหลังเริ่มมีประชากรเพิ่มขึ้น แต่ทรัพยากรธรรมชาติกลับมีจำนวนจำกัด จึงเริ่มกีดกันการให้สัญชาติ เพราะเชื่อว่าเป็นภาระของรัฐที่ต้องดูแลเพิ่มขึ้น และมีความกังวลว่า การให้สัญชาติเป็นเรื่องความมั่นคง บางครั้งก็ให้ตามลำดับขั้น หรือ ค่อยๆ ให้ เช่น ลูกหลานคนจีนในสมัยก่อนที่อพยพเข้ามา
เขายังกล่าวว่า แท้จริงแล้วปัญหาเรื่องชาติพันธุ์เกิดจากการตีความ คำว่า “ชาติพันธุ์” ทำให้เราคิดไปว่า เป็น “ชนกลุ่มน้อย” ที่มีวัฒนธรรมการกินอยู่ และการใช้ภาษาไม่เหมือนกับเรา เช่นกะเหรี่ยงที่อยู่บนพื้นที่พื้นที่สูง มุสลิมใน 4 จังหวัดภาคใต้
ภาษากะเหรี่ยงไม่ใช่ภาษาไทย จึงเป็นชนกลุ่มน้อย มลายูไม่ใช่ภาษาไทย ก็เป็นชนกลุ่มน้อย ภาษาไทยก็ไม่ใช่ภาษาของกะเหรี่ยงและมลายู แสดงว่าเราก็เป็นชนกลุ่มน้อยของเขาด้วย ดังนั้น ทุกคนต่างก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์
ถ้าเรายอมรับว่า โลกอยู่ได้ด้วยความหลากหลาย ป่าก็อยู่ได้เพราะต้นไม้น้อยใหญ่ เราต้องยอมรับ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เพราะจะช่วยสร้างโลกให้เกิดการพัฒนาได้
“คนมักไม่ให้ความสำคัญของสิ่งเล็กๆ หรือวัฒนธรรมเหล่านี้ เพราะถ้าหายไปย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่น เราต้องโลกด้วยความหลากหลาย ไม่ใช่ครอบงำคนอื่น ที่คิดไม่เหมือนกัน”
สร้างความรู้-เข้าใจ “งานหนัก” ของนักสิทธิมนุษยชน
ความไม่เข้าใจ ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ เจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าใจหลักสิทธิมนุษยชน ย่อมมองกลุ่มชาติพันธุ์เป็นพลเมืองชั้นสอง คนในสังคมไม่เข้าใจรากเหง้าและที่มาจึงดูถูกเหยียดหยามอย่างไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์เอง ก็ไม่รู้ และไม่เข้าใจสิทธิของตนเอง
ดังนั้น งานหลักของนักสิทธิมนุษยชน จึงต้องให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทั้งคดีความ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
เริ่มตั้งแต่ ช่วยเหลือ “เด็กชายหม่อง ทองดี” เด็กไร้สัญชาติ ให้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปแข่งขันพับเครื่องบินกระดาษที่ประเทศญี่ปุ่น จนได้รับชัยชนะกลับมาซึ่งก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่รัฐไม่อนุญาต “ช่วยเหลือด้านคดี ชาวบ้าน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ 1,243 คน” ซึ่งถูกทางอำเภอจำหน่ายชื่อออกจากรายการสัญชาติไทยได้รับสัญชาติคืน โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า คำสั่งของนายอำเภอแม่อายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ช่วย “นายจอบิ (ไม่มีนามสกุล)” ผู้ต้องหาคดียิงรถนักเรียนที่ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ซึ่งเกิดจากรายชื่อตกหล่นจากการจัดทำทะเบียน เป็น นายจอบิ วนาวิวัฒน์กุล ช่วยเหลือ “ชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง” ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ตะกั่ว จ.กาญจนบุรี ซึ่งคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุด นอกจากนี้ยังมีคดีอื่นๆ ที่เกิดจากความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่รัฐทำให้เกิดการละเมิดสิทธิ
สุรพงษ์เล่าว่า ครั้งหนึ่ง เคยช่วยเหลือด้านคดีแก่แรงงานข้ามชาติในโรงงานที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งถูกใช้แรงงานทั้งวันทั้งคืนแต่ได้ค่าจ้างเพียงไม่กี่บาท เมื่อช่วยฟ้องร้องจนชนะคดีความ เสียงจากคนในศาลจึงถามว่า
“ไปช่วยคนต่างด้าวทำไม?”
เขาตอบว่า “ไม่ได้ช่วยคนต่างด้าว แต่ช่วยให้คนไทย ให้มีความคิด มีศีลธรรม มีมนุษยธรรมมากขึ้น เพราะไม่มีใครเกิดมาเพื่อเป็นทาสใคร”
นอกหนือจากคดีความต่างๆ ที่กล่าวมา นักสิทธิมนุษยชนท่านนี้ ยังเป็นแรงสำคัญในการผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การปฏิบัติงานของภาครัฐ โดยเฉพาะมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าด้วยเรื่องการจัดการศึกษาของคนที่ไม่มีสัญชาติไทย เนื่องจากในอดีต หมู่บ้านตามหุบเขาที่ห่างไกล จะมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีสัญชาติไทยอยู่อาศัย จะไม่ได้เรียนหนังสือ ขณะที่ชาวบ้านก็ไม่กล้า เพราะคิดว่าตนไม่มีสิทธิ ส่วนทัศนคติของครูพื้นที่ต่อนักเรียนก็ย่ำแย่ ตอนที่ผลักดันมติครม.ใหม่ๆ มีเสียงคัดค้านมากมายเรื่องผลกระทบต่อความมั่นคง
เวลานั้นสุรพงษ์ย้อนถามในวงประชุมว่า “ถ้าไม่สอนเขา (คนไร้สัญชาติ) ให้เขาสอนกันเองดีไหม”
เพราะการลงทุนทางการศึกษา เป็นการลงทุนที่ต่ำที่สุด ถ้ากลัวว่าพวกเขาจะเป็นปัญหาของสังคมไทย และถ้าเชื่อมั่นว่า ระบบการศึกษาไทยจะสามารถช่วยพัฒนาคนได้ ยิ่งต้องให้การศึกษาแก่พวกเขาอย่างเร่งด่วน
ส่วนมติอื่นๆ อาทิ มติครม.ว่าด้วยการถอนข้อสงวนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ส่งผลให้ ทำให้เด็กที่เกิดในเมืองไทย จะได้รับการจดทะเบียนการเกิดและมีสัญชาติไทยทุกคน
มติครม. ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในประเด็นปัญหา 5 ประการ ได้แก่ 1. ส่งเสริม และสนับสนุนชาวกะเหรี่ยงในเรื่องอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมกะเหรี่ยง ส่งเสริมสังคมให้มีความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม 2. ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกิน 3. สิทธิในสัญชาติ 4. การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม 5. การศึกษา โดยสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนในการกำหนดหลักสูตรการศึกษาที่ สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
แม้จะมีมติ และมีกฎหมายออกมาแล้ว แต่ยังขาดการบังคับใช้ในหลายพื้นที่ เพราะเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการยังเข้าใจนโยบายไม่ตรงกัน
อย่างไรก็ตาม สุรพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาเหล่านี้เรื้อรังในสังคมมานาน การแก้ปัญหาจึงต้องใช้ระยะเวลา และต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม และการรวมอำนาจที่ศูนย์กลางมากเกินไป ต้องกระจายอำนาจและเชื่อมั่นในศักยภาพของประชาชน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ที่มาภาพ: http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=1763709