เปิดตัว ‘นิด้าโมเดล’ ปฏิรูปชาติ 16 ด้าน ชง ‘บิ๊กตู่’ สิ้น ก.ย. 57
นิด้า เปิดโมเดลปฏิรูป 16 ด้าน ยกเครื่องประสิทธิภาพประเทศ ‘อธิการบดีนิด้า’ เผยเตรียมส่งมอบรัฐบาลสิ้นก.ย. 57
วันที่ 15 กันยายน 2557 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดแถลงข่าว ‘เปิดตัวนิด้าโมเดล ปฏิรูปประเทศไทย:ปฏิรูปการเมือง ยกเครื่องกฎหมาย กระจายอำนาจบริหารราชการ’ ณ อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันประสิทธิภาพการสร้างผลผลิตของไทยด้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น อาทิ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฉะนั้นหากไม่เร่งแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพ ไม่รู้ว่าคนรุ่นต่อไปจะอยู่ได้อย่างไร
นิด้าจึงริเริ่มจัดทำโมเดลปฏิรูปประเทศไทยขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยอดีต โดยจะรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดมอบให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลายเดือนกันยายน ศกนี้ และพร้อมจะเข้าไปชี้แจงรายละเอียดในขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ โมเดลปฏิรูปประเทศไทย 16 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมือง, การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และสร้างมาตรฐานจริยธรรมผู้บริหารประเทศ, กระบวนการยุติธรรม, การบริหารราชการแผ่นดิน, การศึกษา, โครงสร้างเศรษฐกิจ, ข้อมูลข่าวสาร, ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม, การปราบปรามการค้ามนุษย์, การท่องเที่ยว, สิ่งแวดล้อม, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, ระบบการขนส่งโลจิสติกส์, พลังงาน และสวัสดิการสังคม
“โมเดลทุกด้านที่เสนอนั้นล้วนมีความสำคัญ หากตัวเองเป็นรัฐบาลและสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คงจะอ่านรายละเอียดทุกด้าน และนำมาดำเนินการในสิ่งที่มีความจำเป็น และร่วมลงลึกในรายละเอียดด้วยกัน” อธิการบดี นิด้า กล่าว
ด้านศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า กล่าวถึงปัญหาโดยรวมของกระบวนการยุติธรรม มี 5 เรื่อง ได้แก่ 1.สถานการณ์คดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมากเกินไป ไม่มีกระบวนการลดทอน หรือหยุดเรื่องก่อนไปถึงศาล นอกจากนี้ระบบกฎหมายไทยนำโทษทางอาญามาใช้มากเกินความจำเป็น นำมาสู่ปัญหาคนล้นคุก
2.การอำนวยความยุติธรรมยังมีความล่าช้า คดีทุจริตคอร์รัปชันใช้ระยะเวลานานถึง 8 ปี และการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมยังมีปัญหา โดยเฉพาะคนยากจน
3.กระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทยมีขนาดใหญ่และต้นทุนสูง ปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณ 1.23 แสนล้านบาท สำหรับเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม โดยนำมาใช้ส่วนงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 8.6 หมื่นล้านบาท ศาลยุติธรรม 1.4 หมื่นล้านบาท ราชการ 9.7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก
4.ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีปัญหากรณีการปล่อยตัวชั่วคราว นำมาสู่ธุรกิจประกันเสรีภาพ ทำให้คนยากจนมีปัญหา
5.การบริหารงานกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม แต่ละหน่วยงานขาดการประสานการทำงานร่วมกัน ขัดแย้งกัน และยังขาดระบบข้อมูลร่วมใช้เป็นฐานดำเนินการต่าง ๆ
สำหรับข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า ในขั้นตอนก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น ต้องให้ความสำคัญการป้องกันและควบคุมอาชญากรรม ด้วยการจัดการความขัดแย้ง ระงับข้อพิพาทโดยชุมชน เกิดระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสม ทั้งนี้ ควรดึงภาครัฐ ท้องถิ่น และประชาสังคม ทำงานร่วมกันด้วย
ส่วนการพิจารณาชั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นก่อนฟ้อง การจับกุม ควบคุมตัว ควรเพิ่มบทบาทพนักงานอัยการในการกลั่นกรองการออกหมาย ส่วนการสืบสวนสอบสวนควรกระจายให้ฝ่ายปกครอง หรือหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น กรมป่าไม้ กรมศุลกากร ไม่ต้องรวมศูนย์อยู่ที่ สตช.
“การพัฒนางานสอบสวนให้เป็นอิสระและมีการถ่วงดุลที่ดี โดยให้อัยการเข้ามาร่วมตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อช่วยถ่วงดุลและสอบสวน ถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปกระบวนการสอบสวนของไทย” นักวิชาการ นิด้า กล่าว และว่าจะต้องทำงานเป็นทีมระหว่างฝ่ายสอบสวนและนิติวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญต้องให้อัยการมีบทบาทในการตั้งข้อหากลั่นกรองคดี เพื่อนำเข้าสู่มาตรฐานสากล
ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวด้วยว่า ควรมีการปรับปรุงการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยกำหนดเพิ่มอายุผู้เป็นผู้พิพากษาจากเดิม 25 ปี เป็น 35 ปี เพื่อการมีประสบการณ์ทำงาน จะได้มีการพิจารณาที่มั่นคง นอกจากนี้ศาลชั้นต้นควรแสดงบทบาทในการไต่สวน แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยกล้า เพราะหวั่นจะโดนกล่าวหาว่าเข้าข้าง ทั้งที่ต้องยึดอยู่กับความจริง ที่สำคัญ ศาลสูงควรพิจารณาเฉพาะข้อกฎหมาย ไม่ใช้รวมข้อเท็จจริงด้วย
ขณะที่ศ.ดร.อุดม ทุมโฆสิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า กล่าวว่า การปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น โดยให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด มีสภาพลเมืองคอยตรวจสอบ สร้างอำนาจการถ่วงดุล แต่หากยังยืนยันจะมีระบบภูมิภาค ประเทศจะพิการเชิงโครงสร้างแบบนี้ต่อไป ฉะนั้นทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถปกครองตัวเองได้
“ไม่ควรดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ แต่ให้ดำเนินการเฉพาะจังหวัดที่มีความพร้อม อาทิ ภูเก็ต ระยอง ซึ่งมีรายได้มากจนเลี้ยงตัวเองได้” ศ.ดร.อุดม กล่าว และว่า สำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจต้องใช้ความรอบคอบมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
ศ.ดร.อุดม ยังกล่าวถึงสาเหตุรัฐบาลไม่ตอบรับนโยบายกระจายอำนาจด้วยว่า อาจมีความกังวลจะเสี่ยงต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่หากได้ศึกษาอย่างเข้าใจและละเอียดรอบคอบ เชื่อว่ารัฐบาลจะเห็นด้วย เพราะหากไม่เร่งดำเนินการ ประเทศจะต้องพบกับวิกฤต ฉะนั้นตอนนี้จึงไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว เพราะยิ่งรวมศูนย์อำนาจ ยิ่งอันตราย .
ภาพประกอบ:www.vcharkarn.com