เทปประชุมลับ! “หัสวุฒิ”เคลียร์ตุลาการ เดินหน้าดันกม.ศาลปกครอง
เทปประชุมลับ! เบื้องหลังเหตุผล “หัสวุฒิ-ผู้บริหารระดับสูง” เคลียร์ตุลาการ เดินหน้าดันแก้ไข พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ลั่นในฐานะประมุขศาลต้องจัดการให้เรียบร้อย – “วิชัย” แจงวิป สนช. ที่ประชุมใหญ่ฯอยู่ระยะสั้นไม่น่าเกิดความเสียหาย
ในการประชุมเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ที่สำนักงานศาลปกครอง เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารระดับสูง กับฝ่ายตุลาการศาลชั้นต้น ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2557 ที่ผ่านมานั้น
(อ่านประกอบ : หารือ กม.จัดตั้งศาลปค.ไร้บทสรุป “ตุลาการ”เดือด ปัดรับข้อเสนอ"หัสวุฒิ")
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ได้รับเทปเสียงในการประชุมดังกล่าวมา โดยในเทปเสียงนี้ นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด พูดชี้แจงในที่ประชุมเป็นคนแรก กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวที่ปรึกษาศาลปกครองสูงสุดมีความห่วงใยจากกรณีที่มีการเผยแพร่ทางสื่อมวลชน จึงควรที่จะชี้แจงให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และตุลาการศาลปกครองชั้นต้น ทั้งเจ้าหน้าที่และบุคลากรของศาลปกครองได้ทราบด้วย เนื่องจากหาไม่ได้มีการประชุมชี้แจงอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน และอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของศาลปกครองได้ และเพื่อที่จะเป็นการสื่อสารทางตรงด้วย
ในเทปเสียงดังกล่าว นายหัสวุฒิ กล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ดังกล่าว เพื่อจะพิจารณาว่า คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายใด จะต้องพิจารณาจากบทบัญญัติมาตรา 226 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ประกอบกับ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542 ด้วย และภายหลังที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สิ้นสุดลงแล้ว เมื่อพิจารณาเฉพาะบทบัญญัติใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ว่าด้วย ก.ศป. แล้ว ไม่ปรากฏว่า บทบัญญัติใดกำหนดองค์ประกอบของ ก.ศป. ว่า ประกอบด้วยใครบ้าง มีจำนวนเท่าใด ใครเป็นประธาน
“ปัญหาดังกล่าว ก.ศป. มีความเห็นเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ก.ศป. ยังคงดำรงอยู่ แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ก.ศป. นั้นสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแล้ว และมีการรับฟังความคิดเห็นจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุดในที่ประชุมใหญ่ ก็ยังมีความเห็นเป็นสองฝ่าย ต่อมาตุลาการศาลปกครองสูงสุด 2 ท่าน ที่เป็น ก.ศป. ได้ลาออกด้วย ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับความไม่แน่นอน และความไม่ชัดเจนในการคงอยู่ของ ก.ศป. จึงยังมีอยู่ เมื่อเกิดปัญหาทางกฎหมาย เกี่ยวกับความไม่แน่นอน และไม่ชัดเจนในความคงอยู่ของ ก.ศป. เช่นนี้” นายหัสวุฒิ กล่าว
นายหัสวุฒิ กล่าวอีกว่า ในฐานะที่เป็นประมุขของศาลปกครอง และมีหน้าที่รับผิดชอบให้งานของศาลปกครองเป็นไปโดยเรียบร้อย ตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ จำเป็นต้องหาข้อยุติทางกฎหมาย เพื่อให้งานของศาลปกครองดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลปกครองว่า มีกระบวนการแต่งตั้งโดยมิชอบ เนื่องจาก ก.ศป. ที่ให้ความรับผิดชอบ ไม่มีสถานเป็น ก.ศป. แล้ว ซึ่งหากมีข้อโต้แย้งเช่นนี้ ย่อมมีผลกระทบต่อคำพิพากษา คำสั่งของศาลปกครอง
“ประธานศาลปกครองสูงสุด ในฐานะที่เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ จำเป็นต้องตัดสินใจหาข้อยุติ เพื่อมิให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น ซึ่เงป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของประธานศาลปกครองสูงสุด มิใช่ปล่อยให้เกิดปัญหาสถานะของ ก.ศป. มีความไม่แน่นอนเช่นนี้ต่อไป จนเกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง ซึ่งจะทำให้การแก้ปัยหาเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น และจะมีผลกระทบต่อคำพิพากษา และคำสั่ง ตลอดจนความเชื่อมั่นที่มีต่อศาลปกครอง และการดำเนินงานของศาลปกครอง จึงสมควรเสนอร่างกฎหมาย เพื่อบรรจุองค์ประกอบ และจำนวนของ ก.ศป. คุณสมบัติ วิธีการคัดเลือก การพ้นจากตำแหน่ง และองค์ประชุมของ ก.ศป. ซึ่งมีหลักการ และสาระสำคัญเช่นเดียวกับที่บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไว้ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ และในทำนองเดียวกับที่บัญญัติในกรณีของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายศาลยุติธรรม พ.ศ.2543” นายหัสวุฒิ กล่าว
นายวิชัย ชื่นชมพูนุท รองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวด้วยว่า กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากคือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 สิ้นสุดลงในปี 2549 กับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สิ้นสุดลงในปี 2557 ทำไมในปี 2549 จึงไม่จำเป็นต้องวุ่นวายเกี่ยวกับโครงสร้างของ ก.ศป. แต่ทำไมปี 2557 จึงจำเป็นต้องแก้ไขประเด็นนี้นั้น โดยระบุว่า เหตุการณ์ปี 2549 กับปี 2557 เหมือนกันอยู่อย่างเดียวคือ การสิ้นสุดลงของรัฐธรรมนูญ แต่แตกต่างกันที่คนไม่ค่อยพูดถึงคือ ในขณะที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 สิ้นสุดลงในปี 2549 องค์ประกอบ ก.ศป. ทั้ง 13 คน คือ ประธานศาลปกครองสูงสุด 1 คน ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 6 คน ตุลาการศาลปกครองชั้นต้น 3 คน รวมถึงองค์ประกอบที่มาจากวุฒิสมาชิก 3 คน และคณะรัฐมนตรี 1 คน ยังอยู่กันครบถ้วน จึงไม่มีการยุ่งเกี่ยวหรือแตะต้องในส่วนนี้
“แต่บังเอิญประจวบเหมาะในปี 2557 ก่อนหรือวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 องค์ประกอบของ ก.ศป. ท่านที่มาจากวุฒิสมาชิก 2 คน และคณะรัฐมนตรี 1 คน ได้สิ้นสุดวาระลง และอยู่ระหว่างการเลือกตั้งและส่งมาเพื่อเป็นองค์ประกอบ ก.ศป. รัฐธรรมนูญก็สิ้นสุดลงเช่นกัน เท่าที่ทราบ เลขาธิการวุฒิสภาไม่ได้แจ้งว่า ที่ให้ส่ง ส.ว. เป็นตัวแทน 2 คนนั้น บัดนี้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง ไม่สามารถเลือกได้ อันนี้ถือเป็นหนังสือทักท้วงจากบุคคลภายนอก กับองค์ประกอบของ ก.ศป. ในขณะนั้น” นายวิชัย กล่าว
นายวิชัย กล่าวว่า ในปี 2557 องค์ประกอบไม่ครบจึงเกิดการทักท้วง เนื่องจากหลายฝ่ายระแวงสงสัยว่า จะเอาอย่างไรกันแน่ ประกอบกับทางฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็มีความเห็นว่า เพื่อให้เกิดความถูกต้องแน่นอน ก็ให้เสนอเป็น พ.ร.บ.กำหนดโครงสร้างของ ก.ศป. ไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542 ให้เรียบร้อย หากต่อไปมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ ก็ไม่จำเป็นต้องแก้ตามอีก แต่ที่เสนอไปนี่แค่เสนอโครงสร้างตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
“ได้พูดคุยกับทางวิป สนช. แล้วว่า ตุลาการศาลปกครองสูงสุดต้องป็นคนที่มีวุฒิภาวะ ซื่อสัตย์ สุจริต วินิจฉัยชี้ขาดความเป็นความตายของบ้านเมืองได้ ดังนั้นไว้วางใจแค่ระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงไม่มี ก.ศป. ก็ไม่น่าเกิดความเสียหาย และถ้าเกิดลงมติไปแล้ว ก.ศป. ที่ได้รับเลือกไม่พอใจ ก็สามารถทบทวนได้ ซึ่งในระยะเวลาอันสั้น คงยังไม่ถึงมีอะไรเสียหาย” นายวิชัย กล่าว
อ่านประกอบ :
"ฝ่ายบริหาร vs.ตุลาการ" ท่าทีหลังชี้แจงกม.จัดตั้งศาลปค.เดือดกว่าเก่า?
101 ตุลาการ ฮือต้านแก้ กม.ศาลปค.ยุบ ก.ศป.ลักไก่เสนอ สนช.
เปิดร่าง กม.ศาล ปค.ชนวน 101ตุลาการเดือด!! ฮือต้าน
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นายหัสวุฒิ วิฑิวิริยกุล จาก ASTVmanager