ผลวิจัยฯชี้ ป.ป.ช.มีอิสระทางการเมือง แต่ปราบโกง-ลงโทษล่าช้า
ผลวิจัย “ศ.เมธี” ชี้ ป.ป.ช. มีอิสระ ถูกแทรกแซงทางการเมืองได้ยาก แนะกฎหมายการทำงานกับ อสส. มีปัญหา เผยแนวทางการปราบปรามทุจริต-ลงโทษผู้กระทำผิดยังล่าช้า
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศ.ดร.เมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า เผยแพร่รายงานการวิจัย กรอบโครงสร้างทางนิติเศรษฐศาสตร์ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และการเปรียบเทียบกับองค์กรต่อต้านการทุจริตในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้
ผลวิจัยดังกล่าว ระบุว่า ประเด็นทางนิติเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับการทำงานของ ป.ป.ช. แบ่งไว้กว้าง 3 ด้าน หรือเรียกย่อ ๆ ว่า 3P ดังนี้ 1.การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของคนทุกระดับในด้านการต่อต้านการทุจริต (Promotion of Integrity) 2.การป้องกันการทุจริต (Prevention of Corruption) 3.การปราบปรามและลงโทษผู้กระทำความผิดในตำแหน่งหน้าที่หรือผู้ทุจริต (Punishment of Corruption) โดยตามแนวคิดยุทธศาสตร์ 3P นี้ พอจะประเมินได้ว่า ป.ป.ช. มีบทบาทที่ถูกต้องและเหมาะสมในยุทธศาสตร์ 2P แรก คือการปลูกจิตสำนึกในความซื่อสัตย์สุจริตและส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมกับองค์กรต่าง ๆ ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานศึกษาในทุกระดับชั้น และการสร้างเครือข่ายต่อต้านการทุจริตกับองค์กรภาคเอกชน และต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ยุทธศาสตร์สุดท้ายนั้น ป.ป.ช. อ่อนแอที่สุด เพราะมีผลงานด้านการปราบปรามที่ค่อนข้างล่าช้าและปริมาณไม่มากพอ
“ส่วนคุณสมบัติพิเศษของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ทำให้องค์กรแห่งนี้ทำงานตามหน้าที่ได้ดีพอสมควร และมีศักยภาพที่จะทำให้ได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอีกในอนาคตคือ ความเป็นอิสระขององค์กรทั้งด้านอุปสงค์ (Demand-Side Independence) และความเป็นอิสระด้านอุปทาน (Supply-Side Independence) โดยความเป็นอิสระด้านอุปสงค์หมายถึงผู้นั้นต้องไม่ถูกกดดันจากปัจจัยภายนอกให้ต้องทำอะไรบางอย่างขัดกับความรู้สึกหรือความต้องการที่แท้จริงของตน ส่วนความเป็นอิสระด้านอุปทานหมายถึงการปราศจากความจำเป็นต้องกระทำอะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดผลบางอย่างที่ไม่ใช่ผลที่ผู้กระทำนั้นเห็นด้วยหรือต้องการ” ผลวิจัยดังกล่าว ระบุ
ผลวิจัยดังกล่าว ระบุด้วยว่า ความเป็นอิสระทางการเมืองของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น อิทธิพลทางการเมืองอาจจะมีผลต่อการเลือกกรรมการ ป.ป.ช. ของวุฒิสมาชิก ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และการรับรองของวุฒิสมาชิกตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แต่เมื่อเลือกได้แล้ว และได้เข้าทำหน้าที่แล้วโอกาสที่ กรรมการ ป.ป.ช. จะถูกแทรกแซงทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา จะมีโอกาสเป็นได้ยาก
“ส่วนความเป็นอิสระทางกฎหมาย ส่วนแรกหมายถึงความสัมพันธ์ในทางกฎหมายระหว่าง ป.ป.ช. กับอัยการสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 80 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ที่ ป.ป.ช. ส่งสำนวนที่ได้มีการชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาเพื่อให้อัยการสูงสุดส่งฟ้องศาล เป็นความสัมพันธ์ที่มีปัญหา (Dysfunctional Relationship) ในช่วง 7 – 8 ปีที่ผ่านมา การตั้งข้อไม่สมบูรณ์ระหว่างอัยการสูงสุดกับ ป.ป.ช. ในคดีต่าง ๆ โดยเฉพาะคดีใหญ่ ๆ เช่น คดีรถและเรือดับเพลิง กทม. คดีที่ดิน Alpine คดีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX เป็นต้น จนทำให้ต้องเสียเวลาจัดการประชุมร่วม และการต้องฟ้องของ ป.ป.ช. มีให้เห็นกันมากขึ้น ส่วนหลังหมายถึงอำนาจและหน้าที่ต่าง ๆ ในทางกฎหมายของ ป.ป.ช. ซึ่งได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วในมาตราต่าง ๆ ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 แต่ก็คลุม ป.ป.ช. ให้อยู่ในกรอบการกระทำที่ต้องเป็นไปโดยถูกต้องและเป็นธรรมด้วย ในทางกฎหมายนั้น ป.ป.ช. สามารถถูกตรวจสอบได้ตลอดเวลา” ผลวิจัยดังกล่าว ระบุ
อ่านประกอบ : พลิกแฟ้มวิจัย “ศ.เมธี”เทียบแนวทางปราบทุจริตในเอเชีย-ป.ป.ช.
หมายเหตุ : ภาพประกอบ สำนักงาน ป.ป.ช. จาก news.tlcthai