นพ.เจตน์ หนุนเก็บภาษีที่ดินฯ คาดท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มกว่า 1 แสนล.
นพ.เจตน์ ชี้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะมาแทนภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการกระจายอำนาจการคลังสู่ท้องถิ่น คาดท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 1 แสนล้าน
วันที่ 14 กันยายน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โพสต์ข้อความทางเฟชบุคส่วนตัว ถึงนโยบายคณะรัฐมนตรี กรณีภาษีที่ดินและมรดก ที่แถลงในสภาว่า นับเป็นคำสัญญาประชาคมของรัฐบาลชุดนี้ที่จะต้องผลักดันให้ออกเป็นกฎหมาย อยู่ในนโยบายข้อที่ 6 หมวดการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
ข้อย่อย 6.10 ปรับปรุงวิธีจัดเก็บภาษีให้จัดเก็บได้อย่างครบถ้วน โดยปรับปรุงโครงสร้างภาษีให้คงอัตราภาษีเงินได้ไว้ในระดับปัจจุบัน ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล แต่ปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีทางด้านการค้าและขยายฐานการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ ซึ่งจะเก็บจากทรัพย์สิน เช่น ภาษีมรดก ภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยให้มีผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยให้น้อยที่สุด รวมทั้งปรับปรุงการลดหย่อนภาษีเงินได้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้มีรายได้น้อย และยกเลิกการยกเว้นภาษีประเภทที่เอื้อประโยชน์เฉพาะผู้ที่มีฐานะการเงินดี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น
นพ.เจตน์ กล่าวถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะมาแทนภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนมีการยกเว้นให้ผู้ครอบครองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ มีอัตราภาษีที่สูงถึง 12.5% มีปัญหาความซ้ำซ้อนกับฐานรายได้เพราะจัดเก็บจากรายได้ค่าเช่าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลอยู่แล้ว รวมถึงปัญหาความไม่มีมาตรฐานของการประเมินรายได้ค่าเช่า
"ส่วนภาษีบำรุงท้องที่มีปัญหาว่า ราคาประเมินล้าสมัย เพราะเป็นกฎหมายปี 2521 - 2524 จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำเพราะขยายฐานภาษีครอบคลุมที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ อัตราภาษีจะแตกต่างกันระหว่างที่ดินว่าง ที่ดินใช้ในการเกษตร อยู่อาศัย การใช้เชิงพาณิชย์ และยกเว้นไม่เก็บภาษีกรณีมูลค่าหรือปริมาณที่ดินไม่เกินกำหนดจึงช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โดยนำรายได้ส่งอปท.จึงเพิ่มการกระจายอำนาจการคลังสู่ท้องถิ่นด้วยเช่นกัน คาดว่าจะได้ีรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท"
สมาชิก สนช. กล่าวอีกว่า สำหรับภาษีมรดก เคยมีการจัดเก็บมาก่อนในปี 2476 - 2487 ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ปัจจุบันจัดเก็บในประเทศทางยุโรป ญี่ปุ่น บางรัฐในสหรัฐฯ แต่หลายประเทศก็เคยเก็บแล้วยกเลิกไป เช่นออสเตรเลีย แคนาดา สิงคโปร์ สวีเดน เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากในหลายประเทศ
"ฝ่ายที่เห็นด้วยมีเหตุผลว่า สอดคล้องกับหลักการคนรวยจ่ายมากคนจนจ่ายน้อย เป็นตัวบ่งชี้รายได้ที่แม่นยำกว่าการประเมินภาษีรายได้ประจำปี ป้องกันลูกหลานคนรวยไม่ให้ได้เปรียบคนอื่น เป็นความได้เปรียบที่ได้มาอย่างไม่ยุติธรรม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ มีการเสนอขั้นต่ำที่ 50 ล้านบาท เป็นการยกเว้นการเก็บภาษีมรดก สำหรับชนชั้นกลาง กระทบเฉพาะคนที่รวยมากๆ ซึ่งมีจำนวนน้อย ป้องกันคนที่ได้มรดกจำนวนมากไม่กระตือรือร้นในการทำงาน"
สำหรับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย นพ.เจตน์ กล่าวด้ววยว่า เป็นการทำโทษคนทำงาน ทำลายกระบวนการสะสมทุน ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เป็นความคิดว่าจะเก็บภาษีความร่ำรวยที่เกินปรกติ ซึ่งไม่ชัดเจน ยุ่งยากในทางปฏิบัติ ระบบเศรษฐกิจจะต้องปรับตัวตามภาษีนี้ อัตราแต่ละประเทศ ไม่เท่ากันจะมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนไปสู่ประเทศ ที่ไม่มีการจัดเก็บหรือเก็บในอัตราต่ำ อาจไม่ได้รายได้สูงอย่างที่คาดหวังจนต้องล้มเลิกไปในหลายประเทศ ซึ่งต้องถกเถียงกันอีกยาวนานและคงไม่ง่าย เพราะถ้าง่าย กฎหมายคงเกิดขึ้นมานานแล้ว
"ผมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพิจารณาออกกฎหมาย ทั้ง 2 ฉบับ"