เปลือยหัวใจ “ชัย ราชวัตร” ผมจะเลิกเขียนการ์ตูนแล้ว(ครับ)
“ชัย ราชวัตร” เรียนจบสายบัญชี แต่ชอบการเขียนการ์ตูน สนใจข่าวการเมืองมาตั้งแต่เด็ก ท้ายที่สุดก็เดินตามหัวใจ ลาออกจากงานนายแบงค์มาเขียนการ์ตูนการเมือง สร้างผลงานเป็นที่ยอมรับมากมาย
เขาบอกว่า “... เนื้อแท้แล้ว ผมไม่ใช่นักบัญชี ผมเป็นอาร์ทติสมากกว่า”
ที่สำคัญ“ชัย” ทำงานสื่อมากว่า 30 ปี เขียนการ์ตูนมานับชิ้นไม่ถ้วน เห็นการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยมาตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 จนถึง 22 พฤษภา 2557 เห็นทั้งด้านมืดและสว่างของรัฐบาลเผด็จการ และรัฐบาลประชาธิปไตย มาหลายยุค หลายสมัย
ทุกวันนี้ “ชัย ราชวัตร ในวัย 73 ปี ยังเข้าออฟฟิตไทยรัฐ เขียนการ์ตูนผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมินลง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐทุกวัน
เย็นย่ำสุดสัปดาห์ เขาเปิดใจให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา อย่างเป็นกันเอง โดยยอมรับว่า เหนื่อยและล้า จนอยากวางมือจากปลายปากกาเลิกเขียนการ์ตูนเต็มที
ส่วนว่า รีไทร์แล้วจะไปทำอะไร ที่ไหน ? ชัย ราชวัตร มีคำตอบ...
@ คุณเขียนการ์ตูนการเมืองมากี่ปีแล้วครับ
ช่วงชีวิตนักเขียนการ์ตูนของผมมี 2 ช่วง ช่วงแรกคือก่อน 14 ตุลาคม 2516 ตอนนั้นทำงานแบงค์เป็นอาชีพเป็นหลัก หลังเรียนจบบัญชีจากกรุงเทพการบัญชีวิทยาลัย แต่ก็เขียนการ์ตูนสมัครเล่นไปด้วยเพราะมีอารมณ์ร่วมกับการเมือง เห็นนักศึกษาออกมาเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย หนังสือเล่มแรกที่เขียนคือหนังสือพิมพ์มหาราษฎร์ ขณะนั้นเป็นแท็บลอยด์รายสัปดาห์
หลังจากนั้นไม่นานเดลินิวส์เห็นแววผมก็ถูกชวนไปเขียนการ์ตูน เขียนที่เดลินิวส์ไปด้วยทำงานแบงค์ไปด้วย จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6ตุลาคม 2519 มีการปฏิวัติ นักศึกษาหนีเข้าป่า ครูบาอาจารย์หนีไปต่างประเทศ นักหนังสือพิมพ์ส่วนหนึ่งก็หลบตัวไปบ้าง หนีลงใต้ดินบ้าง ส่วนผมตัดสินใจไปอเมริกา ช่วงนั้นเลยยุติบทบาท ไปอยู่อเมริกา 2 ปี ก่อนจะกลับมาเป็นนักเขียนการ์ตูนเต็มตัวบอกตัวเองไม่เอาแล้วงานแบงค์ แล้วก็เริ่มเขียนการ์ตูนชุดผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมินที่เดลินิวส์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แต่อยู่เดลินิวส์ได้ 3 เดือนก็เกิดปัญหาภายใน มีการวอล์คเอาท์ ผมก็ออกตามพรรคพวก ตอนนั้นคุณโรจ งามแม้น หรือ เปลว สีเงิน มีปัญหากับคุณประชา (เหตระกูล) ตอนนั้นอยู่ที่เดลินิวส์ด้วยกันทั้งหมด เปลว สีเงิน กับผมสนิทกันมาก กินเหล้าด้วยกันทุกคืน กับ ว. ณ เมืองลุง ด้วยอีกคน พอเปลว สีเงินลาออก ผมกับ ว. ณ เมืองลุง เห็นเพื่อนออกก็ออกตาม รุ่งขึ้นไทยรัฐก็ชวนมาอยู่ด้วย อยู่ไทยรัฐมาตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2522 จนถึงวันนี้
@ อยู่ไทยรัฐมายาวนาน
เขียนผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมินที่เดลินิวส์ปี 2521 จนออกจากเดลินิวส์ก็มาเขียนต่อที่ไทยรัฐ ปี 2522 ถึงวันนี้ก็ 35 ปี ที่เขียนการ์ตูนการเมืองมาตลอด จริงๆก็เขียนเรื่องที่เป็นข่าวในตอนนั้น ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แต่ก็เรียกกันรวมๆว่าการ์ตูนการเมือง เขียนมานับไม่ถ้วน เขียนทุกวัน 365 วันไม่มีวันหยุด แล้วก็เขียนให้แมกกาซีนด้วย
@ การ์ตูนแต่ละชิ้น แต่ละวัน ได้แรงบันดาลใจจากไหนครับ
ผมเป็นเด็กที่สนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็ก เป็นเด็กที่ค่อนข้างแตกต่างจากเพื่อนรุ่นเดียวกัน เรียนประถม อ่านหนังสือออกก็เริ่มอ่านสยามรัฐแล้ว ตอนเป็นเด็กพวกเพื่อนบ้านผู้ใหญ่ก็สนใจการเมือง เขาเอ็นดูผม เวลาไปฟังอภิปรายการเมือง หรือไฮปาร์คที่ไหน เขาก็จะลากผมไปด้วย ฟังไปฟังมาก็อิน
พอเริ่มอ่านหนังสือแตกก็อ่านสยามรัฐ อ่านคึกฤทธิ์ (ปราโมช) ติดตามอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ เพื่อนบ้านซื้อหนังสือพิมพ์มาก็อ่าน หรือไปอ่านตามร้านตัดผม เลยติดตามข่าวการเมืองตั้งแต่เด็ก ประกอบกับชอบเขียนรูป วาดรูปแต่เด็ก เลยเป็นสองสิ่งที่ผสมผสานกันขึ้นมาเป็นการเขียนการ์ตูนการเมือง
@ ไปฝึกวิชาเขียนการ์ตูนมาจากไหน
ไม่เชิงฝึกหรอก ผมก็เขียนไปเรื่อย ดูหนังมาก็กลับบ้านมาวาด ดูหนังทาร์ซานมาก็กลับมาวาดรูปทาร์ซาน ดูซุปเปอร์แมนมา ก็กลับมาวาดซุปเปอร์แมน (หัวเราะ)
@ นักเขียนการตูนสมัยใหม่วาดการ์ตูนด้วยเมาส์ปากกา คุณเขียนแบบไหนครับ
ผมยังอนาล็อกอยู่(หัวเราะ) ใช้ปากกาจิ้มหมึกเขียน เรียกว่าปากกาเขียนแผนที่ คือผมมีความรู้สึกว่าการเขียนการ์ตูนจากคอมพิวเตอร์สะดวกครับ แต่ว่าแง่คุณค่าตัวต้นฉบับจะไม่มี เขียนแล้วเก็บในคอม อยากได้ก็ปริ้นออกมา แต่การที่ผมเขียนบนแผ่นกระดาษ เขียนด้วยมือของผมมันเป็นออริจินัล มีแค่แผ่นเดียว แล้วแผ่นนี้มีคุณค่าทางศิลปะ เขียนผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมินที่เดลินิวส์ปี 2521 จนออกจากเดลินิวส์ก็มาเขียนต่อที่ไทยรัฐ ปี 2522 ถึงวันนี้ก็ 35 ปี
@ ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมินมักหักมุมด้วยมุกตลกเรียกรอยยิ้ม คุณตั้งใจให้เป็นแบบนั้น
ใช่ๆ สมัยก่อนผมชอบอ่านเรื่องสั้น ยุคคุณอาจินต์ (ปัญจพรรค์) งานเขียนเรื่องเหมืองแร่จะเป็นเรื่องสั้นแล้วมีหักมุมตอนจบ แล้วก็มีนักเขียนต่างประเทศซึ่งเขียนเรื่องสั้นอย่างโอ. เฮนรี่ มีคนไทยเอามาแปลเยอะ ผมก็ตามอ่านพวกนี้ แล้วก็รู้สึกสนุก สนุกกับการหักมุม แล้วก็อยากเขียนให้ได้แบบนั้น ให้คนอ่านเดาว่าตอนจบจะจบอย่างไร มีคนอ่านการ์ตูนผมส่วนหนึ่งบอกว่า เวลาอ่านการ์ตูนผมต้องเอามือปิดช่องสุดท้าย แล้วก็เดาว่าจะจบยังไง มันเป็นความสนุก ผมก็เลยใช้กลวิธีนี้มาเขียนการ์ตูน แต่ก็มีข้อเสียนะ บางทีเป็นกับดักตัวเอง หามุกตลกไม่ได้ บางวันก็แป้ก มีเรื่องที่จะเขียนเยอะเลยแต่หามุกตลกไม่ได้ จนต้องทิ้งเรื่องเดิม ไปหยิบเรื่องใหม่มาเขียน แล้วพยายามหามุกให้ได้ มันเขียนยากนะ มีประเด็นต้องล้อเลียน แต่ต้องมีมุกตลกด้วย
@ มีวิธีหามุกตลกอย่างไรไม่ให้แป้กครับ
ผมชอบอ่านเรื่องขำขัน มุกฝรั่ง ตลกฝรั่ง พอเริ่มอ่านภาษาอังกฤษแตก ก็เริ่มอ่านโจ๊กฝรั่ง มีประโยค 4-5 ประโยคเอง แต่ลงท้ายหักมุมด้วยตลก ผมชอบเรื่องแบบนี้ เจอหนังสือฝรั่งเกี่ยวกับโจ๊กแบบนี้ก็จะซื้อไว้ อ่านนานๆเข้าก็อิน อินกับการอ่านมุกประเภทนี้ แต่ก็ไม่มีทฤษฎีตายตัวนะว่าสร้างมุกหามุกอย่างนี้ทำไง มันเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ จากการอ่านเยอะๆ เวลาเจอเรื่องอะไรก็คิดเป็นมุกไปเรื่อย
@ เขียนการ์ตูนมาเกือบ40 ปี ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองมามากทั้งยุคทหาร ยุคประชาธิปไตย งานเขียนแต่ละยุคมีความแตกต่างอย่างไรบ้างไหม
แตกต่างครับ เพราะสภาพสังคมไทยพัฒนามาต่อเนื่อง การเมืองก็พัฒนา มีทั้งพัฒนาไปข้างหน้าและพัฒนาถอยหลัง ในสังคมแต่ละช่วงคนอ่านก็ไม่เหมือนกัน อย่างช่วง 14 ตุลา เป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยจากทหาร คนอ่านกับเรากว่า 90% คิดเหมือนเรา คือ เรียกร้องประชาธิปไตยจากทหาร จนมาถึงพฤษภาทมิฬปี 2535 แต่ช่วงหลังสังคมก็เปลี่ยนไป คำว่าประชาธิปไตยก็เปลี่ยนไปแล้วเหมือนกัน จนกระทั่งคนอ่านและคนเขียนก็สับสนแล้วว่าอะไรคือประชาธิปไตยจริงๆ กันแน่
หรือที่ผ่านมามีฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยไม่เอาทหาร แต่ขณะเดียวกันก็เอาประชาธิปไตยไปถวายอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเผด็จการพลเรือน ประชาธิปไตยที่ไปอยู่ที่คนๆเดียว รวมศูนย์ที่คนๆเดียวก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย ฉะนั้นการเขียนการ์ตูนก็ลำบากขึ้น เพราะคนอ่านแต่ละยุคไม่เหมือนกัน เพราะเราเองก็ไม่ยอมรับประชาธิปไตยที่มีการซื้อเสียง ใช้อำนาจมืด คนอ่านก็แตกเป็นหลายฝ่าย
@ ทำให้เขียนการ์ตูนยากขึ้น
ทำให้เราทำงานลำบาก แม้กระทั่งในโรงพิมพ์ไทยรัฐเองก็ต้องยอมรับว่ามีความเห็นแตกต่างกัน เถียงกันเรื่องประชาธิปไตยไม่มีวันจบ เพราะว่าตีความหรือนิยามประชาธิปไตยกันคนละอย่าง ก็เขียนลำบากขึ้น ต้องเขียนด้วยความระมัดระวัง เวลาเดียวกันศัตรูก็เพิ่มขึ้น ไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนเรารู้ว่าศัตรูอยู่ตรงไหน เดี๋ยวนี้เราไม่รู้ แต่เราคือเรา มีจุดยืนแน่นอนแต่ไหนแต่ไรมา สมัยก่อนเราเรียกว่าฝ่ายประชาธิปไตย แต่เดี๋ยวนี้ฝ่ายหนึ่งบอกว่าเราเป็นพวกอำมาตย์ พวกขวา พวกเผด็จการ
@ แล้วตอบคนเหล่านั้นไปอย่างไร
ไม่ตอบโต้ครับ เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าสังคมเปลี่ยนไปแล้ว จากก่อนนี้เราเป็นซ้าย แล้ววันหนึ่งเราก็มาเป็นขวา คือคนมาป้ายให้เราเป็นซ้ายบ้าง ขวาบ้าง ก็ตีความกันไป ทั้งที่เราคือเรา เราไม่เคยเปลี่ยน
@ ไม่เคยเปลี่ยนที่ว่าคืออะไร
ความถูกต้อง ผมยืนบนความถูกต้อง แต่ความถูกต้องของเราอีกฝ่ายกลับมองว่าไม่ถูกต้อง ความถูกต้องของอีกฝ่ายคือการด่าอำมาตย์ ด่าทหาร แต่เราไม่ได้นำเรื่องนั้นเป็นตัวตั้งในการเขียนการ์ตูน แต่นำข้อเท็จจริงมาเขียนว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรคือสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นเราไม่มายด์ว่าจะทหารหรือมาจากการเลือกตั้ง แต่อยู่ที่ใครทำให้ประชาชนมีความสุข ทำให้ประเทศชาติสงบ
@ ท้อแท้บ้างไหม คุณถูกมองว่าไม่เป็นกลาง
ไม่ๆ ผมภูมิใจ ถ้ายืนหยัดอยู่ได้ ไม่เปลี่ยนสีไม่เปลี่ยนข้าง ผมไม่ได้เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ผมยืนหยัดเป็นตัวผมมาตลอด แล้วถึงจุดหนึ่งเวลาพิสูจน์ตัวเองตลอดว่า ผมมีกลุ่มคนอ่านที่เหนียวแน่น เวลาเจอเหตุการณ์วิกฤต ผมก็จะมีกำลังใจ มีคนsupport ช่วงผมมีปัญหา ยิ่งลักษณ์ฟ้องผม ผมนึกไม่ถึงเลยว่าคนที่ไม่รู้จักกับผมโทรศัพท์มาหาให้กำลังใจ ช่วงผมถูกไล่ล่า เข้าบ้านไม่ได้ เพราะมีการตามไปข่มขู่ถึงบ้าน ก็มีคนช่วยให้ผมไปพักที่โน่นที่นี่ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด มีบุคคลที่เป็นที่รู้จักในสังคมให้กำลังใจ โดยที่ผมไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวมาให้กำลังใจผม นั่นเพราะผมพิสูจน์ตัวเองว่ามีจุดยืนที่ชัดเจน ผมเชื่อว่ามีคนที่ยืนอยู่ข้างผมเยอะคือคนที่ติดตามงานผมมาตลอด
@ คุณมองสังคมไทยวันนี้อย่างไรบ้าง จะปฏิรูปได้มากน้อยแค่ไหน
สังคมไทยยังล้าหลังเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา ให้นักการเมืองมาแก้ก็ยาก กลายเป็นว่าเราต้องมานั่งรออัศวินมาขาวมาแก้ปัญหาให้ การที่มารอนักการเมืองโอกาสก็ยิ่งน้อยลง เพราะนักการเมืองดีๆ เป็นแบบอย่างให้เห็นก็ไปไม่รอด มีแต่นักการเมืองฉวยโอกาส ก็ยังทำมองไม่เห็นทางออกของสังคม คนแล้วคนเล่าก็ผิดหวังมาเรื่อย จนกระทั่งวันนี้มาเป็นคนนี้ (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ผมก็ยังดูว่าใช่ของจริงหรือเปล่า ถ้าของจริงคนไทยก็มีหวัง ถ้าของปลอมก็จบ ทำไมทหารปฏิวัติทีนึงประชาชนก็เฮ ปฏิวัติอีกก็เฮ เพราะเอือมเต็มทีกับประชาธิปไตยแบบไทย ประชาธิปไตยต้องใช้เวลา ต้องมีคนจริงจังกับการให้ความรู้ประชาชน แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครทำตรงนี้
@ เขียนการ์ตูนยุคไหนสมัยไหนสนุกที่สุดครับ
สนุกต้องยุคบรรหารเป็นนายกฯ ยุคชวลิตเป็นนายกฯ มีเรื่องให้เขียนทุกวัน และไม่เคยถูกคุกคาม ยุคบรรหาร ยุคพลเอกชวลิต คือ แกให้สัมภาษณ์อะไรที่นำมาล้อเลียนได้ทุกวัน เพราะสมัยนั้นใครชวนผมไปเที่ยว ผมทำงานล่วงหน้าไว้เลย ทำแปบเดียวเสร็จ ส่งล่วงหน้าแล้วไปเที่ยวได้เลย แต่ยุคคุณชวนเขียนลำบาก คือ แกไม่มีอะไรให้ล้อ แล้วเวลามีอะไรให้ล้อ ก็ล้อแกไม่ลง เหมือนไปช่วยศัตรูคุณชวนให้กระทืบแก
@ แสดงว่ามีอารมณ์ร่วมทางการเมือง
อินครับอิน ใครอย่ามาโกหกเลยว่าสื่อเป็นกลาง ไม่มีหรอกสื่อที่เป็นกลาง สื่อต้องเลือกข้าง เลือกความถูกต้อง อย่ามาบอกว่าฉันเป็นกลาง ฉันไม่รู้ คนอ่านเขาอ่านเพราะเชื่อว่าสื่อมีข้อมูลมากกว่าเขา ถ้าสื่อไม่กล้าวิจารณ์ อันนี้ก็ไม่กล้าเขียน ต้องรักษาความเป็นกลาง ก็ไม่ต้องจ้างใครมาเป็นสื่อ ใครที่จบป4. เขียนหนังสือได้ ก็มาเป็นสื่อได้ มารักษาความเป็นกลาง สำหรับผมสื่อต้องกล้าชี้นำว่าอะไรถูกอะไรผิด มีความรับผิดชอบ ผมไม่เคยบอกว่าผมเป็นกลาง ผมเลือกข้างตลอดตั้งแต่ผมทำงานสื่อ ผมเลือกข้างความถูกต้อง
@ คิดเห็นอย่างไรกับสื่อทุกวันนี้
ทุกวันนี้ สื่อที่กล้ายืนหยัดกับความถูกต้อง กล้าพูดความจริงแทบนับนิ้วมือได้ ทุกวันนี้สื่อกลายเป็นอาชีพหนึ่ง เป็นทางผ่าน บางคนมาทำพักหนึ่ง พอรู้จักคนเยอะเข้าก็กระโดดออกไปทำธุรกิจ โดยอาศัยสื่อเป็นสปริงบอร์ด บ้างก็ไปรับจ้างทำประชาสัมพันธ์ให้องค์กรธุรกิจ บางคนก็ไปทำประชาสัมพันธ์ให้กับนักการเมือง เป็นImage makerให้กับนักการเมืองเยอะเลย ผลประโยชน์ก็เยอะ
สมัยก่อนสื่อรุ่นเก่าๆ แค่เขาเลี้ยงข้าวมื้อนึงถือเป็นเรื่องใหญ่แล้ว แต่เดี๋ยวนี้ผลประโยชน์มากมาย สมัยก่อนการทำหนังสือพิมพ์ง่ายมาก นักเขียนรวบรวมเงินกันได้ ก็ตั้งหนังสือพิมพ์ได้แล้ว แต่ทุกวันนี้เป็นธุรกิจที่ลงทุนมหาศาล กลายเป็นธุรกิจใหญ่ไม่ค่อยเสี่ยงกับเรื่องอุดมการณ์ ไม่ต้องพูดถึงแล้ว เป็นเรื่องของธุรกิจไปแล้ว คนที่อยากทำสื่อก็อยากทำในแง่ธุรกิจ สื่อจะไม่เงินมาลงทุนเสี่ยงกับอุดมการณ์
@ คุณอยู่กับหนังสือพิมพ์มายาวนาน คิดอย่างไรกับคำว่าหนังสือพิมพ์กำลังจะตาย
อาจจะไม่ตาย แต่จะฝ่อลงเรื่อยๆ ก็เริ่มอยู่ยากขึ้น จึงต้องหันตัวเองมาให้ทันเทคโนโลยี ทำออนไลน์ ทำทีวี เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ทุกวันนี้ก็เริ่มแล้ว ทุกฉบับยอดขายเริ่มตก กลายเป็นยุคออนไลน์ เร็วกว่า มี Breaking News มีข่าวใหม่ทั้งวัน หนังสือพิมพ์รอข่าวใหม่ก็ต้องพรุ่งนี้เช้า มันตกยุคไปแล้ว อาชีพแบบผม วันหนึ่งก็จะหมดยุคของมัน ต้องเปลี่ยนตัวเองต้องก้าวทันเทคโนโลยี เขาทำทีวี กันแล้ว
@ ต้องไปทำทีวีหรือเปล่าครับ
ไม่ครับ(ยิ้ม) ผมคงจะเลิกแล้ว เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่เขาจะคิดกันแล้ว
@ คนอย่างชัย ราชวัตร คิดจะเกษียณตัวเองหรือวางปากกาบ้างไหม
ผมคิดอยู่ทุกวัน ถึงเวลาต้องวางมือแล้ว เป็นเรื่องของคนรุ่นต่อไปที่จะมาทำแล้ว อยู่วงการนี้มา 40 ปี มันเหนื่อยล้าเต็มทีแล้ว อยากพักผ่อน อาชีพที่ผมเป็นไม่อยากหรอกแต่มันก็เหนื่อย ผมทำอาชีพนี้มาตลอดชีวิต ตอนนี้มีอย่างเดียวคือวางมือ แล้วใช้ชีวิตบั้นปลายที่อยากทำ อยากพักผ่อน อยากไปท่องเที่ยว ปีนี้ผมอายุ 73 ปี จริงๆ ควรจะวางมือตั้งนานแล้ว
@ เป็นเพราะอะไร
มันทำงานให้ดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว สมัยก่อนเราทำงาน ทำงานวันนี้ตั้งเป้าทำให้ดี พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ แข่งกับตัวเองมาตลอด แต่วันนี้ถึงจุดที่ทำให้ดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว ผมรู้ตัวเอง วันนี้เขียนอย่างนี้ พรุ่งนี้ก็พยายามทำให้ได้อย่างนี้ คือมีจุดลิมิตของแต่ละคน เหมือนนักวิ่ง วิ่งสปีดได้แค่นี้ก็พยายามวิ่งให้ได้เท่านี้ แล้วก็รู้สึกล้าแล้ว ชักไม่ไหว เลิกดีกว่า แต่ไม่ได้ปุบปับวางปากกาเลย ก็ค่อยๆลงจากเวที
@ อยากทำอะไรอีกไหมครับ ถ้าเลิกเขียนการ์ตูนแล้ว
อาชีพอย่างเรา เรารัก เราชอบ มีโอกาสไปทำอย่างอื่นตั้งเยอะ แต่ไม่รอด เพราะไม่ชอบ พอไม่ชอบแล้วก็ค่อนข้างอาร์ทติส อะไรที่ไม่ชอบ ไม่ทำ ก็ไม่ฝืน ทำงานแบงค์อยู่ดีๆก็ลาออกมาเขียนการ์ตูน เคยลองทำธุกิจ ทำบริษัท ก็ไปไม่รอด เพราะผมเป็นคนไม่จู้จี้เรื่องเงินทอ หรือผลประโยชน์เล็กๆน้อยๆ ฉะนั้นผมจะHandleธุรกิจไม่ได้ ก็รู้ตัวว่าโดยเนื้อแท้แล้ว ผมไม่ใช่นักบัญชี ผมเป็นอาร์ทติสมากกว่า ทุกวันนี้ก็ยังเขียนการ์ตูนให้ไทยรัฐ หน้า 5 ทุกวัน ส่วนข้างนอกก็น้อยลง พยายามหยุด ผมเตรียมตัวรีไทร์แล้ว ที่ผ่านมาชีวิตผมทั้งชีวิตทุ่มเทให้การ์ตูนอย่างเดียว ไม่มีธุรกิจอื่น มันเป็นอาชีพทีเรารัก เราชอบ มีความสุขกับมัน เลี้ยงชีพอยู่กับมัน ทุกอย่างที่มีทุกวันนี้ก็ได้มาจากการเขียนการ์ตูน รวมทั้งได้พบเพื่อนดีๆ ได้รู้จักคนดีๆ
@ มองวงการนักเขียนการ์ตูนอย่างไรบ้าง
พัฒนาไปเยอะ มีนักเขียนดีๆ ไอเดียดีๆเยอะ แต่ความคิดอีกเรื่องหนึ่งนะ ก็มีบางส่วนยังลมพัดลมเพ ไม่ได้ติดตามข่าวสารจริงจัง เขียนไปตามกระแสสังคม แต่ก็มีเก่งๆ หลายคน ทั้งฝีมือการ์ตูนดีและวิธีการนำเสนอดี ต่างจากสมัยก่อน ที่มีนักเขียนการ์ตูนน้อย เดี๋ยวนี้เวทีเปิดกว้างเยอะ
@ มีวิธีการทำงานให้ได้งานแต่ละชิ้นอย่างไร
แต่ละคนก็มีวิธีแตกต่างกัน อย่างผมก็อ่านข่าวเอง คิดเอง เขียนเอง หรืออย่างคุณบัญชา คามิน เขามีทีมคิด ทีมเขียน งานก็ออกมาคุณภาพดี ประณีตมาก ไอเดียก็ดี
@ คำถามสุดท้ายครับ ชัย ราชวัตร ชื่อนี้ได้มาอย่างไร
ตอนผมเริ่มเขียนการ์ตูน ผมอยู่ที่ย่านราชวัตร สมัยอยู่มหาราษฎร์ก็ใช้ชื่อจริงเขียนชื่อชัยเฉยๆ แต่ช่วงนั้นเป็นปี1972 ก็เป็น ชัย 72 พอปีใหม่ ก็เป็นชัย 73พอจะใช้นามสกุลจริงก็ยาวเกินไป อยู่ราชวัตร เลยเป็นชัย ราชวัตร เป็นกระแสในสมัยก่อนว่าใครจะตั้งนามนามปากกาก็จะเอาชื่อท้องถิ่นมาตั้ง สมัยก่อนก็จะมี โก้ บางกอก นุ้ย บางขุนเทียน ผมอยู่ราชวัตร ก็เลยติดปากกันมา บางครั้งหลายคนคิดว่าราชวัตรคือนามสกุลจริง ก็ถามกันมาว่าคุณราชวัตรสายไหน ผมก็ตอบว่า เปล่า เป็นนามปากกาเฉยๆ ครับ(หัวเราะ)