สานต่อพูดคุย-ไม่ล้ม5ข้อบีอาร์เอ็น
ความคืบหน้ากรณี นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เดินทางไปมาเลเซียเพื่อแจ้งความจำนงของฝ่ายไทย ในการสานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐนั้น
นายถวิล ให้สัมภาษณ์ "สำนักข่าวเนชั่น" ว่า ได้พบปะหารือกับ ดาโต๊ะ มูฮัมหมัด ทาจูดีน อับดุลวาฮับ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซีย เมื่อวันที่ 10 ก.ย.57 ที่ประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ฝ่ายมาเลเซียแสดงความเข้าใจถึงกระแสข่าวในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของผู้อำนวยความสะดวก และการแต่งตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยว่า ฝ่ายไทยยังให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และยังไม่มีการแต่งตั้งหัวหน้าคณะพูดคุย
ดังนั้นเพื่อป้องกันความสับสน ในเบื้องต้นจึงกำหนดให้มีช่องทางการติดต่อระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ โดยใช้ช่องทางของ สมช.ทั้งสองฝ่ายเพียงช่องทางเดียว จนกว่ากระบวนการพูดคุยจะเริ่มต้น
"ทั้งสองฝ่ายจะเสนอรายละเอียดการหารือให้ผู้นำรัฐบาลทั้งสองประเทศทราบในโอกาสแรก เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับการพบปะหารือของนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้" นายถวิล กล่าว
มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีแผนเดินทางเยือนประเทศเมียนมาร์ ในฐานะประธานอาเซียน เป็นประเทศแรกหลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจะเดินทางเยือนมาเลเซียเป็นประเทศที่ 2 เพราะมีความห่วงใยต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลมาเลเซีย โดยกำหนดการคร่าวๆ ในการเดินทางเยือนประเทศมาเลเซีย คาดว่าจะมีขึ้นในเดือน ต.ค.57
ด้านแหล่งข่าวจากกองทัพ เผยว่า คณะของนายถวิลถือว่าเป็นส่วนประสานล่วงหน้า ก่อนที่นายกฯประยุทธ์จะเดินทางไปเยือนมาเลเซีย โดยคณะของนายถวิลมีรองเลขาธิการ สมช. เจ้าหน้าที่ สมช. เจ้าหน้าที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมคณะไปด้วย
ทั้งนี้ ประเด็นที่คณะของนายถวิลแจ้งกับทางการมาเลเซีย คือ ยืนยันจะเดินหน้าการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐต่อไป โดยถือเป็นการสานต่อการพูดคุยที่เริ่มต้นสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว (มี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสมช.เป็นหัวหน้าคณะ) ไม่ใช่เริ่มนับหนึ่งใหม่ และไม่ล้มเลิกข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่บีอาร์เอ็นเคยเสนอ แต่อาจพิจารณานำบางข้อมาหารือกัน ไม่ใช่ทุกข้อ รวมทั้งขอให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเป็นคนพิจารณาตัวผู้อำนวยความสะดวกด้วยว่าสมควรเป็นผู้ใด
อนึ่ง ข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นที่เสนอโดยคณะพูดคุยกับรัฐบาลไทยที่นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ เมื่อปีที่แล้ว ประกอบด้วย 1.ให้เป็นการพูดคุยระหว่างบีอาร์เอ็น ในฐานะตัวแทนประชาชนปาตานี กับรัฐบาลไทย 2.ให้มาเลเซียมีสถานะเป็นคนกลางในการเจรจา ไม่ใช่แค่ผู้อำนวยความสะดวก 3.ให้ดึงตัวแทนชาติอาเซียน องค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) และองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน 4.ขอให้ยอมรับสิทธิความเป็นเจ้าของของประชาชนปาตานีต่อดินแดนปาตานี และ 5.ขอให้ปล่อยนักโทษการเมืองและปลดหมายจับนักรบปาตานี
ส่วนผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยคนเดิม คือ ดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ซึ่งมีข่าวว่าฝ่ายไทยขอให้ทางการมาเลเซียเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกใหม่
--------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
1 แกะรอยเอกสาร 38 หน้า BRN อ้างขอ "ปกครองพิเศษใต้ รธน.ไทย"
2 แกะรอยเอกสาร BRN (ตอน 2) จัดทีมพูดคุยใหม่ - ยันไม่แยกดินแดน
3 แกะรอยเอกสาร BRN (ตอน 3) เปิดสารพัดเงื่อนไขแลกหยุดยิง