คำชี้แจง“สุรพล นิติไกรพจน์”ปมเนื้อหาบรรยายงานวิจัย ป.ป.ช.
คำชี้แจง “ดร.สุรพล นิติไกรพจน์” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปมเนื้อหาบรรยายงานวิจัย ป.ป.ช. ของ “ศ.เมธี ครองแก้ว” หลังถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนหลายสำนัก
หมายเหตุ www.isranews.org : เป็นคำชี้แจงของ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีมีสื่อมวลชนหลายสำนักรายงานข่าวผิดพลาดหลายประเด็น ในเนื้อหาบรรยายงานวิจัยของ ศ.เมธี ครองแก้ว ที่สำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา
----
13 กันยายน 2557
เรียน ผู้อำนวยการสำนักข่าวอิศรา
ตามที่สำนักข่าวอิศราได้เสนอข่าวให้ความเห็นทางวิชาการของผมในการวิจารณ์งานวิจัยของ ศ.เมธี ครองแก้ว ที่สำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ในเรื่องกรอบโครงสร้างทางนิติเศรษฐศาสตร์ของคณะกรรมการปปช. นั้น การรายงานข่าวดังกล่าวยังมีข้อผิดพลาดและขาดการนำเสนอประเด็นที่เป็นหลัก แต่ได้ตัดทอนข้อความที่ผมได้เสนอจนอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนสำหรับผู้ที่ได้อ่านรายงานข่าวดังกล่าวได้ ผมจึงขอเรียนชี้แจงในเฉพาะประเด็นหลักที่มีการรายงานข่าวผิดพลาดคลาดเคลื่อนดังนี้
1. ในประเด็นที่มีการเสนอข่าวว่าผมชี้ว่ามาตรฐานการทำคดีอาญาของ ป.ป.ช. ต่ำกว่าฝ่ายอัยการนั้น ผมนำเสนอรายงานความเห็นเพื่อวิจารณ์ประเด็นที่ปรากฎในงานวิจัยนี้ว่า ควรจะให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ฟ้องคดีอาญาที่ตนสอบสวนและทั้งหมดด้วยตัวเองหรือไม่ โดยชี้ว่าในงานวิจัยนี้เองได้อธิบายปัญหาของระบบบริหารสำนักงาน ป.ป.ช. อยู่แล้วว่า ป.ป.ช.ไปใช้ระเบียบข้อบังคับของราชการในการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด ในด้านบริหารงานบุคคลก็ไปเดินตามหลักเกณฑ์ของข้าราชการพลเรือนปกติ ทั้งที่ในเรื่องการบรรจุแต่งตั้ง การพัฒนาบุคลากรหรือเรื่องค่าตอบแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลในการทำงาน โดยเฉพาะในทางกฎหมายนั้น ป.ป.ช. ต้องสูญเสียคนที่มีความรู้ความสามารถให้หน่วยงานภาครัฐอื่นที่มีค่าตอบแทนสูงกว่าโดยตลอด และไม่เพียงแต่ศาลและอัยการเท่านั้น ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีระบบค่าตอบแทนที่ดีกว่าสำนักงาน ป.ป.ช.
ดังนั้นเมื่อดูเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งเรื่องปริมาณงาน ความเชียวชาญในเรื่องการฟ้องคดีอาญา และเงื่อนไขเกี่ยวกับข้อจำกัดของบุคลากรแล้ว ในวงการกฎหมายทั่วไปและในความเห็นของผมเห็นว่ายังไม่สมควรให้ ป.ป.ช. ฟ้องคดีอาญาโดยตรงได้เองโดยไม่ผ่านการพิจารณาของอัยการก่อน เพราะมาตรฐานการดำเนินการในทางคดีอาญาของอัยการ น่าจะสูงกว่ามาตรฐานในเรื่องนี้ของ ป.ป.ช. อันเป็นการพิจารณาโดยทั่วไป ไม่ได้เจาะจงไปที่คดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ
2. ในประเด็นที่เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ ผมได้วิจารณ์งานวิจัยนี้ โดยเสนอความเห็นว่า รายได้ของบุคลากรภาครัฐที่ตำกว่าที่ควรจะเป็น เป็นปัญหาหนึ่งของการทุจริตคอรัปชั่น โดยยกกรณีตัวอย่างว่า หากนายกรัฐมนตรีมีเงินเดือนเพียง 120,000 บาท รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดีและข้าราชการชั้นผู้น้อยก็จะได้ค่าตอบแทนรายเดือนลดหลั่นลงไปจากอัตราดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ในระบบของเรายอมให้บุคลากรภาครัฐที่อยู่ภายใต้การดูแลหรือรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีมีเงินเดือนสูงกว่านายกรัฐมนตรีได้ เช่นกรณี กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย หรือกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทย จำกัด ซึ่งมีเงินเดือนเดือนละกว่าล้านบาท หรือเกือบล้านบาท
ปรากฎการณ์เช่นนี้สะท้อนความคิดที่ว่าตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งในฝ่ายข้าราชการประจำต่างๆ นี้ มีช่องทางหาผลประโยชน์ต่างๆ นอกจากเงินเดือนได้อีก จึงไม่ต้องจ่ายเงินเดือนให้มากนัก ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดพลาด เมื่อมองจากมุมในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น จึงควรจะมีการปรับค่าตอบแทนผ่านการเมืองให้สูงขึ้นไปให้มากเหมือนกับประเทศที่ยอมให้คนทำงานในภาครัฐมีค่าตอบแทนสูง และควบคุมตรวจสอบลงโทษผู้ที่ทุจริตอย่างรุนแรง
เมื่อค่าตอบแทนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสูงขึ้น ก็สามารถขยับปรับค่าตอบแทนบุคคลากรภาครัฐอื่นๆ ให้สูงขึ้นอย่างมีเหตุมีผลและเป็นสัดส่วน ซึ่งจะเป็นการป้องกันปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในเชิงระบบของคนจำนวนมากในภาครัฐไปได้ แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้การทุจริตคอรัปชั่นหมดไปเลยก็ตาม แต่จะทำให้การทุจริตเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำกันเป็นปกติตามที่เสนอไว้ในงานวิจัยนี้ลดน้อยลงไปได้
จีงเรียนชี้แจงมาเพื่อทราบ และโปรดนำเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวอิศราเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย
ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์
หมายเหตุ : ภาพประกอบ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ จาก prachachat