“สุรพล”ชี้คดีข้าว“ปู” อัยการฯแย้งเบา แนะเพิ่มเงินเดือนป้องทุจริตได้
“สุรพล” ชี้มาตรฐานดำเนินคดีอาญาอัยการ สูงกว่า ป.ป.ช. แต่ไม่ได้หมายถึงคดีใดคดีหนึ่ง หลังพิจารณาจากความชำนาญ-ข้อจำกัดด้านบุคลากร ไม่เห็นด้วยให้ ป.ป.ช. ฟ้องคดีเอง เผยคดีจำนำข้าว "ยิ่งลักษณ์" อัยการโต้แย้งค่อนข้างเบา แนะปรับเงินเดือนภาครัฐสูงขึ้นป้องคนทุจริต - "เดือนเด่น" จี้ ป.ป.ช. ต้องเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนรับรู้มากกว่านี้ เพื่อเป็นเกราะป้องกันถูกแทรกแซงทางการเมือง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวผ่านงาน “ความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐศาสตร์กับกฎหมายในการต่อต้านการทุจริตในประเทศไทย” ถึงการทำหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า เมื่อพิจารณาจากผลวิจัยกรอบโครงสร้างทางนิติเศรษฐศาสตร์ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และการเปรียบเทียบกับองค์กรต่อต้านการทุจริตในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย ดร.เมธี ครองแก้ว อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า
นายสุรพล กล่าวว่า ในงานวิจัยชิ้นนี้ได้อธฺบายปัญหาของระบบบริหารสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า ไปใช้ระเบียบข้อบังคับของราชการในการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด ในด้านบริหารบุคคลก็ไปเดินตามหลักเกณฑ์ของข้าราชการพลเรือนปกติ ทั้งที่ในเรื่องการบรรจุแต่งตั้ง การพัฒนาบุคลากรหรือเรื่องค่าตอบแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลในการทำงาน โดยเฉพาะในทางกฎหมายนั้น ป.ป.ช. ต้องสูญเสียคนที่มีความรู้ความสามารถให้หน่วยงานภาครัฐอื่นที่มีค่าตอบแทนสูงกว่าโดยตลอด และไม่เพียงแต่ศาลและอัยการเท่านั้น ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีระบบค่าตอบแทนที่ดีกว่าสำนักงาน ป.ป.ช.
"ดังนั้นเมื่อดูเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งเรื่องปริมาณงาน ความเชี่ยวชาญในเรื่องการฟ้องคดีอาญา และเงื่อนไขเกี่ยวกับข้อจำกัดของบุคลากรแล้ว ในวงการกฎหมายทั่วไป และในความเห็นของผมเห็นว่า ยังไม่สมควรให้ ป.ป.ช. ฟ้องคดีอาญาโดยตรงได้เอง โดยไม่ผ่านการพิจารณาของอัยการก่อน เพราะมาตรฐานการดำเนินการในทางคดีอาญาของอัยการ น่าจะสูงกว่ามาตรฐานในเรื่องนี้ของ ป.ป.ช. อันเป็นการพิจารณาโดยหลักทั่วไป ไม่ได้เจาะจงไปที่คดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ" นายสุรพล กล่าว
นายสุรพล กล่าวว่า ส่วนตัวกรณีข้อโต้แย้งของอัยการเรื่องสำนวนสอบสวนในคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในโครงการไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวนั้น เห็นว่าข้อโต้แย้งค่อนข้างเบา เมื่อเทียบกับข้อโต้แย้งอื่น ๆ และคงจะพูดได้เท่านี้ ไม่อย่างนั้นจะเป็นการก้าวล่วงในคดีดังกล่าว
นายสุรพล กล่าวด้วยว่า ในงานวิจัยชิ้นนี้ ตนเสนอว่า รายได้ของบุคลากรภาครัฐต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งของการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยยกกรณีตัวอย่างว่า หากนายกรัฐมนตรีมีเงินเดือนเพียง 1.2 แสนบาท รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี และข้าราชการชั้นผู้น้อย ก็จะได้ค่าตอบแทนรายเดือนลดหลั่นลงไปจากอัตราดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ในระบบของเรายอมให้บุคลากรภาครัฐที่อยู่ภายใต้การดูแลหรือรับผิดชอบของนายกฯมีเงินเดือนสูงกว่านายกฯได้ เช่น กรณีกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทบางแห่ง หรือรัฐวิสาหกิจบางแห่ง มีเงินเดือนเดือนละกว่าล้านบาท หรือเกือบล้านบาท
"ปรากฎการณ์เช่นนี้สะท้อนความคิดที่ว่าตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งในฝ่ายข้าราชการประจำต่าง ๆ นี้ มีช่องทางหาผลประโยชน์ต่าง ๆ นอกจากเงินเดือนได้อีก จึงไม่ต้องจ่ายเงินเดือนให้มากนัก ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดพลาด" นายสุรพล กล่าว
นายสุรพล กล่าวว่า เมื่อมองจากมุมในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น จึงควรจะมีการปรับค่าตอบแทนผ่านการเมืองให้สูงขึ้นไปให้มากเหมือนกับประเทศที่คนยอมให้คนทำงานในภาครัฐมีค่าตอบแทนสูง และควบคุมตรวจสอบลงโทษผู้ที่ทุจริตอย่างรุนแรง เมื่อค่าตอบแทนนายกฯและรัฐมนตรีสูงขึ้น ก็สามารถขยับปรับค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐอื่น ๆ ให้สูงขึ้นอย่างมีเหตุผลและเป็นสัดส่วน
“เรื่องนี้จะเป็นการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นในเชิงระบบของคนจำนวนมากในภาครัฐไปได้ แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นหมดไปเลยก็ตาม แต่จะทำให้การทุจริตเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำกันเป็นปกติที่เสนอไปไว้ในงานวิจัยชิ้นนี้ลดน้อยลงไปได้” นายสุรพล กล่าว
(อ่านประกอบ : คำชี้แจง“สุรพล นิติไกรพจน์”ปมเนื้อหาบรรยายงานวิจัย ป.ป.ช.)
ขณะที่ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ช. จำเป็นต้องมีอิสระทางการเงิน แต่คิดว่าองค์กรทุกอย่าง โดยเฉพาะองค์กรที่อิสระมาก ๆ และแย่มาก ๆ จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ดีขึ้นเสมอไป ฉะนั้นคิดแต่ว่าโยนเงินให้ก็ไม่มีประโยชน์ หากเราขาดการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะเรามองด้านเดียวคือให้เงินและอำนาจอย่างเดียว
“ป.ป.ช. ก็มีกลไกถ่วงดุลเยอะในปัจจุบัน ทั้ง ส.ส.-ส.ว. ถอดถอน ฟ้องศาลฎีกาฯ หรือศาลยุติธรรมก็ตรวจสอบได้ ซึ่งก็เห็นว่ามีอยู่ตามกฎหมาย แต่คิดว่าเรื่องของงานที่พูดถึงยุทธศาสตร์ของ ป.ป.ช. ที่จะวางน้ำหนักอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเน้นการปราบปรามมาก จนไม่ค่อยป้องกันหรือไม่ และความสำเร็จของ ป.ป.ช. ขึ้นอยู่กับความสำเร็จด้านการเงิน หรือการบริหารอย่างเดียวหรือไม่ คิดว่าอยู่ที่การสร้างความเชื่อถือขององค์กรมากกว่า” ดร.เดือนเด่น กล่าว
ดร.เดือนเด่น กล่าวอีกว่า ที่สำคัญคือ ป.ป.ช. จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนให้มากขึ้น เพราะการเปิดเผยข้อมูลจะเป็นเกราะป้องกันการถูกแทรกแซงทางการเมืองได้ นอกจากนี้ยังเป็นไปไม่ได้ที่จะนำองค์กรเดียวมาตรวจสอบการทุจริต ถือว่าเป็นดีไซน์ที่ผิด รวมไปถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณก็ทำได้แค่นี้ โอกาสถูกจับในการทุจริตก็ยังน้อย ดังนั้นสิ่งที่ที่สุดคือประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน ต้องคอยจับตาดูด้วย
“ป.ป.ช. ต้องให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธาณชน รวมไปถึงต้องออกแบบการต้านทุจริตคอร์รัปชั่นใหม่ ไม่ใช่รวมศูนย์อยู่เพียงอค์กรเดียว อาจให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ช่วยเป็นหูเป็นตาให้ก็ได้ ส่วนในเรื่องงบประมาณก็เห็นด้วยถ้าใช้งบพอเพียง และมีค่าตอบแทนเหมาะสม” ดร.เดือนเด่น กล่าว
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก นายสุรพล นิติไกรพจน์ จาก oja.go.th