คพคส.ถกพัฒนา “กองทุนสุขภาพหลัก” ไม่รวม 3 กองทุนไว้ที่ สปสช.
คณะกรรมการพัฒนาการเงินการคลังด้านสุขภาพ เสนอตั้งกลไกชาติร่างชุดสิทธิประโยชน์หลัก 3 กองทุน ดัน “ผู้จัดการสุขภาพประจำครอบครัว” รมว.สธ.ยืนยันประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษา ถือว่ามีศักดิ์ศรี-เพิ่มคุณภาพบริการ
คณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ (คพคส.) จัดประชุมระดมสมองและรับฟังความคิดเห็นต่อภาพที่พึงประสงค์การพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ โดยที่ประชุมเห็นตรงกันว่าควรมีกลไกระดับชาติเพื่อดำเนินการให้ทุกกองทุนสุขภาพมีชุดสิทธิประโยชน์หลัก เหมือนกัน และอัตราสนับสนุนค่าบริการสุขภาพที่บริการอย่างเดียวกันควรเท่ากัน (ใช้วิธีรักษาเหมือนกัน กองทุนควรจ่ายอัตราเท่ากัน) แต่สามารถปรับได้ตามสภาพความจำเป็นและเหมาะสม โดยไม่ขึ้นกับศักยภาพทางการเงินของผู้รับบริการหรือกองทุน
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นที่แตกต่างใน 2 ประเด็น คือ 1.เห็นควรให้ 3 กองทุนสุขภาพ แยกส่วนบริหารเพื่อให้เกิดกลไกการแข่งขัน (กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการข้าราชการ)
2.ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รับผิดชอบบริหารทั้ง 3 กองทุน เฉพาะชุดสิทธิประโยชน์หลัก ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่เหนือกว่าสิทธิประโยชน์หลักให้แต่ละกองทุนบริหารจัดการเอง ซึ่งท้ายที่สุดที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นชอบแนวทางแรก
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นด้วยว่าควรมีผู้จัดการสุขภาพประจำครอบครัว ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสุขภาพ แต่ต้องผ่านการอบรมเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการหลักในเรื่องปฐมภูมิแก่ครัวครัวและจัดให้สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพในทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทำงานมุ่งเน้นที่ประชาชนเป็นหลักและต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันระบบต้องยืดหยุ่น ไม่ถูกกำหนดด้วยขอบเขตทางภูมิประเทศและเขตการปกครองที่จำกัดจนเกินไป
ด้านนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า การร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นการคืนศักดิ์ศรีให้กับผู้รับบริการและเพิ่มคุณภาพให้กับการให้บริการ ส่วนจะเก็บเพิ่มเท่าใดนั้นขณะนี้มีรายละเอียดอยู่แล้ว ทั้งนี้ต้องยอมรับร่วมกันว่าบางนโยบายถ้ารัฐบาลให้ฟรีจะไม่มีความหมาย .
ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1269264398&grpid=no&catid=19